อยากเรียน วิศวกรรมซอฟต์แวร์ อ่าน 7 เรื่องต้องรู้ หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มธ.

ในยุคที่ซอฟต์แวร์แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงเครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ล้วนมีซอฟต์แวร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลให้การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ทวีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อโณทัยไพบูลย์ ผู้อำนวยการโครงการ TU-PINE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasart School of Engineering : TSE) จะพาไปรู้จักกับ ‘หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือ Soft-en’ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีต่างๆ ผ่าน 7 เรื่องต้องรู้ ที่จะมีประโยชน์อย่างมากในการวางแผนด้านการศึกษา ว่าเหมาะกับเราหรือไม่ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสู่รั้วมหาวิทยาลัย

อยากเรียน วิศวกรรมซอฟต์แวร์

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ FB : ENGR.THAMMASAT

1. วิศวกรรมซอฟต์แวร์ vs วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

น้องๆ หลายคนอาจสงสัยว่า ‘วิศวกรรมซอฟต์แวร์’ แตกต่างจาก ‘วิศวกรรมคอมพิวเตอร์’ อย่างไร? ซึ่งในความคล้ายคลึงกันนี้มีเส้นแบ่งบางๆ ที่ทำให้ต้องแยก 2 หลักสูตรนี้ออกจากกัน นั่นคือ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ จะได้เรียนแบบเจาะลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตั้งแต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างซอฟต์แวร์ และสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แต่วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในภาพรวมทั้งหมด

2. ไม่เคยมีประสบการณ์ Coding ก็เรียนได้

Coding คือ สกิลพื้นฐานของการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ดังนั้นน้องๆ ที่สนใจอยากเรียนหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ Coding มาก่อน แต่มีความฝันที่อยากเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เลยกังวลว่าจะสามารถเรียนด้านนี้ได้หรือไม่ เรื่องนี้อยากอธิบายให้น้องๆสบายใจ เพราะที่ TSE เปิดโอกาสให้น้องๆที่มีความใฝ่รู้ โดยจะเริ่มสอนตั้งแต่การปูพื้นฐาน ปั้นจากคนไม่รู้ ไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Coding กันเลยทีเดียว แต่การตบมือข้างเดียวคงทำให้เกิดเสียงดังไม่ได้ ต้องอาศัยความตั้งใจของน้อง รับรองว่าเขียนโค้ดได้สบาย

3. คณิตไม่มั่น อังกฤษไม่แน่น ทำอย่างไร

นอกจากสกิล Coding แล้ว สำหรับน้องๆที่รู้ตัวเองว่าไม่ค่อยเก่งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษไม่แน่น จะสามารถเรียนหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ได้หรือไม่? อยากบอกให้สบายใจเลยว่าเรียนได้ แต่ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะ TSE พร้อมเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ปรับพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จากขั้นพื้นฐาน เช่น วิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน และแคลคูลัสพื้นฐาน เพื่อให้พร้อมสำหรับการต่อยอดสู่วิชาขั้นสูงต่อไป

4. อุปกรณ์ครบ ห้องปฏิบัติการพร้อม ร่วมลงมือไปกับผู้เชี่ยวชาญ

การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง จะช่วยให้น้องๆสามารถเข้าใจและแตกฉานในวิชาที่เรียนได้ ซึ่ง TSE ได้เตรียมอุปกรณ์การเรียนไว้อย่างครบครัน มีทั้งห้อง MAC และ PC ที่พร้อมให้น้องๆ ได้เติมเต็มทักษะจากการสัมผัสกับทำงานจริง นอกเหนือจากความรู้ในตำรา ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้น้องๆ เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ในห้องปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้การดูแลอยู่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ คอยให้คำปรึกษา ฝึกให้คิด ทดสอบ และลงมือปฏิบัติ ร่วมหาทางออกกับทุกโปรเจคไปพร้อมๆกัน เสมือนการทำงานจริงในสถานประกอบการ

5. ฝึกงานบริษัทชั้นนำระดับโลก

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน คือ โอกาสของน้องๆ ที่เรียนหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะได้ไปฝึกงานกับบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านซอฟต์แวร์ เป็นที่รู้จักในสังคมอย่างแพร่หลาย ที่อยู่ในความร่วมมือกับ TSE เช่น Microsoft (Thailand), Reuters Software (Thailand) Ltd. , IBM Client Innovation Center Thailand เป็นต้น เพื่อให้สัมผัสกับบรรยากาศการทำงานของมืออาชีพอย่างแท้จริง โดยเชื่อมั่นว่าน้องๆจะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากสถานประกอบการ ไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้ในอนาคต

6. ทุนการศึกษาแน่นตลอด 4 ปี

ความน่าสนใจของหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์อีกอย่าง คือ มีการมอบทุนการศึกษาให้กับน้องๆ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ทุน ได้แก่

– ทุนเรียนดี โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ หรือ TU-PINE ซึ่งจะยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อการพัฒนาของปีการศึกษาถัดไปที่ลงทะเบียนเรียน จำนวนชั้นปีละไม่เกิน 5 ทุน สำหรับนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป และมีเกรดเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละชั้นปี

– ทุนเรียนดีตลอดหลักสูตร สาขา Soft-en ซึ่งเป็นทุนตลอด 4 ปีการศึกษา จำนวนชั้นปีละ 10 ทุน พิจารณาให้กับน้องๆ ที่มีผลคะแนนทดสอบมาตรฐานเท่ากับ หรือมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีผลคะแนนสูงสุดอยู่ใน 10 ลำดับแรก และผ่านการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการ โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อการพัฒนาให้สำหรับการลงทะเบียนเรียนในชั้นปีที่ 1 และจะยกเว้นให้อีกในปีต่อๆ หากมีเกรดเฉลี่ยและคุณสมบัติอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์

7. สตาร์ทเงินเดือนสูง อนาคตปัง!

สายอาชีพของผู้ที่จบหลักสูตรวิศวกรรรมซอฟต์แวร์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงผู้ที่จบหลักสูตรนี้ สามารถทำงานได้หลายแห่ง เนื่องจากองค์กรหรือบริษัทต่างๆ จะมีแผนกไอที ทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อใช้งานในองค์กรของตนเอง พัฒนารูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิ์ภาพในการทำงาน เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในองค์กร จึงทำให้ฐานเงินเดือนขั้นต่ำของวิศวกรซอฟต์แวร์ อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ขึ้นไป หรืออาจแตะไปถึง 100,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์กรและประสบการณ์ของแต่ละคน

เชื่อว่าทั้ง 7 เรื่องนี้ อาจไปโดนใจน้องๆ เข้าสักเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อน้องๆ มีความฝันแล้ว อยากให้เดินหน้าต่อ เพราะความสำเร็จย่อมเป็นของผู้ที่ลงมือทำ ซึ่งสำหรับน้องๆ ที่สนใจหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์สามารถเข้าไปดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ tupine.engr.tu.ac.th/course.php?id=6

ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม น้องๆ สามารถสอบถามมาทาง inbox ของเพจ TSE ที่ FB : ENGR.THAMMASAT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง