คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตร พ.บ. – วศ. ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) คือหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ผสมผสานระหว่าง 2 หลักสูตร ที่เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล มุ่งเน้นสร้างแพทย์นวัตกร มีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต ใช้เวลาเรียน 7 ปี เรียนจบแล้วได้สองใบปริญญา ป.ตรีและ ป.โท สำหรับคนที่สนใจอ่านรายละเอียดกันต่อได้เลยค่ะ
“วิศวกรรมชีวการแพทย์” เรียน 7 ปี เป็นแพทย์ที่มีระบบความคิดแบบวิศวะ
ในปัจจุบันงานวิจัยและวิทยาการต่างๆ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาททางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การสร้างภาพทางการแพทย์ (CT-scan, MRI, PET), หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, อุปกรณ์แขน-ขาเทียม เป็นต้น
ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททางการแพทย์ ทำให้กระบวนการทำงานของแพทย์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นอกจากจะต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ที่ดีแล้ว ยังต้องมีความรู้และความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
หลักสูตร พ.บ. – วศ. ม. ที่แรกและที่เดียวที่เปิดสอนในไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแนวคิดสร้างหลักสูตรร่วมกันระหว่างแพทยศาสตร์บัณฑิตและวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ภายใต้โครงการร่วม 2 หลักสูตร พ.บ. – วศ. ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) เพื่อที่จะสร้างแพทย์นวัตกร ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์กับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและให้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยปลูกฝังความเป็นนักวิจัยและนวัตกรให้แก่นักศึกษาแพทย์ทั้งในด้านของกระบวนการคิด ทักษะ และความสามารถทางการวิจัย
มีหลักสูตรในลักษณะเดียวกันนี้อยู่แล้ว ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Duke University, TEXAS A&M University, Stanford University และ ase Western Reserve University เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่แรกและที่เดียวที่เปิดสอนหลักสูตรนี้
รูปแบบการเรียน เรียน 7 ปี แบบ 3 + 1 + 3 – ได้ปริญญาสองใบ
การเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมชีวการแพทย์ ส่วนใหญ่มีลักษณะแบบ Problem Based Learning (PBL) โดยเน้นการทำ Class Project เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการลงมือจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการทำงานวิจัย เกิดกระบวนการคิดการแก้ปัญหาร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน และสามารถเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ ได้อย่างดี ระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 7 ปี แบ่งช่วงปีการศึกษาในลักษณะ 3 + 1 + 3 ปี
ภาพ: med.mahidol.ac.th
– ปีที่ 1 – 3 มีการเรียนการสอนทางด้านพรีคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ
– ปีที่ 4 จะเป็นช่วงของการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมและลงมือพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรม
– ปีที่ 5 – 7 จึงกลับมาเรียนชั้นคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ พร้อมทั้งทดลองและต่อยอดนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน
โดยจัดให้มีการเรียนการสอนความรู้ทางด้านคลินิก และยังคงดำเนินงานวิจัยของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ หรือต่อยอดงานวิจัยในชั้นคลินิกอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัยนวัตกรรม การตีพิมพ์ผลงานผ่านการทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้การดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหลักในการจบการศึกษาในหลักสูตร สำหรับแนวทางการทำวิทยานิพนธ์ ผู้เรียนสามารถเลือกแนวทางการทำวิจัยในด้านต่างๆ ได้แก่
ภาพ: med.mahidol.ac.th
เมื่อจบการศึกษาตลอดโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 6 ปี และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต 1 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรทั้งสอง จะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
สมัครเข้าเรียนต้องทำอย่างไร?
รับสมัครโดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio ของ ทปอ. และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple Mini Interview (MMI) คือ การสัมภาษณ์แบบหลายช่องทาง โดยส่วนมากจะใช้สำหรับการคัดเลือกในระดับมหาวิทยาลัยของหลักสูตรแพทย์ในต่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประเมินว่าผู้สมัครเรียนจะโต้ตอบกับผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานอย่างไรในฐานะแพทย์
จำนวนการรับนักศึกษาต่อปีการศึกษา?
รับนักศึกษาจำนวน 20 คนต่อปีการศึกษา โดยเป็นการรับตรงในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และมีการรับนักศึกษาแยกจากหลักสูตรแพทย์ปกติอย่างชัดเจน
เรียนที่ไหนบ้าง ?
– ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
– ชั้นปี่ที่ 2 – 3 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
– ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
– ชั้นปีที่ 5 – 6 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี
– ชั้นปีที่ 7 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลสมทบ
ค่าเล่าเรียน แตกต่างกับหลักสูตรแพทย์ปกติ หรือไม่?
ปกติค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียนเรียนตลอดหลักสูตรประมาณของการเรียนคณะแพทย์ศาสตร์คือ 120,000 บาท (อ้างอิงราคาจาก med.mahidol) การเรียนหลักสูตร พ.บ. – วศ. ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) มีค่าลงทะเบียนเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ประมาณ 200,000 บาท
จบไปทำงานอะไรได้บ้าง ?
– แพทย์ที่เป็นได้มากกว่าแพทย์ มองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรม มีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น
– แพทย์นวัตกร เป็นแพทย์ที่ได้รับการปูพื้นฐานพร้อมที่จะต่อยอดเพื่อพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์
– แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โอกาสที่จะได้รับเลือกให้เรียนต่อเฉพาะทางหรือหลักสูตรปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศมีสูงขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเป็นพื้นฐาน