วันที่ 18 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงเปลี่ยนระบบ TCAS ปี 2566 ด้วยการปรับรายวิชาสอบไม่ให้ซ้ำซ้อน และเนื้อหาการสอบวัดความรู้วิชาการ จะไม่เกินหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด
TCAS66 – ปฏิทินสอบ TGAT/TPAT และ A-LEVEL
โดยจะมีการปรับทดสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT) ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และวิชาสามัญ จัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น TGAT/TPAT และ A-Level รวมถึงแยกการสอบออกเป็น 2 ช่วง เพื่อลดการกระจุกตัวของการสอบ
สำหรับ TGAT/TPAT จะรับสมัครเดือนพฤศจิกายน 2565 สอบเดือนธันวาคม 2565
และการสอบ A-Level จะสมัครช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สอบเดือนมีนาคม 2566
ปฏิทินการสอบ TGAT/TPAT ปีการศึกษา 2566
สรุปปฏิทินการจัดสอบ TGAT/TPAT และ A-Level
ปฏิทินสอบ TGAT/TPAT
ตารางสอบ TGAT/TPAT ปีการศึกษา 2566 เลือกสอบได้ 2 ช่องทาง คือ 1.กระดาษ 2.เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสอบพร้อมกัน วัน เวลาเดียวกัน ต้องเลือกสนามสอบแบบเรียงลำดับ 5 ลำดับ
เดือนกันยายน 2565 สมัครสอบ วิชา TPAT1 (กสพท.)
- 1-10 พฤศจิกายน 2565 สมัครสอบวิชา TGAT/TPAT อื่น ๆ เลือกสอบด้วยกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ตามความสมัครใจ
- 11-20 พฤศจิกายน 2565 เปิดรับสมัครสอบเพิ่มเติม ในกรณีสนามสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ยังมีที่ว่าง
- 24 พฤศจิกายน -12 ธันวาคม 2565 พิมพ์บัตรที่นั่งสอบรายวิชา TGAT/TPAT
- 10-12 ธันวาคม 2565 สอบ TGAT/TPAT
- 17 ธันวาคม 2565 สอบ TPAT1 (กสพท.)
- 15 ธันวาคม 2565 ประกาศผลคะแนนสอบ (สอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์)
- 7 มกราคม 2566 ประกาศผลคะแนนสอบ (สอบกระดาษ)
- 8-15 มกราคม 2566 ขอทบทวนผลคะแนนสอบ TGAT/TPAT (สอบด้วยกระดาษ)
เดือนมกราคม 2566 ประกาศผล TPAT1 (กสพท.)
ปฏิทินการสอบ A-Level ปีการศึกษา 2566
การสอบ A-Level ปีการศึกษา 2565 เป็นการสอบด้วยกระดาษเท่านั้น โดยเลือกสนามสอบแบบเรียงลำดับ 5 ลำดับ
- 1-10 กุมภาพันธ์ 2566 สมัครสอบรายวิชา A-Level
- 24 กุมภาพันธ์ 2566 พิมพ์บัตรที่นั่งสอบรายวิชา A-Level
- 18 มีนาคม 2566 จัดสอบรายวิชาชีววิทยา ฟิสิกส์ ภาษาไทย สังคมศึกษา
- 19 มีนาคม 2566 จัดสอบรายวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 ภาษาอังกฤษ
- 20 มีนาคม 2566 จัดสอบรายวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาจีน ภาษาบาลี
- 25-31 มีนาคม 2566 จัดสอบวิชาเฉพาะเพิ่มเติมที่ไม่มีหน่วยงานใดจัดสอบให้
- 17 เมษายน 2566 ประกาศผลคะแนนสอบ A-Level
- 18-25 เมษายน 2566 ขอทบทวนผลคะแนนสอบรายวิชา A-Level
ปฏิทินการคัดเลือก
นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบ TCAS กล่าวว่า สำหรับปฏิทินการคัดเลือก ยังคงไว้ 4 รอบเช่นเดิม ได้แก่ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควตา รอบที่ 3 แอดมิชชั่น และรอบที่ 4 รอบรับตรงอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยผู้สมัครต้องลงทะเบียนใช้งาน ระบบ TCAS66 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และรอบที่ 2 โควตา เป็นมหาวิทยาลัยกำหนดวันรับสมัคร รอบ 3 แอดมิชชั่น สมัครวันที่ 1-10 พฤษภาคม 2566 รอบที่ 4 รับตรงอิสระ รับสมัครวันที่ 24 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2566
ปฏิทิน TCAS66
ลงทะเบียนใช้งานระบบ TCAS66
การเปลี่ยนแปลง TCAS66 ที่สำคัญ
การเปลี่ยนแปลงของ TCAS ปี การศึกษา 2566 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้ ปรับรายวิชาสอบไม่ให้ซ้ำซ้อนและเนื้อหาการสอบวัดความรู้วิชาการจะไม่เกินหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด โดยจะการปรับทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และวิชาสามัญ มาเป็นการสอบ 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ วัดความถนัดทั่วไป
กลุ่มที่ 1 คือ วัดความถนัดทั่วไป ที่ไม่เน้นความรู้เชิงวิชาการ คือ ความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ TGAT) ซึ่งก็คือ การสอบวิชา GAT ที่จากเดิมจะสอบวัดความรู้ 2 ส่วน จะเพิ่มเป็นการวัดความรู้ 3 ส่วน คือ การสื่อสารภาษาอังกฤษ, การคิดอย่างมีเหตุผล และ สมรรถนะการทำงาน ซึ่งจะให้เวลาการสอบ 3 ชั่วโมง และจะแจกข้อสอบทั้ง 3 ส่วน ดังนั้น ผู้เข้าสอบต้องบริหารเวลาในการจัดทำข้อสอบเอง และ การวัดความถนัดวิชาชีพ (Professional Aptitude Test หรือ TPAT) ประกอบด้วย การสอบในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ โดยการสอบ TGAT/TPAT มีวิชาสอบจำนวน 6 วิชา เลือกสอบได้สุงสุด 6 วิชา
กลุ่มที่ 2 คือ วัดความรู้เชิงวิชาการ
นายชาลี กล่าวต่อว่า และ กลุ่มที่ 2 คือ วัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level หรือ A-Level) ไม่สอบเนื้อหาความรู้เชิงวิชาการที่เกินหลักสูตร จะเป็นการวัดความรู้เชิงประยุกต์ หรือการสอบวิชาสามัญ เดิมสอบ 9 วิชา แต่เปลี่ยนโดยเพิ่มจำนวนวิชาสอบ 15 วิชา คือ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ
ซึ่งการสอบในปีการศึกษา 2566 นี้จะไม่มีการสอบ ภาษาอาหรับแล้ว เนื่องจากมีจำนวนผู้เข้าสอบน้อยมาก โดยผู้สอบสามารถเลือกสอบได้สูงสุด 10 วิชา โดยการสอบ A-Level จะเน้นการนำความรู้เชิงวิชาการที่เรียนในหลักสูตรไปประยุกต์ใช้งาน ส่วนทีมพัฒนาข้อสอบ มาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น กสพท เป็นผู้พัฒนาข้อสอบ TPAT1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาข้อสอบ TGAT,TPAT2 และTPAT3 เป็นต้น
การสอบแยกเป็น 2 ช่วง
นายชาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสอบ TGAT/TPAT และ A-Level จะแยก 2 ช่วง เพื่อลดการกระจุกตัวของการสอบในช่วงเดียวกัน การสอบ TGAT/TPAT จะสอบในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และการสอบ A-Level จะสอบในเดือนมีนาคม 2566
อย่างไรก็ตาม การสอบTGAT/TPAT ผู้สอบสามารถเลือกการสอบได้ตามความสมัครใจ ว่าจะสอบด้วยกระดาษ ที่จะใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ หรือจะสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จะใช้มหาวิทยาลัยของ ทปอ.เป็นสนามสอบ ยกเว้นการสอบ TPAT 1 ของ กสพท.ที่จะต้องสอบด้วยกระดาษเหมือนเดิม โดยจะคิดค่าสมัครสอบเท่ากัน วิชาละ 140 บาท ส่วนการสอบ A-Level เป็นการสอบด้วยกระดาษเท่านั้น ค่าสมัครสอบวิชาละ 100 บาท ซึ่งคะแนนสอบ TGAT-TPAT สามารถใช้ในการคัดเลือกรอบแฟ้มสะสมผลงานได้
“เดิมการสอบทีแคส ปี 2566 ทปอ.วางแผนว่าจะใช้การสอบด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แต่มีข้อเรียกร้อง และข้อหว่งใยในการดำเนินการ ซึ่งประเด็นหลังนี้ ทปอ.นำมาพิจารณา จึงมีมติว่าทุกการเปลี่ยนผ่านต้องค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เด็กคุ้นเคย ดังนั้น ในการสอบ TCAS 2566 จะมีการนำร่องการสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะจัดสอบในวิชา TGAT/TPAT โดยผู้เข้าสอบสามารถเลือกสอบด้วยความสมัครใจ ว่าจะสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจะสอบด้วยกระดาษ ซึ่งการสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จะมีข้อดีคือผู้สอบจะทราบผลคะแนนเร็ว โดยจะทราบผล 3 วันหลังจากสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ ซึ่งต่างจากการสอบปกติที่ต้องรอผลสอบนานถึง 1 เดือน” นายชาลี กล่าว
ระบบการสอบ
นายชาลี กล่าวต่อว่า ระบบการสอบจะเป็นเหมือนกับการสอบ PISA สอบด้วยข้อสอบและวัน-เวลาเดียวกับการสอบด้วยกระดาษ ทั้งนี้ ทปอ.จะมีการประชาสัมพันธ์ระบบสอบรูปแบบใหม่ผ่านคลิปวิดีโอ และแสดงการทดสอบระบบให้ผู้สมัครสอบเข้าใจล่วงหน้าด้วย
การสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นระบบที่มีการทดสอบมาแล้วว่า สามารถใช้ในการสอบแข่งขันได้แน่นอน ระบบจะแจ้งเตือนว่าผู้สอบไม่ได้ทำข้อไหนบ้าง แม้ระบบอินเทอร์เน็ตจะล่ม หรือไฟดับ ก็สามารถสอบต่อได้ เพราะมีการอัปโหลดข้อมูลลงในเซิฟเวอร์ทันทีข้อมูลจะถูกเก็บไว้ที่เครื่องสอบ เมื่อไหร่ที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้วก็สามารถสอบต่อได้ทันที ในกรณีที่ไฟดับ ทางสนามสอบจะทดเวลาสอบให้ด้วย ถ้าการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ได้ผลตอบรับที่ดี ก็จะขยายสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในปีถัดไปให้มากขึ้น การสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์นั้น ทปอ.มีการป้องกันข้อสอบรั่วถึง 3 ขั้นตอน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะมีข้อสอบรั่ว
ข้อมูลเพิ่มเติม www.mytcas.com/news/announcement-211 , www.prachachat.net/education/news-911944 , www.matichon.co.th/education/news_3293819 , thethaiger.com/th/news/558887/