หัวร้อนจนได้เรื่อง ! อาชีพใหม่ นักแคสเตอร์เกมมาแรง “ซี ซิลเฟเลีย”

ซี-ธนพงศ์ ศรีสวัสดิ์ หรือ “ซี ซิลเฟเลีย” แคสเตอร์รุ่นใหม่ เกม LEAGUE OF LEGENDS ที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ ค้นพบงานที่รักตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ถือเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน ต่อยอดเพื่อการพัฒนาตัวเองต่อไปในการอนาคต

แคสเตอร์เกม “ซี ซิลเฟเลีย”

INSPIRATION

จากความชอบในการเล่นเกม นำมาสู่การเลือกเรียนที่วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี ในหลักสูตรการออกแบบดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเรียนรู้ด้านการทำสื่อแนวใหม่ ทั้งการครีเอทีฟดีไซน์ ทำ 3D ทำภาพยนตร์ พร้อมๆ กับการที่ได้มีโอกาสเข้าสู่อาชีพการเป็นแคสเตอร์เกมหน้าใหม่ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

HOW TO WORK

จุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการเกมเมอร์

“มันเริ่มจากชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก อย่างตอนนั้นมีเกมมาริโอ้ ที่มันมีการเล่นนอกกรอบออกไปจากเกมมาตรฐานเดิมๆ ก็เลยรู้สึกว่าเกมมันช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ชีวิตเรา แล้วช่วงแรกเคยได้มีโอกาสแคสเกมในยูทูป เริ่มจากไปทำทีมให้เกมหนึ่ง แล้วในทีมนั้นเป็นแคสเตอร์กันหมด เพื่อนก็เลยอยากให้เราลองไปทำแชนแนลบ้าง ทำไปทำมาก็สนุก เหมือนปกติเราเล่นแข่งกับตัวเอง แต่พอได้มาเป็นแคสเกมปุ๊บ มันเป็นการแข่งกับตัวเองแล้วก็คุยกับคนอื่นไปด้วยพร้อมกัน เลยเป็นจุดเริ่มต้นได้ลองทำ จนตอนนี้ได้โอกาสจากทาง GARENA ให้มาเป็นแคสเตอร์เต็มตัวในเกม LEAGUE OF LEGENDS และมีชื่อในวงการเกมที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “ซี ซิลเฟเลีย”

เรียนรู้การเป็นแคสเตอร์เกมมืออาชีพ

“ตอนแรกที่เริ่มแคสเกมแรก พูดน้อยมาก แล้วเกมก็เป็นเกมที่ไม่เคยเล่นมาก่อนด้วย แต่พอเริ่มทำไปสักพัก เราเริ่มรู้ว่าการแคสเกมไม่ใช่แค่เล่นให้คนอื่นดู แต่มันคือการเล่นแล้วสื่อสารให้คนดูเข้าใจไปด้วยว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ตรงนี้มันดียังไง สนุกตรงไหน มันคือการพากษ์เกม เหมือนพากษ์มวย พากษ์บอล ซึ่งพอมาแคสเกมเต็มตัวมันก็ค่อนข้างต้องเรียนรู้เหตุการณ์สดเยอะ หลักๆ ก็คือมันจะมีการพากษ์สามอย่าง ที่สตูดิโอห้องเล็ก แล้วก็งานแข่งข้างนอก ที่เจอปัญหาสุดน่าจะเป็นไซส์งานข้างนอกที่ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อย อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตหลุด งานล่าช้า เราก็ต้องพยายามดึงความสนใจของคนมาที่ตัวเรา ดึงเวลาให้ทีมงานแก้ปัญหากันไปก่อน”

สไตล์ของความเป็น “ซี ซิลเฟเลีย”

