คิดเห็นอย่างไรกับ การแต่งชุดนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยต่างๆ

เป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมารณรงค์ให้ยกเลิกการแต่งกายชุดนิสิต ผ่านโครงการ “รณรงค์ยกเลิก การบังคับ แต่งชุดนิสิต” มีผู้สนับสนุนมากกว่า 1,500 คน โดยให้เหตุผลว่า การแต่งกายเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้จำเป็นต้องบังคับกัน

การแต่งชุดนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยต่างๆ

คลิป เห็นด้วยหรือไม่ ให้ยกเลิกการใส่ชุดนิสิต นักศึกษา ไปเรียน!!

ควรแต่งชุดนิสิตนักศึกษา หรือไม่?

การแต่งชุดนิสิตนักศึกษา เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด เพราะแต่ละฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่าควรใส่ เพราะเป็นสิ่งที่บ่งบอกการเป็นปัญญาชน มีการศึกษา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีสัญลักษณ์เฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่บนชุดนักศึกษาอีกฝ่ายหนึ่งมองว่า การแต่งชุดนักศึกษา เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น จะใส่หรือไม่ใส่ก็ไม่มีผลกับการเรียนหรือบ่งบอกว่าคนๆ นั้นเป็นคนไม่ดี รวมถึงเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของบุคคล

มาตรการลงโทษของจุฬาฯ

จากประการศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการรณรงค์การแต่งกายตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด ประจำปีการศึกษา 2558 มีบทลงโทษโดยการตัดคะแนนความประพฤติ มีเกณฑ์ดังนี้

จากบทลงโทษ มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ไม่เห็นด้วย กับการไม่แต่งชุดนิสิตเพียง 6 ครั้ง มีบทลงโทษคือพ้นสภาพนิสิต จึงเกิดเป็นประเด็นและคำถามว่า การไม่แต่งชุดนิสิต คือการไม่สมควรเรียนที่จุฬาฯ ใช่หรือไม่? โดยเหล่านิสิตที่เห็นด้วยได้ลงชื่อเข้าร่วมรณรงค์ และให้เหตุผล พร้อมทั้งตั้งคำถามของการแต่งชุดนิสิต ในเว็บไซต์ change.org

สิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (ขอบคุณข้อมูลจาก focusthailand.org)

การมองว่า การแต่งกาย เป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะแต่งกายอย่างไรก็ได้ เพราะการแต่งกายไม่ได่บ่งบอกถึงความสามารถ การศึกษา หรือคุณงามความดี แต่จิตใจและการกระทำต่างหากที่บ่งบอกถึงตัวตนของบุคคล เช่นเดียวกันกับการแต่งชุดนักศึกษา ที่ไม่ได้บ่งบอกถึงการเรียน ความตั้งใจเรียนหรือเกรดเฉลี่ยของนักศึกษา

แต่ถ้าตัดเรื่องของสิทธิมนุษยชนออกไป การแต่งชุดนิสิตนักศึกษา ก็ถือเป็นการแต่งกายที่บ่งบอกถึงสถานะหรือบทบาทในปัจจุบัน ว่ากำลังศึกษาอยู่ในสถาบันใด และด้วยหน้าที่ของการเป็นนักศึกษา จึงควรปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างวินัย และความรับผิดชอบอีกรูปแบบหนึ่ง

แฟชั่น ทำชุดนักศึกษาเปลี่ยน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแต่งชุดนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะแฟชั่นการแต่งกายที่ผ่านเข้ามาในแต่ละยุคสมัย เมื่อแฟชั่นเข้ามามีบทบาทกับชุดนิสิตนักศึกษา ทำให้ชุดที่ดูสุภาพ เรียบร้อย กลายเป็นชุดที่ไม่เรียบร้อย ผิดระเบียบ เช่น กระโปรงสั้น เสื้อรัดติ้ว เป็นต้น ทำให้ท่านอาจารย์ประจำสถาบัน อาจมีการว่ากล่าวตักเตือน หรือทำโทษ ทำให้นิสิตบางกลุ่มไม่พอใจ

ประเด็นดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้ว ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อาจารย์ได้ทำโทษนิสิตที่แต่งกายไม่ถูกระเบียบ โดยการไม่ให้เข้าเรียนหรือไม่ให้เข้าสอบ ทำให้นักศึกษาไม่พอใจ จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วการกระทำของอาจารย์ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ซึ่งเขียนไว้ว่า “การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

จากข้อความ หมายถึง อาจารย์สามารถลงโทษนิสิตที่แต่งกายผิดระเบียบได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการศึกษา ซึ่งก็คือการไม่ให้เข้าเรียนหรือสอบ แต่สามารถลงโทษทางวินัยได้ เช่น วิ่งรอบสนาม หรือทำความความดี เป็นต้น

มธ. อนุญาตแต่งชุดไปรเวท เข้าห้องเรียนได้

เมื่อปี พ.ศ.2559 มีประเด็นการแชร์ภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งชุดไปรเวท นั่งเรียนอยู่ในห้องเรียน พร้อมทั้งข้อความ “การเรียนที่มธ. แสดงให้เห็นแล้วว่า การแต่งชุดนักศึกษา ไม่ได้มีผลการการตั้งใจเรียน การรับรู้ หรือเกรดเฉลี่ย” ซึ่งมีคนแชร์ภาพและข้อความนี้มากกว่า 10,000 คน ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ต้องแต่งชุดนิสิตเข้าห้องเรียนได้ด้วยหรือ?

ทั้งนี้ จากข้อบังคับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อ 13 เขียนไว้ว่า ให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบนักศึกษา เมื่อมีพิธีการ การสอบ หรือการปฏิบัติงานในห้องทดลอง แต่ในโอกาสทั่วไปให้นักศึกษาแต่งกายสุภาพ หมายถึง ในการเข้าห้องเรียนในแต่ละวัน นักศึกษาสามารถใส่ชุดไปรเวทมาเข้าเรียนได้ หรือจะแต่งชุดนักศึกษามาก็ได้เช่นกัน แต่ในช่วงที่มีพิธีการหรือเข้าห้องสอบ นักศึกษาจะต้องแต่งกายชุดนักศึกษาถูกระเบียบ

การแต่งชุดนิสิต = การแบ่งชนชั้น

จากความคิดเห็นของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2560 ที่ว่า การแต่งชุดนิสิต เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งชนชั้นระหว่างนักศึกษาแต่ละคณะ เช่น ในการเรียนห้องเรียนใหญ่ที่มีหลายคณะ ถ้าบางคณะเคร่งเรื่องแต่งกาย แต่บางคณะไม่เคร่ง จะทำให้เกิดความคิดที่ว่า คณะนี้โชคดีที่ไม่เคร่งครัด คณะนั้นโชคร้ายน่าสงสาร หรือบางคนที่ใส่ชุดนิสิตตลอด อาจจะคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและเหนือกว่าผู้อื่น

การบังคับให้แต่งชุดนิสิต เมื่อมีคำว่า “บังคับ” ล้วนแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียด จึงควรยกเลิกกฎ ยกเลิกการแบ่งชนชั้น ใครอยากแต่งก็แต่ง ใครไม่อยากแต่งก็ไม่ต้องแต่ง ควรเคารพในเสรีภาพซึ่งกันและกัน

การจะยุติปัญหานี้ อาจจะต้องใช้วิธีหันหน้าพูดคุยกัน เพื่อหาจุดตรงกลางระหว่าง 2 ฝ่าย เพราะไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิด  ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนความคิดของตน เพียงแค่มองคนละมุมมองเท่านั้น

แล้วเพื่อนๆ ล่ะ คิดอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง ควรแต่งหรือไม่ควรแต่งชุดนักศึกษา….

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก m.posttoday.com, livinginthailand.compantip.comfocusthailand.orgsa.chula.ac.thoknation.nationtv.tv, pinterest.com, @Red_Pussy

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง