8 เหตุผลสำคัญ ที่เราไม่ควรพลาดการสอบ O-NET โดยเด็ดขาด

เสร็จสิ้นการสอบ GAT/PAT ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่น้อง ๆ อย่าลืมกันนะจ๊ะว่าเรายังเหลือการสอบอีกหนึ่งตัวในอาทิตย์ที่จะถึงนี้ นั่นก็คือ การสอบ O-NET ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสอบที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะการสอบ O-NET เป็นการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติขั้นพื้นฐาน ที่น้อง ๆ ทุกคนจะต้องเข้าสอบให้ครบทุกวิชา ไม่สามารถเลือกวิชาสอบเองได้ และไม่สามารถขาดสอบได้

O-NET สำคัญอย่างไร? ทำไมห้ามขาดสอบ…

เพราะน้อง ๆ แต่ละคนมีโอกาสในการสอบ O-NET กันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในระดับชั้น ม.6 (แต่ถ้าน้อง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องขาดสอบจริง ๆ จะต้องทำเรื่องขอสอบย้อนหลังไปที่ สทศ. และหลังจากนั้นทาง สทศ. จะทำการพิจารณาว่าจะมีการจัดสอบย้อนหลังให้กับน้องหรือไม่) และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีข้อมูลน่ารู้สำหรับน้อง ๆ ม.6 ว่าคะแนนที่ได้จากการสอบ O-NET นั้น มีความสำคัญต่อการสมัครเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง?

1. O-NET สอบได้ครั้งเดียว

อย่างที่เราได้กล่าวมาในข้างต้นว่า การสอบ O-NET นั้นน้อง ๆ สามารถทำการทดสอบได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถเลือกวิชาสอบเองได้ จะต้องเข้าสอบให้ครบทุกวิชาที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ ซึ่งมีความแตกต่างกับการสอบ GAT/PAT, วิชาสามัญ 9 วิชา ที่น้อง ๆ สามารถสมัครสอบได้เรื่อย ๆ หากไม่ทันในปีนี้ ปีถัดไปก็สามารถสมัครสอบใหม่ได้ และยังสามารถเลือกวิชาที่ต้องการสอบได้เอง อีกด้วย และอีกหนึ่งความแตกต่างก็คือ คะแนนสอบ O-NET จะอยู่ติดตัวกับน้อง ๆ ไปตลอดชีวิต ส่วนคะแนนสอบ GAT/PAT, วิชาสามัญ 9 วิชา นั้นมีวันหมดอายุ เมื่อหมดอายุแล้วหากเราต้องการใช้คะแนนก็ต้องสมัครสอบใหม่

2. คะแนน O-NET ใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย

อย่างที่เรารู้กันดีว่าการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น จะต้องสมัครสอบผ่านระบบ TCAS โดยมีทั้งหมด 5 รอบด้วยกัน และถึงแม้ว่าการสมัครสอบ TCAS ในรอบที่ 1 และ 2 จะไม่ใช้คะแนนสอบ O-NET แต่น้อง ๆ อย่าลืมนะว่าตั้งแต่ TCAS รอบที่ 3 ถึง รอบที่ 5 มีการนำคะแนน O-NET มาใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาสมัครเข้าเรียนต่อในแต่ละคณะ/สาขาวิชาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ (ทั้งนี้สัดส่วนคะแนนที่ใช้อาจจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยเป็นคนกำหนด) นอจากนี้ น้อง ๆ คนไหนที่ต้องการซิ่วในอนาคตคะแนนส่วนนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันอาจจะต้องนำมาใช้ได้ในอนาคต

3. กสพท ใช้คะแนน O-NET ด้วยนะ

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะเข้าเรียนต่อด้านแพทยศาสตร์ คะแนน O-NET ก็มีความสำคัญไม่แพ้คะแนนวิชาคนัดทางแพทย์เลย เพราะทาง กสพท ได้มีการกำหนดคะแนนทั้ง 5 วิชาของ O-NET ว่าน้อง ๆ จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60% ถ้าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้จะถูกตัดสิทธิ์โดยอัตโนมัติ

O-NET คืออะไร? สอบไปทำไม? ใครต้องสอบบ้าง?

Link : seeme.me/ch/tutormeofficial/9wea7O

4. รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน (+ กสพท)

TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน (+กสพท) จะเป็นรอบที่แต่ละคณะ/สาขาวิชา หรือมหาวิทยาลัย ในบางโครงการกำหนดคะแนน O-NET ขั้นต่ำไว้ด้วย ถ้าน้อง ๆ มีคะแนนสอบ O-NET ไม่ถึงก็ไม่สามารสมัครเข้าศึกษาต่อได้ เพราะขาดคุณสมบัติที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดเอาไว้ ดังนั้นน้อง ๆ ไม่ควรที่จะลืมดูคะแนนขั้นต่ำของแต่ละคณะ/สาขาวิชาด้วยนะ จะได้ไม่พลาดกันจ๊ะ

5. รอบที่ 4 แอดมิชชัน

ส่วนในรอบที่ 4 แอดมิชชัน นอกจากน้อง ๆ จะต้องใช้คะแนนสอบ GAT/PAT, ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) แล้วนั้น น้อง ๆ ยังจะต้องใช้คะแนน O-NET ด้วย เพราะในรอบแอดมิชชันต้องใช้คะแนน O-NET ถึง 30% หรือประมาณ 9,000 คะแนน ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ทำคะแนนในส่วนนี้ของ O-NET ไม่ดี ก็อาจจะมีผลทำให้เราแอดมิชชันไม่ติดได้นะ

6. รอบที่ 5 รับตรงอิสระ

TCAS รอบที่ 5 รับตรงอิสระ จะเป็นรอบที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครเอง โดยในบางโครงการที่เปิดรับสมัครนอกจากจะมีการใช้คะแนน ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX), GAT/PAT, วิชาสามัญ 9 วิชา ก็อาจจะมีการใช้คะแนน O-NET ด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนคะแนนที่ใช้หรือเกณฑ์คะแนนที่ใช้จะขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ/สาขาวิชาหรือมหาวิทยาลัยเป็นคนกำหนดเอง ดังนั้นน้อง ๆ ควรเข้าไปดูรายละเอียดเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาของแต่ละมหาวิทยาลัยเสียก่อนทำการสมัคร จะได้ไม่สมัครพลาดกกันนะ

7. ใช้รายงานตัวกับมหาวิทยาลัย (บางแห่ง)

ถึงแม้ว่าน้อง ๆ จะผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้เข้าศึกษต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ในวันรายงานตัวบางมหาวิทยาลัยได้มีการกำหนดให้น้อง ๆ ที่จะเข้าศึกษาจะต้องมีผลการสอบ O-NET ในวันที่ไปรายงานตัวมาให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วย หากน้อง ๆ ไม่มีคะแนน O-NET อาจจะทำให้พลาดการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้

8. คะแนน O-NET มีผลต่อคุณภาพโรงเรียน

นอกจากคะแนน O-NET จะใช้ในสมัครเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยของน้อง ๆ ม.6 แล้ว ยังนำมาใช้ประเมินคุณภาพของโรงเรียน อีกด้วย สำหรับโรงเรียนที่มีผลคะแนนสอบดีจะได้รับโควตาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้กับนักเรียนที่มีผลคะแนนสอบดีใน 100 อันดับแรก (ไม่ได้เป็นทุกมหาวิทยาลัยนะจ๊ะที่จะมีโควตามอบให้กับนักเรียนเข้าเรียนต่อที่สถาบันของตนเอง) และยังเป็นการใช้จัดอันดับโรงเรียนในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ว่าในแต่ละปีมีความเปลี่ยนแปลงอันดับในทิศทางไหนกันบ้าง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ O-NET ได้ที่เว็บไซต์ : www.niets.or.th

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง