2 ทีม ม.ศิลปากร – มจพ. คว้ารางวัล สุดยอดนักออกแบบสินค้าท่องเที่ยวฯ จากกว่า 170 ทีม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานประกาศผล “สุดยอดนักออกแบบสินค้าท่องเที่ยวชุมชน” Thailand Local Tourism Design Awards 2017 ในโครงการ Village Festival พร้อมโชว์ผลงานของผู้ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย ที่สร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ที่ท้าทายจากวัสดุของชุมชน ผสมผสานงานดีไซน์ร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าหลงใหล” ในงาน “Village Festival มหกรรมสินค้าท่องเที่ยวชุมชน ชิค..ชิม..ชิลล์”

สุดยอดนักออกแบบ สินค้าท่องเที่ยวชุมชน

ผลตอบรับที่ดีเกินคาด

นางสาวยุพา ปานรอด ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “ภาพร่วมการจัดการประกวดในครั้งนี้แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด จากจำนวนผลงานที่ส่งเข้ามาร่วมกว่า 170 ทีมจากทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มนักศึกษา นักคิด นักออกแบบ นักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นต้น โดยตลอดระยะเวลาของโครงการ ททท.ได้มีการจัดกิจกรรมเวิร์คช้อป อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาต่อยอดสินค้าจากวัสดุชุมชุนใน 8 แอ่งท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักออกแบบมืออาชีพในอนาคต เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน และสอดคล้องกับแนวคิดการต่อยอดธุรกิจ ตามแผนนโยบายไทยแลนด์ 4.0”

นอกจากนี้ การประกวด Thailand Local Tourism Design Awards 2017 ในปีนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการออกแบบ และผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์ ร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ อ.ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC, คุณอุบลวรรณ สุขภารังสี เจ้าของแบรนด์ PROUD, คุณรัตติกร วุฒิกร นักออกแบบของเล่นเพื่อชุมชน และตัวแทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ทีม “กกโฮ่ง” คว้าแชมป์

โดยทีมที่คว้าแชมป์ “สุดยอดนักออกแบบสินค้าท่องเที่ยวชุมชน” Thailand Local Tourism Design Awards 2017 ในปีนี้ ได้แก่ ทีม “กกโฮ่ง” ประกอบด้วย อารยา วิริยะชัยพร, กัณฐมาศ มีศิริ, กานต์สิรี เกตกะโกมล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากผลงานชื่อ “กกโฮ่ง” อุปกรณ์สำหรับน้องหมา ออกแบบจากผลิตภัณฑ์สื่อกก ชุมชนบ้านซุ้มขี้เหล็ก จ.พิษณุโลก พ่วงรางวัล popular vote อีกหนึ่งรางวัล

ทีม “เดอะรีเจ้นท์”

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม “เดอะรีเจ้นท์” โดย สมพร สินเจริญโภคัย, ชาณิดา ทวีศิลป์, สุคนธมาศ ดิษฐอุดม, ศักติยา ชนะสิทธิ์, ณฤชา หลิมสมบูรณ์ และ เจตริน ชูประสูตร ศิษย์เก่าสาขาการออกแบบเซรามิค คณะศิลปกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จากผลงานชื่อ “หลง ลาย กา” ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากเครื่องเคลือบดินเผา ชุมชนบ้านเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ทีม “ปะการัง ปาเต๊ะ”

และรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 70,000 บาท ได้แก่ ทีม “ปะการัง ปาเต๊ะ” จากผลงานชื่อ “ปะการังปาเต๊ะ”ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากผ้าปาเต๊ะ ชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ของ “อารียา บุญช่วยแล้ว” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยทั้งหมดจะได้รับถ้วยรางวัล และประกาศนียบัตร รวมมูลค่ของรางวัลทั้งสิ้นกว่า 2,000,000 บาท

แรงบันดาลใจ

“อารยา วิริยะชัยพร” ตัวแทนทีม “กกโฮ่ง” เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการส่งผลงานเข้าประกวดว่า ตนและเพื่อนเรียนการออกแบบอยู่แล้วจึงอยากหาประสบการณ์ด้านการออกแบบ นำสิ่งที่เรียนมาสร้างชิ้นงานที่จับต้องได้และใช้งานได้จริง และยังได้ช่วยชุมชนพัฒนาต่อยอดสินค้าท่องเที่ยวของชุมชนให้มีและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเลือกชุมชนบ้านซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นชุมชนที่ทำเสื่อกก และผลิตภัณฑ์จากกก เช่น กระเป๋า ที่รองจาน ยังไม่มีสินค้าตัวใหม่ๆ และจากการศึกษาคุณสมบัติของกกพบว่ากกเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทำความสะอาดง่าย และเสื่อกกที่ชาวบ้านทอมีลายให้เลือกมากมายน่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ ในที่สุดก็เลือกอุปกรณ์ของใช้สำหรับน้องหมา

“เลือกอุปกรณ์สำหรับน้องหมา เพราะทุกคนในทีมเป็นคนที่รักน้องหมาและเลี้ยงน้องหมากันอยู่แล้วและสังเกตว่ามีคนเลี้ยงสุนัขกันเยอะและเจ้าของจะดูแลสุนัขของตัวเองอย่างดี ทำให้อุปกรณ์ของใช้สำหรับสุนัขขายดี แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกผ้า หนัง หรืออุปกรณ์อื่นซึ่งหนัก และทำความสะอาดยาก แต่อุปกรณ์ของใช้น้องหมาที่ทำจากเสื่อกก น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี เช็ดถูทำความสะอาดง่าย และเสื่อกกที่ชุมชนทำขายก็มีหลากสีหลายลายให้เลือก สามารถนำมาออกแบบผลิตสินค้าได้หลากสีหลายแบบและมีสินค้าให้เลือกครบเซ็ต ไม่ว่าจะเป็นเบาะนอน กระเป๋าใส่น้องหมา ปลอกคอ ชุดจูงทุกชิ้นนอกจากดีไซน์ที่เก๋ไก๋สวยงามแล้วยังทนทานใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า”

อุปสรรคในการทำงาน

“อารยา” บอกว่า อุปสรรคในการทำงานคือ การหาร้านตัดเย็บ เนื่องจากร้านที่ตัดเย็บอุปกรณ์สุนัขทั่วไปใช้วัสดุที่ทำจากผ้าซึ่งตัดเย็บง่าย งานตัดเย็บเสื่อกกจะยากกว่างานตัดเย็บธรรมดา เพราะแตกหักง่ายต้องใช้เวลาในการตัดเย็บ ยากสุดคือชุดจูงสุนัข แต่ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยและวิทยากรจาก ททท.ในที่สุดก็ได้ร้านตัดเย็บที่ฝีมือดี ทำให้งานออกมาประณีต สวยงาม พูดได้ว่าเป็นผลงานที่เทเลอร์เมทจริงๆ คือ เป็นงานที่ดีไซน์ที่แปลกใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และทุกคนก็ทุ่มเททำงานกันหนักมาก

มากกว่ารางวัลคือ ประสบการณ์

ภูมิใจที่ผลงานได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ1 แต่ที่มากกว่ารางวัลคือ ประสบการณ์ ได้ลงมือทำงานจริงๆ เป็นงานออกแบบที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชน ทำให้สินค้าขายได้และมีรายได้เพิ่มขึ้น “อารยา”บอกว่า ตอนนี้ตนและเพื่อนเตรียมเปิดเพจและอินสตาแกรมเป็นหน้าร้านสำหรับลงตัวอย่างสินค้า และผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าต้องการ คาดว่าจะเริ่มได้หลังปีใหม่ หากธุรกิจไปได้ดี มีออร์เดอร์เข้ามามากๆ จะช่วยให้ชุมชนบ้านซุ้มขี้เหล็กที่ทำสื่อกกมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น

“หลง ลาย กา”