“ผมคิดว่า “แคสเตอร์” เหมือนฟันเฟืองอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนวงการเกมต่อไป เหมือนวงการบอลจะขาดนักพากษ์บอลไม่ได้ วงการเกมก็เช่นกัน บางทีคนดูเขาก็อยากดู แต่ไม่เข้าใจว่าเกมนี้เกิดอะไรขึ้น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะทำให้เขาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งสไตล์ของผมจะเน้นอารมณ์ร่วมมากกว่า พยายามวิเคราะห์ให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น บางครั้งก็ใส่มุกตลกเข้าไป ให้คนดูไม่เบื่อ เพราะเกมบางเกมก็ไม่ได้สนุกตลอดเวลา มันจะมีช่วงน่าเบื่อของเกมด้วย เราก็ต้องหาอะไรมาพูดเพื่อให้คนไม่เบื่อ”

การเรียนในวิทยาลัยที่ได้นำมาใช้ในการทำงาน

“สิ่งที่ได้จากวิทยาลัยจริงๆ คงเป็นเรื่องของความรู้ที่ได้เรียน บุคลิกภาพและการเข้าสังคม มหาวิทยาลัยเป็นที่แรกๆ ที่ให้ประสบการณ์กับเรา ทำให้เรานำไปปรับใช้ในการทำงานข้างนอกร่วมกับคนอื่นได้ นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของโปรดักชั่น อย่างการเซ็ทกล้อง หรือการเซ็ทกราฟิกที่เราเรียนมา ก็ช่วยเสริมให้เราเข้าใจการทำงานได้ดีขึ้น”

THINKING TO CAMPUS

“ฝากถึงน้องๆ ถ้าเกิดรักชอบในด้านนี้ แนะนำว่าอย่ายอมแพ้ ชีวิตคนเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา มันต้องมีล้มบ้าง ลุกบ้าง อย่างมีคำพูดของแคสเตอร์ที่เราจะใช้กัน “เราทำงานที่เรารัก กับเกมที่เรารัก” แค่นั้น คือการพากษ์เกม ไม่ใช่จะดีไปหมด มีหลายช่วงที่คนเข้ามาว่าพากษ์ไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ เราก็ต้องเข้าใจว่าคนเราไม่ได้ชอบกันทุกคน ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เขาเข้าใจเรา ให้เขาชอบเราให้ได้ ขอแค่เรามีใจรักในสิ่งที่เราทำอยู่ ตั้งใจทำมันจริงๆ ผมเชื่อว่าสักวันเราต้องทำได้แน่นอน”

STARTUP ADVISOR

วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) มาจาก Art And Technology โดยเป็นแนวคิดหลักที่สะท้อนความเป็นตัวตนของชาว ANT ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่นำเอาความรู้ทางด้านศิลปะสร้างสรรค์มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ANT is a place where creative art meets technology) มีหลักสูตรปริญญาตรี 2 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม

เหมาะสำหรับน้องๆ ที่มีความหลงใหลในเรื่องของเกม และกีฬา eSport โดยหลักสูตรนี้ จะพัฒนาทักษะทางด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ การเขียนโปรแกรม การออกแบบตัวละคร รวมทั้งได้มีโอกาสทำงานและรับโจทย์ปัญหาจากบริษัท การีน่า และบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในวงการเกมและ eSport

หลักสูตรการออกแบบดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์

ในขณะที่หลักสูตรการออกแบบดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ เหมาะสำหรับน้องๆ ที่มีความชื่นชอบในเรื่องของการ์ตูน และการสร้าง Digital Content โดยนักศึกษาที่เลือกเรียนในหลักสูตรนี้ จะได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านการเล่นเรื่อง การใช้เสียงดนตรีประกอบ การออกแบบตัวละคร ทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ รวมทั้งการออกแบบ Visual Effects จึงเหมาะสำหรับนักศึกษาที่ต้องการสร้าง Animation และการสร้าง Digital Content ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน

จะเห็นได้ว่าวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี คือ วิทยาลัยที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งพัฒนาคนเพื่อตอบโจทย์สังคมในยุคดิจิทัล และเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรสิทธิ์ ชูชัยวัฒนา

คณบดีวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี

อ่านคอลัมน์ในนิตยสาร Campus Star No.63 ได้ที่นี่

www.facebook.com/campusstar

ข่าวที่เกี่ยวข้อง