วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย (Red Cross College of Nursing) เป็นหน่วยงานหนึ่งของสภากาชาดไทย และจัดเป็นสถาบันสมทบชั้นสูงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางอีกหลายสาขา
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย
ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยได้วิวัฒนาการมาจากโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยามมาเป็นโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยสภากาชาดไทย จนถึงวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาแห่งนี้กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2457 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระรามาธิปดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลในประเทศไทย เมื่อเริ่มเปิดดำเนินการโรงเรียนนี้ขึ้นอยู่กับแผนกศึกษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (กองพยาบาลทหารบกกลาง กระทรวงกลาโหม) เป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาเรียน 1 ปี และมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียน ผดุงครรภ์โรงพยาบาลศิริราช ต่อมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยกเลิกแผนกศึกษา จึงโอนโรงเรียนพยาบาลไปขึ้นอยู่กับแผนกรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล กองโรงเรียนพยาบาลเป็นกองหนึ่งในแผนกนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโรงเรียนพยาบาลเป็นพระองค์แรก คือ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์
พ.ศ. 2467 ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี รับนักศึกษาที่มีความรู้อย่างต่ำมัธยมศึกษาปีที่ 3 และคณะมิชชันนารีอเมริกันได้จัดตั้งโรงเรียนนางพยาบาลแมคคอร์มิคที่เชียงใหม่ โดยใช้หลักสูตรและข้อสอบของโรงเรียนการพยาบาลสภากาชาดสยาม พ.ศ. 2507 ปรับปรุงหลักสูตรให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเทียบเท่าระดับการศึกษาสากลเรียกหลักสูตรนี้ว่าประกาศนียบัตรขั้นสูงวิชาพยาบาลและอนามัย รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือเทียบเท่ากำหนดเวลาเรียน 3 ปีและมีหลักสูตรประกาศนียบัตรผดุงครรภ์อีก 6 เดือน ในปี พ.ศ. 2511 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล กำหนดเวลาเรียน 1 ปี รับผู้สำเร็จการศึกษาสายสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อีก หลักสูตรหนึ่ง
พ.ศ. 2513 เปลี่ยนชื่อจากเดิมเป็น วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย และมีอาจารย์ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลฯ เป็นผู้บริหาร วิทยาลัยพยาบาลฯ มีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นในระดับอนุปริญญาพยาบาลและอนามัย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาลฯ เข้าสมทบเป็นสถาบันวิชาการศึกษาชั้นสูงในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2514 ต่อมาวิทยาลัยพยาบาลฯได้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่โดยได้ปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มีกำหนดเวลาเรียน 4 ปีในปี พ.ศ. 2521 ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาบัตรสาขาพยาบาลศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2532 สภากาชาดไทยได้มีประกาศสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2532 ให้วิทยาลัยพยาบาลฯ มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งของสภากาชาดไทยพร้อมทั้งได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรบริหารบุคคลและการบริหารวิชาการให้สอดคล้องกับภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลฯเป็นผู้อำนวยการสำนัก วิทยาลัยพยาบาลฯได้มีการพัฒนาวิธีการบริหารจัดการใหม่ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ กิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนจัดให้มีสโมสรนักศึกษาขึ้นเพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและส่งเสริมประสบการณ์ด้านต่างๆ ให้กับนักศึกษา
พ.ศ. 2536 ขยายบทบาทด้านการผลิตบุคลากรพยาบาล โดยเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ และสาขาวิชาการพยาบาลผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์และผู้ป่วยเอดส์ กำหนดเวลาศึกษาอบรม 4 เดือน และได้ขยายจำนวนการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จากปีละ 170 คน ตามแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 7 (พ.ศ. 2534-2539) มาเป็นปีละ 200 คน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษาสาขาวิชา พยาบาลศาสตร์โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 นอกจากนี้ยังได้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนและมีการอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่
พ.ศ. 2537 ขยายบทบาทด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลสำหรับชาวต่างประเทศ มีระยะเวลาศึกษา 4-6 เดือน ในปีเดียวกันนี้วิทยาลัยพยาบาลฯ เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการบริการสืบค้นข้อมูลด้านวารสารและตำราในห้องสมุด และเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาพยาบาล 8 ชั้นพร้อมชั้นดาดฟ้า เพื่อทดแทนอาคารหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ซึ่งได้รับพระราชทานชื่ออาคารในเวลาต่อมาว่า อาคารพระบรมคุณ พร้อมทั้งได้ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์แห่งพระกรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อวิชาชีพการพยาบาล
พ.ศ. 2538 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางเพิ่มอีก 2 สาขา คือ สาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และสาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยโรคไร้เชื้อ และพัฒนาการบริการสืบค้นข้อมูลวารสารและตำราห้องสมุดด้วยคอมพิวเตอร์โดยการจัดทำฐานข้อมูล
พ.ศ. 2539 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้พัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตให้เป็นหลักสูตร บูรณาการ และสภากาชาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการจัดการศึกษาภาคปฏิบัติขึ้น ต่อมา ในปี พ.ศ. 2540 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในการก่อสร้างอาคารเรียนรวมและศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 10 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ห้องปฏิบัติการพยาบาล ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องสมุด พร้อมระบบสืบค้นข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ และหน่วยบริการวิชาการต่างๆ เป็นต้น ต่อมาอาคารหลังนี้ได้รับพระราชทานชื่ออาคารว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา พร้อมทั้งประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ที่ป้ายชื่ออาคารด้วย
พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นปีที่วิทยาลัยพยาบาลฯ เปิดดำเนินการมาครบปีที่ 84 ได้มีการก่อตั้งทุนสมเด็จ เจ้าฟ้าสุทธาทิพย์ เพื่อเก็บดอกผลบำรุงกิจการของวิทยาลัยพยาบาลฯ ในด้านการพัฒนาคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และทำนุบำรุงตึกสุทธาทิพย์อาคารอนุรักษ์ของสภากาชาดไทย และได้มีระเบียบการวิทยาลัยพยาบาลฯ เกี่ยวกับรางวัลเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์เพื่อเชิดชูเกียรติศิษย์เก่าฯ ที่นำชื่อเสียงมาสู่สถาบันและเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์แก่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย นอกจากนั้นวิทยาลัยพยาบาลฯ ยังเริ่มดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษากับมหาวิทยาลัย Malaspina ประเทศแคนาดา
พ.ศ. 2543 ได้ประกาศนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยพยาบาลฯ โดยนำระบบ CIPP และ 9 องค์ประกอบของระบบประกันคุณภาพการศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัย มาเป็นกรอบแนวคิด ในการจัดทำระบบประกันคุณภาพ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการดำเนินงานในการประกันคุณภาพตามข้อกำหนดมาตรฐานประกันคุณภาพสำหรับหน่วยงานด้านการเรียนการสอนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-QA 84.1)
พ.ศ. 2545 ขยายบทบาทด้านการบริการวิชาการทั้งในรูปแบบของการจัดประชุมวิชาการและการอบรมสำหรับพยาบาลวิชาชีพ ตลอดจนโครงการบริการวิชาการด้านวิชาชีพแก่สังคม ในกลุ่มวัยต่างๆ ที่มีปัญหาการปรับตัวต่อภาวะสุขภาพและผู้ด้อยโอกาส ในรูปแบบที่หลากหลาย ในปีต่อมาได้เปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง ที่ได้รับการรับรองหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาลจากสภาการพยาบาล จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) อนุสาขาการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และ อนุสาขาการพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
พ.ศ. 2547 วาระที่วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้ดำเนินการมาครบรอบปีที่ 90 จึงได้ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์การศึกษาและการพยาบาลสภากาชาดไทยขึ้นในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับศึกษาประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของวิชาชีพการพยาบาลในสังกัดของสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การพยาบาลในประเทศไทยด้วย
พ.ศ. 2548 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้จัดการศึกษาโดยใช้หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2547) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาปรับปรุงมาจากหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2539) เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน หลักสูตรนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาการพยาบาลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548
พ.ศ. 2549 ขยายการเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางอนุสาขาการพยาบาลผู้ป่วยบาดแผลออสโตมีและควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (นอกเวลาราชการ) เพื่อตอบสนองความต้องการของสภากาชาดไทยและสังคม นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรออกแบบพิเศษระยะสั้นให้กับนักศึกษาพยาบาล Aino University ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2550 วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้ปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังตามมติอนุมัติของคณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย วันที่ 11 กรกฎาคม 2550 เพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมศักยภาพของวิทยาลัยพยาบาลฯ ตามพันธกิจหลัก รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สภากาชาดไทยและสังคม มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง ริเริ่มการนำร่องโครงการสหกิจศึกษาในห้องผ่าตัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้ความร่วมมือกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ และพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา รวมทั้งเป็นปีที่วิทยาลัยพยาบาลฯ ได้รับรางวัล CU-Quality Prize ประจำปี 2550 จำนวน 2 รางวัล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กติดผู้ต้องขังในทัณฑสถาน ที่เป็นโครงการในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
พ.ศ. 2551 วิทยาลัยพยาบาลฯ ร่วมมือกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (การล้างไตทางช่องท้อง) ซึ่งเป็นโครงการของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ยังมีหลักสูตรออกแบบพิเศษระยะสั้นให้กับนักศึกษาพยาบาลญี่ปุ่น Japanese Red Cross Kyushu International College of Nursing รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาล จำนวน 3 ศูนย์ ในเดือนมิถุนายน 2551 ได้แก่ ศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์ศึกษาวิจัยทางการพยาบาลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
พ.ศ. 2553 ขยายการเปิดสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง อนุสาขาการจัดการความปวด หลักสูตรการผดุงครรภ์สำหรับพยาบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมทางการพยาบาล เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมทางการพยาบาลของนักศึกษาและอาจารย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนวัตกรรมทางการพยาบาลสำหรับนักศึกษา บุคลากรและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษากับเครือข่ายต่างประเทศ รวม 5 ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ สวีเดน
ตราสัญลักษณ์
เครื่องหมายของวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย มีลักษณะเป็นรูปอาร์ม พื้นสีขาว ขอบสีน้ำเงิน ตรงกลางมีพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ลงยาสีแดงครอบ ด้วยพระมหามงกุฎสีทอง มีเครื่องหมายกาชาดใต้พระปรมาภิไธย ภายในขอบสีน้ำเงินมีอักษรสีทอง ความว่า “วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย”
สวีแด ดอกไม้ประจำสถาบัน
สวีแด เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า “Gliricidia Sepium steud” มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางใบเป็นใบรวม เวลาออกดอกจะทิ้งใบเกือบหมดต้น ออกดอกปีละครั้งในฤดูหนาว ลักษณะคล้อยดอกโสนหรือดอกถั่วออกดอกเป็นช่อๆ มี 2 ชนิด คือ ชนิดดอกสีชมพูและดอกสีขาวดอกออกอยู่นานประมาณ 3 สัปดาห์ ดอกสามารถใช้รับประทานได้เช่นเดียวผักและสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายรูป แบบ คนทั่วไปเรียกว่า ดอกแคฝรั่งสวีแด…. มีความสัมพันธ์กับศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยทุกคน เพราะเป็นต้นไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำวิทยาลัยพยาบาลฯ ด้วยเหตุที่สวีแดให้ร่มเงา จะพลิ้วไหวดูอ่อนโยนเมื่อต้านลม ดอกสีขาวและชมพูบริสุทธิ์สวยงามและบานสะพรั่งทั้งต้นเมื่อใกล้เวลาที่จะมี การสอบปลายปี เป็นเครื่องเตือนใจให้พวกเราเตรียมตัวดูตำรา จนมีคำกล่าวว่า “เมื่อสวีแดบาน หมายถึงฤดูกาลสอบกำลังมาเยือน”สีประจำวิทยาลัยพยาบาลฯ “สีแดงชาด (นัมเบอร์ 25)”
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย : Red Cross College of Nursing
สถาปนา : 16 มิถุนายน พ.ศ. 2457
ประเภท : วิทยาลัย
เว็บไซต์ : http://www.trcn.ac.th/th/
Facebook : https://www.facebook.com/trcnursing
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.trcn.ac.th/th/