วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เดิมเป็นแผนกๆ หนึ่ง ที่เปิดทำการสอนอาชีพช่างไม้ และช่างจักสานให้กับนักเรียนชั้นประถมต้นของ โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลดินกองทราย แขวงมีนบุรี พ.ศ. 2480 แยกตัวเองมาจากโรงเรียนประชาบาล ประจำตำบลทรายกองดิน มาใช้อาคารของหอทะเบียนที่ดินจังหวัดมีนบุรี ตั้งเป็นโรงเรียนแห่งใหม่ชื่อ “โรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้มีนบุรี”
วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี
ประวัติความเป็นมา
พ.ศ. 2481 กรมอาชีวศึกษาได้จัดสรรเงินงบประมาณ สำหรับสร้างอาคารเรียน และอาคารโรงฝึกงานบนเนื้อที่ 4 ไร่ บริเวณ ตรงข้ามที่ทำการเรือนจำมีนบุรี และได้ย้ายโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ มาอยู่สถานที่แห่งใหม่นี้ และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนช่างไม้มีนบุรี ”
พ.ศ. 2502 เนื่องจากโรงเรียนช่างไม้มีนบุรี มีสถานที่คับแคบ ไม่สามารถขยายเพิ่มชั้นเรียนและเปิดสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และความต้องการกำลังคนในงานด้านอุตสาหกรรมได้กรมอาชีวศึกษาจังได้จัดหา ที่ดินผืนใหม่ จำนวน 20 ไร่ บนถนนสีหบุรานุกิจ แขวงมีนบุรี ( สถานที่ตั้งปัจจุบัน) พร้อมกับจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับสร้างอาคารเรียน และอาคารโรงฝึกงานเพิ่มขึ้น และได้ย้ายโรงเรียนช่างไม้มีนบุรีมาอยู่สถานที่แห่งใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการช่างมีนบุรี” ในระยะแรกเปิดทำการสอนแผนกช่างไม้ และแผนกช่างก่อสร้างในระดับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ( สายอาชีพ)
พ.ศ. 2515 เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ จากระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายอาชีพ) เป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และเปิดทำการสอนเพิ่มขึ้นอีก 2 แผนก คือ แผนกช่างกลโรงงาน และแผนกช่างไฟฟ้า
พ.ศ. 2518 เปลี่ยนระบบการวัดผลใหม่ จากเดิมที่คิดเป็นร้อยละ มาเป็นระบบหน่วยกิต และเปิดทำการสอนแผนกช่างยนต์ ขึ้นอีกแผนก
พ.ศ. 2519 ยกฐานะของโรงเรียนการช่างมีนบุรี เป็น “วิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพมหานครวิทยาเขต 2 มีนบุรี” และเปิดทำการสินแผนกช่างเชื่อมและโลหะแผ่น อีกแผนกหนึ่ง
พ.ศ. 2520 เปิดทำการสอนแผนกช่างวิทยุและโทรคมนาคม ( ปัจจุบันใช่ชื่อแผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ) และทำการสอนภาคนอกเวลาทุกแผนก ทำให้สามารถรับนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และในปีเดียวกันนี้กรมอาชีวศึกษาได้เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยใหม่ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยาเขต 2 มีนบุรี เห็น “วิทยาลัยอุตสาหกรรมกรุงเทพ วิทยาเขตมีนบุรี”
พ.ศ. 2521 เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยอุตสาหกรรมกรุงเทพ วิทยาเขตมีนบุรี เป็น “วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี”
พ.ศ. 2522 เริ่มการขยายการศึกษาให้มีระดับสูงขึ้น จากประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงขึ้น (ปวส) ในระยะแรกนี้ได้เปิดทำการสอน 2แผนก คือ แผนกช่างยนต์ และแผนกช่างกลโลหะ และวิทยาลัยก็ยังดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2524 สามารถเปิดทำการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท) สาขาเทคนิคเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกล และในปี พ. ศ 2527 สามารถทำการเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) ได้ครบทุกแผนก
นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2527 เป็นต้น ประชาชนได้ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เพิ่มมากขึ้น แต่สถานที่ของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีมีพื้นที่เพียง 14 ไร่ จึงไม่สามารถขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารให้จึงขอรับบริจาคที่ดินจากผู้มีจิต ศรัทธา เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการอาชีวศึกษาจำนวน 2 แปลง คือ
– แปลงที่ 1 นางนกเล้า รออนันต์ ได้บริจาคที่ดินบนถนนรามอินทรา (กม.11) จำนวน 56 ไร่ ติดกับสวนสัตว์เปิดซาฟารีเวิลด์ ปัจจุบันกรมอาชีวศึกษาได้จัดตั้งเป็น วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ
– แปลงที่ 2 นางสาว โชติมา ปัทมนุช โดยความเห็นชอบจาก ร้อยเอกโชติ-นางบุญมาก ปัทมนุช ผู้เป็นบิดา-มารดา ได้บริจาคที่ดินในซอยวัดทองสัมฤทธิ์ ถนนสุวินทวงศ์ จำนวน 40 ไร่ ซึ่งผู้อำนวยการเสริญ หรุ่นรักวิทย์ ได้ทำโครงการสร้างอาคารปฏิบัติการสาขา วิชาเทคนิคการผลิตขึ้น จำนวน 3 หลัง ซึ้งได้รับความเห็นชอบจากกรมอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2529 จนแล้วปี 2532 ใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี แห่งที่ 2” พ.ศ. 2533 เนื่องจากที่และอาคารเรียนของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี คับแคบ และจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนนักศึกษา ประกอบกับอาคารปฏิบัติการที่ก่อสร้างไว้ที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีแห่งที่ 2 ที่ซอยวัดทองสัมฤทธิ์ได้แล้วเสร็จเป็นบางส่วน วิทยาลัยฯ จึงได้พิจารณาย้ายแผนกวิชาช่างกลโรงงาน ไปจัดการเรียนการสอนก่อนแผนกวิชาอื่น ๆ และในปี 2534 ได้ย้ายแผนกช่างเชื่อมและโลหะแผ่น และแผนกวิชาช่างยนต์ รวมเป็นสามแผนกวิชา โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากครู- อาจารย์ ทุกท่าน และทุกท่านได้ไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละเพราะสถานที่ห่างไกลจากชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรต่อมาวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีได้ของบประมาณสร้างอาคาร หอประชุม โรงอาหาร และอาคารเรียนเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 หลัง
พ.ศ. 2536 จากการที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี แยกการจัดการเรียนการสอนเป็น 2 แห่ง ทำให้การบริหารการศึกษาไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ประกอบกับกรมอาชีวศึกษาจัดทำ โครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัตรครบ 50 พรรษา วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี จึงได้ทำโครงการจัดตั้ง วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีแห่งที่ 2 เป็นวิทยาลัยแห่งใหม่ แยกการบริหารอย่างเด็ดขาด และได้เสนอ นายประดิษฐ์ ธรรมเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เป็นผู้ประสานงานในการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคแห่งใหม่ และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536
พ.ศ. 2537 เพื่อให้การจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีแห่งที่ 2 เป็นไปด้วยความรวดเร็ว วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีจึงได้ทำ โครงการโอนอัตรากำลังครู-อาจารย์ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ พร้อมกับปรับอัตรากำลังครู-อาจารย์ จำนวน 5 อัตรา ขึ้นเป็นตำแหน่งผู้บริหาร อันได้แก่ ตำแหน่งเลขที่ 333 นายวิรัตน์ คันธรารัตน์ เป็นตำแหน่งผู้อำนวยการ ตำแหน่งเลขที่ 322 นายศักดา จินตะเวช ตำแหน่ง 15769 นายสมพงษ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ตำแหน่งเลขที่ 372 นาย วริน รอดโพธิ์ทอง ตำแหน่งเลขที่ 360 นาย ศักดา สนิทศิณิ สนิทศิณิวัฒน์ เป็นตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการซึ่งได้รับความเห็นชองจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความเห็นชอบ จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีแห่งที่ 2 เป็น วิทยาลัยกาญจนาภิเษกมหานคร ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
ดังนั้น นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีได้จัดการเรียนการสอนประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมเหลือเพียง 4 สาขาวิชา คือ
– สาขาวิชาช่างก่อสร้าง เปิดสอนทั้งระดับ ปวช. และ ปวส.
– สาขาวิชาช่างไฟฟ้า เปิดสอนทั้งระดับ ปวช. และ ปวส.
– สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ เปิดสอนทั้งระดับ ปวช. และ ปวส.
– สาขาวิชาการพิมพ์ เปิดสอนระดับ ปวช.
นอกจากการจัดการเรียนการสอนในระบบปกติแล้ว วิทยาลัยฯ ยังได้เปิดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี อันเป็นการร่วมมือกันจัดการเรียนการสอน กับสถานประกอบการ โดยได้เปิดการเรียนการสอนจำนวน 6 สาขาวิชา คือ
– สาขาวิชาการพิมพ์
– สาชาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
– สาขาวิชาช่างก่อสร้าง
– สาขาวิชาพณิชยการ
– สาขาวิชาช่างไฟฟ้า
– สาขาวิชาช่างซ่อมบำรุงในโรงงานอุตสาหกรรม
ปีการศึกษา 2539 วิทยาลัยฯ ได้จัดทำโครงการเปิดสอนประเภท วิชาพาณิยกรรม ซึ่งกรมอาชีวศึกษา เห็นชอบให้เปิดการสอน 2 สาขาวิชา คือ
สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
ปีการศึกษา 2542 วิทยาลัยฯ เปิดสอนประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมในระดับ ปวส. สาขาวิชาการพิมพ์และสาขาเมคคาทรอนิกส์ ประเภทวิชาพาณิชยกรรมเปิดสอนสาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
ปีการศึกษา 2543 วิทยาลัยฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยงดรับนักเรียนระดับ ปวช. ทุกสาขาวิชา ( ยกเว้นสาขาวิชาการพิมพ์) แต่ได้เปิดรับนักเรียนระดับ ปวช. ระบบทวิภาคี ทุกสาขาวิชาเพื่อเป็นการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. 2542
ปีการศึกษา 2544 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) สาขาการไฟฟ้ากำลัง (ภาคสมทบ) เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมอาชีวศึกษาและพระราช บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และเปิดสอนสาขาช่างโยธา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคปกติ อีกทั้งระดับ ปวส. (ระบบทวิภาคี) 2 สาขาวิชา คือ เทคนิคอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า อุตสาหกรรม จำกัด และสาขาวิชาการพิมพ์ กับ บริษัท ไทยวัฒนาพานิช จำกัด
ปีการศึกษา 2545-2547 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เป็นสถานศึกษาภายใน “สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร 1” (อศก) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ)
ปีการศึกษา 2548 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีเป็นสถานศึกษาภายใน “สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพ” (อศก) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ)
ปีการศึกษา 2549 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ประเภทอาชีวศึกษาขนาดใหญ่
วิสัยทัศน์ สถานศึกษาอาชีวศึกษาชั้นนำของประเทศ จัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสู่ประชาคมอาเซียน
สถานที่ตั้ง 57 ถนนสีหบุรานุกิจ เขตมีนบุรี แขวงมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
โทรศัพท์ : 02-517-2041
โทรสาร : 02-517-2046 (งานพัสดุ), 02-518-0510 (งานทวิภาคี)
อีเมล์ : [email protected]
เว็บไซต์ : minburi.ac.th
Facebook : /วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี
ข้อมูลจาก : www.minburi.ac.th