วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

Chitralada Technology College

Home / academy / วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา
วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา (Chitralada Technology College) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามบรมราชกุมารี… See More

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา (Chitralada Technology College) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามบรมราชกุมารี เพื่อโรงเรียนจิตรลดา

 

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ประวัติความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ในฐานะองค์บริหารของโรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ จนจึง พ.ศ.๒๕๒๖ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชบายในการตั้งชั้นอนุบาลชั้นแรกในเดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๙๘ ว่า “จะต้องเป็นห้องเรียนอนุบาลมาตรฐานขั้นสากล ครูเป็นครู นักเรียนเป็นนักเรียน ครูต้องมีคุณภาพทุกด้าน มีความเข้าใจเด็ก ให้ความยุติธรรมต่อทุกคน มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง สนับสนุนเด็กให้เรียนในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ให้รู้กาลเทศะและการอยู่ร่วมกับคนอื่น คุณธรรมวินัยในความประพฤติและการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ” ซึ่งโรงเรียนจิตรลดาได้ยึดถือบรมราโชบาย เป็นแนวทางปฏิบัติจนทุกวันนี้

ดร. ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ “ครูทัศนีย์” ครูคนแรกของโรงเรียนจิตรลดา ท่านอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๔๙๘ ถึง ๒๕๒๖ ได้เล่าเรื่องราวของการก่อตั้งโรงเรียนจิตรลดา จากความทรงจำของท่านว่า “วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ คือวันที่โปรดเกล้าฯ ให้ครูเข้าเฝ้าฯ ที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการจัดตั้งโรงเรียน เพื่อให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุสามปีครึ่ง สมควรที่จะได้เรียนหนังสือระดับอนุบาล ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ดัดแปลงที่ประทับในพระที่นั่งอัมพรสถานที่เรียกว่า พระที่นั่งอุดรโดยดัดแปลงชั้นล่างหนึ่งห้องให้เป็นห้องอนุบาล มีอุปกรณ์เหมาะกับเด็กวันนั้น และรับสั่งว่า ทรงมอบห้องเรียนนี้เป็นห้องเรียนชั้นเรียนอนุบาลสำหรับทูลกระหม่อมและพระสหาย จากนั้นวันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำทูลกระหม่อมมามอบให้กับครู รับสั่งว่า “นี้คือครูนะ นี่เป็นนักเรียน…” และเรื่องราวของ “ครูทัศนีย์” กับโรงเรียนอนุบาลในพระที่นั่งอุดรซึ่งมีนักเรียน ๔ คน ในวันแรกของเวลาเข้าเรียนตั้งแต่เก้าโมงเช้าเศษๆ จนถึงเวลาเลิกเรียนสิบเอ็ดโมงเศษ ก็เริ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา “นักเรียนที่มาเรียนนั้น เวลากลับบ้านก็มีรถของวัง รถของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านทรงมอบให้เป็นรถส่งนักเรียนไปที่บ้าน นั้นคือ บรรยากาศของอนุบาลในวันแรก จากนั้นก็มีนักเรียนมาเพิ่มในชั้นเรียนแรกอีกเป็นทั้งหมด ๘ คน” ดร. ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ เล่าย้อนบรรยากาศภายในโรงเรียนในวันวาน ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ชั้นเรียนที่สองของโรงเรียนพระที่นั่งอุดร ก็ได้เปิดเพิ่มขึ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารหรือ “ทูลกระหม่อมฟ้าชาย” ในเวลานั้นได้ทรงเข้ามาเป็นนักเรียนอีกรุ่นของโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๙๙ ร่วมกับพระสหายอีก ๘ คน โดยมี”ครูอังกาบ” ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติท่านอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนจิตรลดาในปัจจุบัน เป็นครูประจำชั้น “ครูอังกาบ” ได้ถวายตัวเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ ทำหน้าที่ครูคนที่สองของโรงเรียนจิตรลดา

“ตอนนั้นครูจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาทำงานสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่ยังไม่บรรจุ ได้พบครูทัศนีย์ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าภาควิชา ท่านชวนให้มาทำงานที่โรงเรียนด้วยกัน ครูก็รับปากอย่างเต็มใจและถือเป็นเกียรติที่สุด ครูทัศนีย์ท่านให้ความเมตตากับครูมาก เวลาไปเฝ้าฯ ถวายรายงานก็จะให้ตามไปด้วยเสมอ ครูได้เห็นความเอาใจใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมีพระเมตตาต่อทุกคนอย่างทั่วถึง จะทอดพระเนตรสมุดรายงานและพระราชทานคำแนะนำเป็นรายบุคคล ต้องบอกว่าเด็กจิตรลดาในเวลานั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้อย่างแท้จริง” นี่คือความจดจำรำลึกของ “ครูอังกาบ ถึงเหตุการณ์ครั้งก่อน” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๐ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้แปรพระราชฐานมาประทับที่สวนจิตรลดานั้น ได้ทรงสร้างโรงเรียนจิตรลดาปัจจุบันนี้ไว้แล้ว ทูลกระหม่อม ๒ พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา บริเวณพระดำหนักจิตรลดารโหฐานแห่งนี้ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ “ทูลกระหม่อมน้อย” ก็เสด็จมาทรงศึกษาในชั้นอนุบาลของโรงเรียน โรงเรียนจิตรลดา จึงมีครูประจำชั้นเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ คน คือ “ครูสุนามัน”(ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นครูที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานมาสอนและทำหน้าที่ครูประจำชั้นของสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทั้ง ๓ ท่าน นับเป็นครูรุ่นก่อตั้งโรงเรียนมาจึงได้ฉายาว่า “สามทหารเสือ” เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีหรือ “ทูลกระหม่อมเล็ก” ได้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนจิตลดาเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๔ โรงเรียนจิตรลดาก็มีครูประจำชั้นเพิ่มขึ้นอีก ๑ คนคือ ครูศุภวัชร วัชรเสถียร (คุณศุภวัชร วัชรเสถียร ปัจจุบัน) และต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็โปรดเกล้าพระราชทานครูให้กับโรงเรียนอีก ๑ คนคือ ครูจามรี(คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นนางพระกำนัลในพระองค์ เพื่อให้ทำหน้าที่ครูสอนภาษาอังกฤษ

จาก “โรงเรียนอนุบาลพระที่นั่งอุดร” สู่ “โรงเรียนจิตรลดา” เมื่อโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น สมควรจะต้องจด ทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ “ครูทัศนีย์” ก็ได้เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานชื่อโรงเรียน ซึ่งท่านบันทึกไว้ว่า “ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีพระราชประสงค์จะให้โรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนที่พอเห็นชื่อก็มีอภิสิทธิ์ต่างๆนานามี “ราช” มีอะไรอย่างนี้ จึงรับสั่งว่า “ตั้งไปตรงๆ ตามสถานที่ที่ตั้ง ของโรงเรียนก็แล้วกัน” จึงได้จดทะเบียนโรงเรียนนี้ในชื่อว่า “โรงเรียนจิตรลดา” นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯให้พระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงศึกษาในโรงเรียนจิตรลดาร่วมกับนักเรียนสามัญชนซึ่งมาจากวิถีชีวิตต่างๆ กัน เพื่อให้เข้าพระทัยในสิ่งแวดล้อมและปัญหาของคนอื่น ให้ทรงวางพระองค์ให้ถูกต้องในการคบหาสังสรรค์กับคนอื่น รวมทั้งได้ทรงเมตตากรุณากับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือนอกจากนี้ ยังมีพระบรมราโชบายให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ ทั้งยังทรงมอบหมายให้ครูถวายการอบรมสั่งสอน ลงโทษหรือเชยชมเช่นเดียวกับนักเรียนอื่นๆ ไม่มีการถวายสิทธิพิเศษใดๆพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ทรงเชื่อฟังและเคารพครู และให้ทรงปฏิบัติภารกิจต่างๆในฐานะนักเรียนของโรงเรียนนักเรียนรุ่นแรกๆ จะได้เห็นภาพของทูลกระหม่อมทุกองค์ ทรงพระดำเนินหิ้วกระเป๋านักเรียนมาจากพระตำหนักในตอนเช้าทุกๆ เช้า อันเป็นภาพคุ้นชินตาของการเป็น “นักเรียนจิตรลดา”

สมัยแรกโรงเรียนจะมีครูสองคนคือครูทัศนีย์กับครูอังกาบต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาชั้นอนุบาลของโรงเรียน ก็จะมีครูประจำชั้นเพิ่มอีกหนึ่งคนคือ “ครูสุนามัน” นับเป็นครูสามคนที่ได้เริ่มช่วยก่อตั้งโรงเรียน ก็เลยได้ฉายาว่า “สามทหารเสือ” ที่นักเรียนตั้งให้ซึ่ง “ครูทัศนีย์” ได้เล่าถึงความรู้สึกเกี่ยวกับฉายานี้ไว้ว่า “ครูรู้สึกดีใจที่เป็นเสือ เพราะเสือมีคุณงามความดีหลายประการ แต่ก่อนเสือวิ่งไล่นักเรียนได้ในโรงเรียนนี้ ตอนนี้เสือถือไม้เท้า ครูก็ขอมอบสิ่งต่างๆ ที่ตั้งต้นมาด้วยดีให้ทุกคนที่นี่ พยายามทำให้ดีต่อไปพยายามทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งอย่างหนึ่งว่า ‘โรงเรียนจิตรลดา ไม่ต้องเป็นโรงเรียนตัวอย่าง แต่ขอให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ’ รับสั่งชัดเจนเลยขอให้ทุกคนได้นำพระราชดำรัสนี้ไปปฏิบัติให้โรงเรียนเรามีแต่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป”

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

เมื่อถึงปีการศึกษา ๒๕๒๖ “ครูอังกาบ” (ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ) ได้ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่ต่อจาก “ครูทัศนีย์”(ดร.ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์) ซึ่งได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเกษียณอายุ ครูทัศนีย์ ได้เล่าถึงครู “อังกาบ” อาจารย์ใหญ่คนปัจจุบันว่า “ครูอังกาบ มีความคล่องแคล่วและเชี่ยวชาญมีความสามารถที่จะรับช่วงต่อจากครูได้” และเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมอบให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้บริหารและเจ้าของโรงเรียนแทนพระองค์ท่าน โรงเรียนจิตรลดาจึงอยู่ในการดูแลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามราชกุมารีได้ทรงยึดพระบรมราโชบายในการบริหารโรงเรียนตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โรงเรียนจิตรลดาภายใต้พระบารมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกถมารีได้มีพัฒนาการไปอย่างหลากหลายในทุกๆด้าน ทั้งการสร้างอาคารเรียนใหม่โดยอาคารทุกหลัง พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกครั้ง และพระราชทานคำปรึกษาอันรอบคอบทั้งในเรื่องประโยชน์และการใช้สอย มีพระราชกระแสในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งตอนหนึ่งรับสั่งว่า สมันที่ยังทรงพระเยาว์พระองค์เคยชนอะไร ต้องระวังเรื่องนี้ไว้ให้มาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงนำพัฒนาการมาสู่โรงเรียนในหลายด้าน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการเรียนการสอนในชั้นอนุบาลอีกครั้ง โดยนักเรียนอนุบาลรุ่นแรกของชั้นอนุบาลในครั้งนี้คือ ชั้นเรียนของพระเจ้าหลานเธอ พระององค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และหลังจากนั้นก็คือชั้นเรียนของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๐ หลังจากนั้นโรงเรียนจิตรลดา ก็มีการสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมเพื่อเปิดการเรียนการสอนในชั้นประถมศึกษา และรับนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่๑ ครั้งแรกเมื่อ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙

โรงเรียนจิตรลดาใต้พระบารมีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ขยายขอบข่ายวิชาการไปอย่างกว้างไกลในด้านการเรียน มีการเปิดสอนในหมวดใหม่ๆ หลากหลายสอดคล้องกับภาวะกว้างไกลของวิชาการที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่สิ้นสุด มีการเพิ่มหมวดพาณิชยกรรม หมวดคอมพิวเตอร์นอกเหนือจากหมวดศิลปหัตถกรรมและคหกรรมที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว รวมทั้งหมวดภาษาญี่ปุ่น หมวดภาษาจีน หมวดภาษาเยอรมัน และเปิดห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช นอกนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารเรียนและห้องสมุด พระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการห้องสมุด ทรงเน้นให้ครูนักเรียนใช้ห้องสมุดให้มากเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ในด้านของดนตรีไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่โปรดอย่างมาก ได้ทรงสนับสนุนพระราชทานเครื่องดนตรีโรงเรียนจนครบโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนตั้งวงดนตรีไทย และให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีไทยแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาเพื่อให้เด็กได้รู้จักและสัมผัสเครื่องดนตรีไทย ทำให้เกิดความรักและซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณนี้ วงดนตรีไทยของโรงเรียนจิตรลดาจึงมีชื่อเสียงและได้รับรางวัลจากการกระกวดต่างๆ เป็นประจำ เมื่อปีการศึกษา ๒๕๔๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการเรียนการสอนโรงเรียนจิตรลดา จากสายสามัญ เพิ่มเป็นสายสามัญและวิชาชีพ เพื่อให้โอกาสนักเรียนที่มีทักษะและสนใจการเรียนด้านอาชีพได้ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองชอบโดยมีพระราโชบายให้เปิดสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ของกระทรวงศึกษาธิการ ๓ สาขางานใน ๒ ประเภทวิชา คือ ๑.ประเภทวิชาชีพพาณิชยกรรม สาขางานธุรกิจค้าปลีก และสาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ๒.ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากเนื้อหาด้านวิชาการที่จะได้ศึกษากับครูที่จบจากสายวิชาชีพโดยตรงแล้ว นักเรียนยังได้รับประสบการณ์ตรงในการเรียนและการปฏิบัติงานจากสถานประกอบการในรายวิชาหลักของสาขาที่เรียน และต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๕๐ ก็ได้ทรงพระกรุณาขยายหลักสูตรเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของกระทรวงศึกษาธิการอีก ๓ สาชาวิชาใน ๒ ประเภทวิชา เพื่อให้โอกาสนักเรียนจิตรลดาสายวิชาชีพ รุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เข้าศึกษาต่อ อันได้แก่ ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ในสาขางานการตลาด และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ในสาขาการพัฒนาเว็บเพจ กับประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ในสาขางานอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม การเรียนการสอนของโรงเรียนจิตรลดา สายวิชาชีพเมื่อแรกเริ่มได้ใช้อาคารเรียนสำนักพระราชวัง สนามเสือป่า เป็นสถานที่เรียนและต่อมาได้มีสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนจิตรลดา สายวิชาชีพ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราโชบายให้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการของเอกชนหลายแห่งเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาได้เพิ่มพูนทักษะ และประสบการณ์ตรงในสายวิชาชีพธุรกิจและวิชาช่าง โรงเรียนจิตรลดา สายวิชาชีพ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน บรรยากาศร่มรื่น ปลอดโปร่ง ห่างจากแหล่งอบายมุข และมีสถานที่อำนวยความสะดวกทั้งในการใช้ชีวิตและการคมนาคม โดยมีการจัดการบริหารภายใต้การดูแลของท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้จัดการและผู้อำนวยการ ซึ่งรับสนองพระราโชบายจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีองค์บริหาร ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติได้เล้าว่า “เรื่องโรงเรียนจิตรลดาสายวิชาชีพนี่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านทรงอยากเปิดนานแล้ว แต่ยังหาพื้นที่เหมาะสมไม่ได้เพราะรับสั่งว่าพื้นที่ในโรงเรียนจิตรลดาก็ดูคับแคบเพราะขยายออกไปหลายแผนก พอดีวันหนึ่งที่สมาคมนักเรียนเก่าจิตรลดาจัดงานเดินการกุศล พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปร่วมด้วยได้ทอดพระเนตรเห็นตึกในสนามเสือป่าปิดไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ถ้าจะทรงใช้สอยก็ยินดีถวาย ท่านเลยโปรดเกล้าฯ ให้ตึกนี้แหละเปิดเป็นโรงเรียนจิตรลดาสายวิชาชีพเมื่อปี ๒๕๔๗” “พระราโชบายที่ทรงเปิดจิตรลดาวิชาชีพก็คือ ทรงตั้งพระทัยอยากช่วยเหลือเด็กที่มีความถนัดทางด้านงานอาชีพให้เค้าได้รับโอกาสทำงาน ผู้ปกครองบางคนก็เล่าว่า แต่ก่อนลูกเขาพอกลับจากโรงเรียนก็โยนกระเป๋า ไม่สนใจอะไรเลยแต่พอมาเรียนด้านวิชาชีพนี่กลับเป็นคนละคน ตั้งใจเรียนและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เมื่อก่อนเรียนได้แค่เกรด ๑ กว่าๆ พอมาเรียนสายวิชาชีพ กลับพัฒนามาเรียนได้เกรดดีเป็น ๓ กว่าๆ ก็หลายคนตอนมาใหม่ๆเราจะเน้นให้เข้าใจความเป็นนักเรียนจิตรลดาว่าได้รับพระกรุณาธิคุณ ที่ท่านทรงคัดเลือกให้มาอยู่ได้พระบารมี ต้องทำตัวเองให้ดีเพื่อจะได้ออกไปช่วยเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติ”

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ปีการศึกษา ๒๕๕๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาขึ้น ด้วยทรงมีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่กว้างไกลทรงนึกถึงประเทศว่าสิ่งใดจำเป็นในขณะนี้ ที่ควรพัฒนาให้มีมาตราฐาน มีพื้นฐานที่ดี รับสั่งว่า “วิชาชีพ เป็นส่วนที่ควรจะให้นักเรียนได้เรียนรู้และประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ” มีพระราชดำริว่า ควรจัดตั้งวิทยาลัยเพื่อรับรองนักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาแห่งนี้ จะฝึกนักเรียนให้ออกไปประสบผลสำเร็จทั้งด้านวิชาการและทักษะในการทำงานโดยเปิดคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้รับปริญญาเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) มี ๒ สาขาคือ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาไฟฟ้ากำลัง ส่วนอีกคณะหนึ่งของวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา คือคณะบริหารธุรกิจได้รับปริญญา บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ) มี ๓ สาขา คือ สาขาการตลาด สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาธุรกิจอาหารและท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ เป็นอธิการบดีคนแรกของวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ปรัชญา

รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำความรู้ สู้งานหนัก

จุดมุ่งหมายวิทยาลัย

1. สร้างบัณฑิตให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้  ขยัน  รับผิดชอบ  ประกอบสัมมาอาชีวะได้ดี
2. สร้างบัณฑิตที่รักงานอาชีพ กอปรไปด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ช่วยเหลือส่วนรวม
3. สร้างบัณฑิตที่มีความสามารถสื่อสารผ่านภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

สีประจำวิทยาลัย

สีเหลือง-ฟ้า หมายถึง สีวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือวันจันทร์ และสีวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถคือวันศุกร์ ทั้งสองพระองค์ คือ ผู้ทรงก่อตั้งโรงเรียนจิตรลดา

สีประจำคณะ

คณะบริหารธุรกิจ : สีฟ้าหม่น
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม : สีเเดงเลือดหมู

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ต้นไม้ประจำวิทยาลัย

ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา โดยนิยมปลูกกันมากในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง และเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาหลายสิบปี โดยมีการเสนอให้ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด จนกระทั่งมีการลงนามให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544

วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา : Chitralada Technology College
สถาปนา : 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
ประเภท : เอกชน
ที่ตั้ง : สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ : www.cdtc.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/cdtc.ac.th/

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.cdtc.ac.th/cdtc/index.php

See Less

ข่าวการศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

กิจกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ดาวเด่น วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

วาไรตี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ชิลเอ้าท์ วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้