“สมพร สินเจริญโภคัย” ตัวแทนทีม “เดอะรีเจนท์” เจ้าของผลงาน “หลง ลาย กา” เปิดเผยว่า ดีใจที่ ททท.จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือและมีไอเดียใหม่ๆ ซึ่งตนและเพื่อนทำงานด้านออกแบบเซรามิคอยู่แล้ว จึงอยากหาประสบการณ์งานออกแบบใหม่ๆกับชุมชนที่มีฝีมือด้านงานหัตถศิลป์ โดยเฉพาะงานออกแบบที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนถึงวิถีชุมชนซึ่งคอนเซปต์การประกวดตรงกับที่ทุกคนในทีมสนใจ โดยเลือกชุมชนบ้านเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการทำเครื่องเคลือบดินเผามาหลายร้อยปี แต่ถูกทำลายสูญหายไป ต่อมา“ลุงทัน ธิจิตตัง” ซึ่งเป็นปราชด้านงานหัตถศิลป์ของบ้านเวียงกาหลงร่วมคนในชุมชนพลิกฟื้นงานเครื่องเคลือบดินเผาของบ้านเวียงกาหลงขึ้นมาใหม่

“จากที่เราได้ลงพื้นที่ ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ “ลุงทัน”และคนในชุมชน ทำให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาของบ้านเวียงกาหลงมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ต่างจากที่อื่นคือ ใช้ดินในพื้นถิ่นซึ่งเป็นดินธรรมชาติจากปล่องภูเขาไฟซึ่งเป็นดินที่มี น้ำหนักเบา มีความเหนียวและยืดหยุ่น สามารถปั้นหรือขึ้นรูปชิ้นงานได้ง่าย ทำให้ชิ้นงานละเอียด ประณีต แต่สินค้าที่ชุมชนผลิตยังไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นพวกแก้วน้ำ แก้วกาแฟ เซ็ตชา ซึ่งหลังจากที่แชร์ไอเดียกัน “ลุงทัน”และชุมชนอยากให้มีสินค้าใหม่ๆที่ยังคงเอกลักษณ์ของงานเครื่องเคลือบดินเผาแบบดั้งเดิมของเวียงกาหลงไว้ จึงออกแบบเป็นชุดเครื่องประดับเครื่องเคลือบดินเผาภายใต้คอนเซปต์ “กลิ่นอายธรรมชาติ ผสานวัฒนธรรมที่น่าหลงใหล”

“สมพร” บอกว่าจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นงานเครื่องประดับจากเครื่องเคลือบดินเผาผสมผสานกับวัสดุที่เป็นเครื่องเงินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการตลาด โดดเด่นด้วยการดีไซน์ที่ผสมผสานงานออกแบบสมัยใหม่เข้ากับงานหัตถศิลป์ดั้งเดิมโดย งานทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน กำไล ต่างหู และปิ่นปักผม ประดับตกแต่งเป็นลวดลายดอกกาหลง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเวียงกาหลงที่มาจากตำนานแม่กาขาวเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์การแต่งกายของชาวล้านนาที่นิยมแต่งกายด้วยชุดเครื่องประดับ โดยมีแบบให้เลือกตามกลุ่มอายุ และไลฟ์สไตล์ของผู้สวมใส่ทั้งกลุ่มอนุรักษ์และร่วมสมัย และลูกค้าสามารถซื้อแยกชิ้นได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งเซ็ต เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด

“ภูมิใจที่ได้ร่วมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมพัฒนาต่อยอดงานเครื่องเคลือบดินเผาของชุมชนให้มีตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ลายดอกกาหลงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเวียงกาหลงที่ปรากฎอยู่บนเครื่องประดับทุกชิ้นยังเป็นสัญลักษณ์ถ่ายทอดวัฒนธรรมและตำนานของเวียงกาหลงให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ผมและทุกคนในทีมก็ได้ความรู้และประสบการณ์มากมายจากชุมชนที่สามารถไปพัฒนาต่อยอดงานออกแบบและการทำธุรกิจออกแบบงานเซรามิคที่ทำอยู่ อนาคตอยากมีแบรนด์ของตนเองในสไตล์ร่วมสมัยอาจจะเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ตกแต่ง เครื่องใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ยังไม่มีในตลาด” สมพร กล่าว

“ปะการังปาเต๊ะ”

ด้าน “อารียา บุญช่วยแล้ว ” เจ้าของผลงาน “ปะการังปาเต๊ะ” บอกเล่าถึง แรงบันดาลใจในการร่วมประกวดสุดยอดนักออกแบบสินค้าชุมชนฯครั้งนี้ว่า อยากเห็นงานออกแบบของตัวเองเป็นงานที่สามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถสร้างมูลค่าให้สินค้าของชุมชนได้จริงไม่ใช่งานออกแบบที่สวยหรูอยู่บนกระดาษแต่ไม่สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าที่ขายได้จริง และยังได้ความรู้ด้านการตลาด ต้นทุนการผลิต ราคา กำไร รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าและยังช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมูลค่าสามารถขายได้และมีรายได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

“อารียา” เปิดเผยถึงการออกแบบผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นงานออกแบบที่เกิดจากความคิดที่อยากจะให้นักท่องเที่ยวตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเล เพราะพบว่านักท่องเที่ยวเมื่อไปเที่ยวทะเลจะแอบเก็บปะการัง ซากหอยทะเลกลับไปเป็นของที่ระลึก จึงอยากจะทำของใช้ที่สามารถใช้ประโยชน์และซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกได้ จึงออกแบบเป็นกระเป๋าสะพายสำหรับผู้หญิง กระเป๋าใส่เหรียญ พวงกุญแจรูปหอย โดยงานทุกชิ้นทำจากผ้าปาเต๊ะจากชุมชนบ้านถ้ำเสือ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นชุมชนที่ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ เช่น กระเป๋า เสื้อ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวด้านฝีมือการเพ้นท์ผ้าที่ประณีตสวยงาม แต่การออกแบบลายผ้าและสีที่ใช้จะเป็นสีที่สดใส ไม่มีการคุมโทนสีเพื่อให้สินค้าดูเด่น ซึ่งการคุมสีและเลือกโทนสีที่เหมาะสมกลมกลืนจะได้ลายและโทนสีที่แปลกใหม่ ทันสมัย ทำให้สินค้าดูดีมีราคา ขายได้ง่ายขึ้น ซึ่งงานออกแบบกระเป๋าปะการังปาเต๊ะเป็นงานที่ใช้โทนสีธรรมชาติของน้ำทะเลที่ออกเข้มตามสีน้ำทะเลฝั่งอันดามัน ตกแต่งลายผ้าเป็นลายปะการัง และรูปทรงหอยที่ทำจากผ้าปาเต๊ะวัตถุดิบจากท้องถิ่น ทำให้งานออกมาสวย และทันสมัย

“การได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบและผลิตชิ้นงานร่วมกับชุมชน ทำให้ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์เยอะมาก อย่างการเขียนลายผ้าด้วยเส้นยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในชุมชนซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเขียนลายผ้าที่ชุมชนนำมาใช้ พร้อมกับได้รับคำแนะนำจากวิทยากรและชุมชนในการออกแบบรูปทรง เพราะผ้าปาเต๊ะเนื้อจะบางทำให้ขึ้นรูปกระเป๋ายาก ไม่อยู่ทรง ต้องเพิ่มหนังพีวีซีเพื่อให้กระเป๋าอยู่ทรง สวยงาม คิดว่ามีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดผลงานร่วมกับชุมชนต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การผลิตเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด จึงอยากขอบคุณ ททท.ที่จัดโครงการดีๆ ให้โอกาสนักออกแบบรุ่นใหม่อย่างพวกเราได้นำเสนอผลงานที่สามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในตลาดได้จริงซึ่งเป็นความฝันของนักออกแบบรุ่นใหม่ทุกคน” อารียา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง