วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

College of Fine Arts

Home / academy / วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)
วิทยาลัยช่างศิลป (College of Fine Arts) เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดการเรียนการสอนในสาขาศิลปะ ทั้งศิลปะไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) ประวัติความเป็นมา วิทยาลัยช่างศิลปมีชื่อเดิมว่า “โรงเรียนศิลปศึกษา” ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมาย… See More

วิทยาลัยช่างศิลป (College of Fine Arts) เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดการเรียนการสอนในสาขาศิลปะ ทั้งศิลปะไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย

วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยช่างศิลปมีชื่อเดิมว่า “โรงเรียนศิลปศึกษา” ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมาย เพื่อให้มีฐานะเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินงานโดยอาศัยเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัย และได้ครู อาจารย์ในมหาวิทยาลัยช่วยทำ การสอน นอกจากครูสอนวิชาสามัญมีทั้งครูประจำ และเชิญบุคคลภายนอกมาสอนพิเศษเป็นรายชั่วโมง

หลักสูตรศิลปะก็จัดวิชาและรายการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร เว้นแต่วิชาสามัญคงดำเนินการสอนตามหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์

โรงเรียนศิลปศึกษานี้ ได้มีประกาศให้ตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยนายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยศิลปากรและประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนศิลปศึกษา พุทธศักราช 2495 กำหนดคุณสมบัติ และพื้นความรู้ของผู้สมัครเข้าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน

หลักสูตรในระยะแรกเริ่มนี้คงเปิดสอนเพียงแผนกเดียว คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นหลักสูตร 3 ปี และให้สิทธิ์ผู้สอบได้ชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ส่วนผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี จะได้ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางของกรมศิลปากร

โรงเรียนศิลปศึกษาเปิดทำการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 36 คน โดยใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว

พ.ศ. 2496 ได้ขยายการสอนเป็น 3 แผนก คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม แผนกช่างสิบหมู่ และแผนกโบราณคดี แต่ละแผนกมีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี

พ.ศ. 2497 กรมศิลปากรได้รับมอบตึกที่ทำการกระทรวงคมนาคมเดิม 3 หลัง จึงได้ยกตึก 2 หลังด้านใน ให้เป็นอาคารเรียนของ โรงเรียนศิลปศึกษา นับแต่นั้นเป็นต้นมา โรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีสถานที่เรียนเป็นการถาวร จน พ.ศ. 2503 อาคารเรียนจึงถูกรื้อ ไปเสียหลังหนึ่งเพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ

พ.ศ. 2498 โรงเรียนศิลปศึกษายังคงดำเนินการสอนใน 3 แผนก พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาใหม่คือรับนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้น ปีที่ 2 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเสียก่อน

พ.ศ. 2500 มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนหลายประการคือ
ก. ได้มีการกำหนดฐานะของโรงเรียน ประเภทเตรียมอุดมศึกษา เรียกชื่อว่า โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
ข. ได้ยุบเลิกแผนกช่างสิบหมู่ คงเหลือไว้เพียง 2 แผนก และเรียกชื่อใหม่ว่า แผนกเตรียมศิลป แผนกเตรียมโบราณคดี สำหรับ การศึกษาใน 2 ปีแรก
ค. เปลี่ยนมาสังกัดอยู่ในกองหัตถศิลป กรมศิลปากร

พ.ศ. 2501 โรงเรียนศิลปศึกษาได้กลับไปสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้ง จนถึงเดือน มกราคม พ.ศ. 2503 เมื่อ มหาวิทยาลัยศิลปากรแยกไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ โรงเรียนศิลปศึกษาจึงกลับมาสังกัดกองหัตถศิลป กรมศิลปากรดังเดิม และพ้นฐานะจากการเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยุบเลิกแผนกโบราณคดี คงเหลือแต่แผนกจิตรกรรมและประติมากรรมแผนกเดียว ส่วนกำหนดเวลาเรียนยังคงเป็น 3 ปี จึงจบหลักสูตร

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ มีการตั้งกองศิลปศึกษาขึ้น โรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในกองศิลปศึกษา มีงบประมาณตำแหน่งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนช่างศิลป ในโอกาสนี้ด้วย

พ.ศ. 2505 ทางการได้รื้ออาคารเรียนเดิม ซึ่งเหลืออยู่เพียงหลังเดียว เพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ จึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นอาคารเรียนถาวรให้แก่โรงเรียนช่างศิลปขึ้นภายในบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนนาฏศิลป นับแต่นั้นมา โรงเรียนช่างศิลปได้ให้การศึกษาแก่นักเรียนใน หลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (เทียบเท่าหลักสูตรครูประถมการช่าง หรือ ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหลักสูตร 3 ปี จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร พุทธศักราช 2517 ซึ่งใช้เวลาต่อจากหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางอีก 2 ปี และเทียบการศึกษานี้เท่ากับหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) โรงเรียนช่างศิลปจึงได้เปิดให้การศึกษาตามหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2517

วิทยาลัยช่างศิลป

ในปีการศึกษา 2518 โรงเรียนช่างศิลปก็ได้ให้การศึกษาแก่นักเรียน ทั้งในระดับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง และระดับ ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง และผลิตผู้สำเร็จการศึกษาการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงเป็นรุ่นแรก ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนช่างศิลป เป็น วิทยาลัยช่างศิลป เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 และเริ่มขยายกิจการการเรียนการสอนไปที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยได้เริ่มพัฒนา ก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินวิทยาลัยเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เนื้อที่ประมาณ 63 ไร่ ในปีพ.ศ. 2519 และเริ่มใช้เป็นสถานศึกษาของวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2524 วิทยาลัยช่างศิลปได้ปรับปรุงหลักสูตร ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง ซึ่งเทียบเท่าประโยคครูประถมการช่าง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาในหลักสูตรนี้ โครงสร้างของหลักสูตรประกอบด้วย หมวดวิชาสามัญ หมวดวิชาสัมพันธ์ หมวดวิชาชีพภาคทฤษฎี และวิชาชีพภาคปฏิบัติทั้งศิลปะ-ไทยแบบประเพณี และศิลปะร่วมสมัย มีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็คงได้รับ วุฒิประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (ระดับ ปวช.)

พ.ศ. 2527 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) อีกครั้งหนึ่ง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาเช่นเดียวกับหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง โครงสร้างของหลักสูตรจึงประกอบด้วย หมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป หมวดวิชาศิลปะ (วิชาพื้นฐานวิชาศิลปะ วิชาศิลปะเฉพาะสาขา วิชาศิลปะเลือก) และหมวดวิชาเลือก โดยให้ นักศึกษาเลือกเรียนวิชาศิลปะสาขาต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจในศิลปะเฉพาะสาขา (วิชาเอก) และวิชาศิลปะเลือก (วิชาโท) เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง (ระดับ ปวส.)

พ.ศ. 2539 วิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นกลาง และหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นสูง อีกครั้งหนึ่งเรียกชื่อว่า หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพุทธศักราช 2539 (ศ.ปวช.) และหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2539 (ศ.ปวส.) ตามลำดับ ซึ่งมีสาขาวิชาให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับแนวนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม

พ.ศ. 2545 วิทยาลัยช่างศิลปเปลี่ยนหน่วยงานต้นสังกัดจากสถาบันศิลปกรรมมาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตามประกาศกรมศิลปากร เรื่องการแบ่งส่วนราชการ หน่วยงาน และสถานศึกษาของกรมศิลปากร ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545

พ.ศ. 2546 ปรับหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 มาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2544 วิทยาลัยช่างศิลป ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542

พ.ศ. 2550 วิทยาลัยช่างศิลปและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์แยกตัวจากกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 32 ก วันที่ 9 กรกฏาคม พ.ศ. 2550

พ.ศ. 2552 วิทยาลัยช่างศิลปปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นไปตามประกาศของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยให้มีการสรรหาผู้อำนวยการวิทยาลัย และผู้อำนวยการคนแรกที่มาจากระบบการสรรหา คือ อาจารย์สมบัติ กุลางกูร

วิสัยทัศน์ วิทยาลัยช่างศิลป มุ่งจัดการศึกษาด้านศิลปะที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ด้วยการบริหารจัดการที่มี นโยบาย เป้าหมายที่ชัดเจนเป็นระบบ

เอกลักษณ์ เป็นผู้นำทางด้านงานศิลป์

อัตลักษณ์ สืบสาน สร้างสรรค์ งานศิลป์

สถานที่ตั้ง เลขที่ 60 ถนนหลวงพรต แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002-4
โทรสาร 0 2326 4013

เว็บไซต์ : cfa.bpi.ac.th/index1.html

Facebook : วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง

ข้อมูลจาก http:cfa.bpi.ac.th/sub2-2.html

See Less

ข่าวการศึกษา วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

กิจกรรม วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ดาวเด่น วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ชิลเอ้าท์ วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

มุมต่างๆในรั้ว วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า วิทยาลัยช่างศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์)

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้