สรุป 6 ประเด็น TCAS66 เปลี่ยนระบบสอบ – เปิดรับสมัครสอบ 1 พ.ย. 65

วันที่ 21 สิงหาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดแถลงข่าว ระบบการคัดเลือกกลางคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2566 หรือทีแคส 66 ซึ่งจะเริ่มเปิดระบบรับสมัครสอบ ในวันที่ 1 พ.ย.65 นี้เป็นต้นไป พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงระบบสอบ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

สรุป TCAS66 เปลี่ยนระบบสอบ

3 มติ ปรับระบบทีแคสปี 2566

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติปรับการดำเนินการระบบ TCAS ปี 2566 อยู่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ระบบการจัดสอบ TGAT และTPAT เพื่อลดความซ้ำซ้อนของรายวิชาสอบ

2. กำหนดให้แยกการสอบออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ การสอบ TGAT และTPAT สอบ ธ.ค.65 ส่วนการสอบ A-Level จะสอบเดือน มี.ค.66

3.ระบบการคัดเลือก TCAS66 มีเรื่องการปรับเพิ่มให้มีการสละสิทธิรอบ 3 เพื่อให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักเรียน

แบ่งสอบ 2 ช่วงลดภาระเด็ก

ด้านนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส 66 กล่าวเสริมว่า การแบ่งการสอบออกเป็น 2 ช่วงนั้น เนื่องจากการสอบ TGAT และ TPAT เป็นการสอบเนื้อหาไม่เกี่ยวกับวิชาการ จึงให้สอบเดือน ธ.ค.65 ส่วนการสอบ A-Level เป็นการสอบเนื้อหาในหลักสูตร จึงจัดสอบเดือน มี.ค.66 หลังจากที่เด็กเรียนจบแล้ว

รูปแบบการสอบ

ส่วนรูปแบบการสอบ จะสอบทั้งแบบคอมพิวเตอร์และสอบแบบกระดาษ ยกเว้น TPAT1 ซึ่งเป็นการสอบของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) จะจัดสอบด้วยกระดาษทั้งหมด ส่วน TGAT และ TPAT 2-5 จะสอบทั้งคอมพิวเตอร์และกระดาษ นักเรียนสามารถเลือกแบบสอบแบบใดก็ได้

ค่าสมัครสอบรอบ 3 – การเทียบโอน

สำหรับค่าสมัครสอบรอบ 3 ที่ประชุม ทปอ.เห็นชอบให้กลับไปใช้อัตราที่ใช้เมื่อปี 2564 คือเริ่มที่ 150-900 บาท ขึ้นกับจำนวนอันดับที่นักเรียนเลือก นอกจากนี้ ทปอ. ยังมีมติเห็นชอบการเทียบวุฒิ ม.6 สำหรับผู้เรียนสายวิชาชีพจากต่างประเทศ ให้สามารถเทียบโอนเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยได้

ปรับรายวิชาสอบลดซ้ำซ้อน

ส่วนนายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS66 กล่าวว่า สำหรับทีแคส66 ยังคงรอบการสมัคร 4 รอบ และมีรูปแบบการสมัคร 4 รูปแบบ คือ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 แอดมิสชั่น และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ (Direct Admission)

6 ประเด็น การเปลี่ยนแปลงด้านการสอบ

ส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านการสอบ มีการเปลี่ยนแปลง 6 ประเด็น ดังนี้

1.ปรับรายวิชาสอบใหม่ โดยใช้รูปแบบการสอบใหม่ คือการสอบ TGAT แบ่งการสอบ 3 ส่วน คือ English Communication, Critical & Logical Thinking Part และWorking Competencies, TPAT 5 วิชา คือ TPAT1 วิชาเฉพาะของ กสพท, TPAT2 ศิลปกรรมศาสตร์, TPAT3 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์, TPAT4 สถาปัตยกรรมศาสตร์ และTPAT5 ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

และ A-Level 16 วิชา คือคณิตพื้นฐานประยุกต์1, คณิตศาสตร์ประยุกต์2, วิทยาศาสตร์ประยุกต์,ฟิสิกส์,เคมี,ชวีวิทยา, ภาษาไทย,สังคมศาสตร์,ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศ 7 ภาษา

2.การประกาศคะแนนสอบ ปีนี้จะมีการประกาศคะแนนสอบแยกรายส่วนย่อยด้วย ได้แก่วิชา TGAT และ TPAT2

3.การสอบ A-Level วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 จัดสอบสองวิชาและสอบคนละเวลากัน เพื่อให้ผู้สมัครสามารถสอบได้ทั้ง 2 พร้อมกับยกเลิกการสอบ วิชาภาษาอาหรับ

4.แยกการสอบ 2 ช่วง ช่วงแรก สอบ TGAT/TPAT เดือนธ.ค.65 และช่วงที่สอง สอบวิชา A-Level เดือนมี.ค.เพื่อลดภาระการสอบให้นักเรียนจากเดิมที่การสอบจะกระจุกตัวเดือน มี.ค.เท่านั้น

5.การสอบ TGAT/TPAT2-4 มีทั้งแบบสอบด้วยคอมพิวเตอร์ และกระดาษค่าสมัครสอบเท่ากัน แต่การสอบผ่านคอมพิมเตอร์ มีข้อดีคือลดความผิดพลาดในเรื่องของการฝนกระดาษผิด หรือกระดาษข้อสอบหาย และทราบคะแนนเร็วกว่าการสอบผ่านทางกระดาษ โดยจะประกาศผลภายในสามวันหลังจากสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ

6.ผลสอบวิชา TGAT/TPAT สามารถใช้ประกอบการพิจารณาในรอบที่ 1 และ 2 ได้ ถือเป็นโอกาสที่จะให้นักเรียนแสดงความสามารถ ผ่านการสอบเพื่อส่งให้มหาวิทยาลัยพิจารณาได้

ปฏิทินสอบเริ่ม 1 พ.ย.

นายชาลี กล่าวต่อว่า การสอบครั้งนี้ ผู้สมัครเลือกสอบด้วยกระดาษหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะทำการสอบพร้อมกัน วันและเวลาเดียวกัน สามารถเลือกสนามสอบแบบเรียงลำดับ 5 ลำดับได้ โดยจะรับสมัครสอบ 1-10 พ.ย.65 รับสมัครสอบเพิ่มเติม กรณีที่นั่งสอบด้วยคอมพิวเตอร์ว่าง 14-20 พ.ย.65

วันที่ 24 พ.ย. – 12 ธ.ค.65 พิมพ์บัตรที่นั่งสอบ วันที่ 10-12 ธ.ค.65 สอบ TGAT และ TPAT2-5 ส่วนการสอบ TPAT1 เป็นวิชาเฉพาะของ กสพท จะสอบ 17 ธ.ค.65 โดยจะสอบด้วยกระดาษทั้งหมด ส่วนปฏิทินการสอบ A-Level ยังคงปฏิทินเดิมไว้อยู่

เงื่อนไขสละสิทธิ

สำหรับการสละสิทธิทีแคส66 กำหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกที่ได้ยืนยันสิทธิในระบบแล้ว ต้องสละสิทธิผ่านระบบเท่านั้น จึงจะถือว่าการสละสิทธิมีความสมบูรณ์ สามารถใช้สิทธิสมัครในรอบต่อไป ตามข้อกำหนดได้ โดยระบบกำหนดให้สละสิทธิได้เพียง 1 ครั้ง เพื่อสมัครรอบต่อไปได้

ทั้งนี้ในรอบที่ 3 ผู้ที่ยืนยันสิทธิรอบ 3 และไม่เคยสละสิทธิมาก่อน สามารถสละสิทธิในรอบที่ 3 เพราะรอบที่ 3 เดิมที ทปอ.จะเปิดให้มีการยืนยันสิทธิหลังจากประกาศผลครั้งที่ 1 หากผู้สมัครขอยื่นประมวลผลครั้งที่ 2 หากผู้สมัครติดสาขาใดสาขาหนึ่งที่เลือก ระบบจะทำการยืนยันสิทธิให้อัตโนมัติ

ซึ่งการยืนยันสิทธิอัตโนมัติ หลายคนมองว่าเป็นข้อจำกัด เพราะผู้สมัครไม่ทราบล่วงหน้า ทปอ.จึงเปิดโอกาสให้สละสิทธิในรอบดังกล่าวได้ด้วย โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือผู้สมัครจะต้องไม่เคยสละสิทธิในรอบก่อนหน้านี้

ข้อกำหนดเพิ่มเติมของผู้ยืนยันสิทธิ

โดยนายชาลี กล่าวต่อว่าทั้งนี้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมของผู้ยืนยันสิทธิ แล้วสละสิทธิในระบบ (ยกเว้นมหาวิทยาลัยเอกชน) มีดังนี้

  1. ผู้ยืนยันสิทธิในสาขาแพทยศาสตร์ รอบที่ 1-2 แล้วสละสิทธิ จะไม่สามารถสมัครสาขาแพทยศาสตร์ในรอบต่อไปได้
  2. ผู้ยืนยันสิทธิในสาขาทันตแพทยศาสตร์แล้วสละสิทธิ จะไม่สามารถสมัครสาขาทันตแพทยศาสตร์ในรอบต่อไปได้
  3. และผู้ยืนยันสิทธิในสาขาเภสัชศาสตร์แล้วสละสิทธิ จะไม่สามารถสมัครสาขาเภสัชศาสตร์ในรอบต่อไปได้

“จากปีที่ผ่านมา ทปอ.มีประเด็นเรื่องการพิมพ์ข้อสอบผิด และเฉลยข้อสอบผิด ดังนั้น ทปอ.จะปรับปรุงเรื่องดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามปีที่ผ่านมา ทปอ. พบว่ามีผู้เข้าสอบการนำอุปกรณ์ไฮเทค เข้ามาในห้องสอบ จนข้อสอบรั่ว อีกทั้งในปีนี้จะมีการสอบผ่านคอมพิวเตอร์และกระดาษ ทปอ.จะมีระบบป้องกันที่แน่นหนา มีกระบวนการป้องกันการลอกข้อสอบ ส่วนการสอบผ่านกระดาษ ปีนี้ ทปอ. จะอบรมผู้คุมสอบให้มากขึ้น เช่น นำตัวอย่างอุปกรณ์มาให้ดู พร้อมกับอบรมให้ผู้คุมสอบสังเกตุพฤติกรรมที่น่าสงสัย เป็นต้น”

ที่มา www.prachachat.net/education/news-1021724 , www.mytcas.com , www.facebook.com/CUPTmytcas/ , https://tcas.in.th

UPDATE TCAS66 ล่าสุด: ปฏิทินการสอบ TGAT/TPAT และ A-Level และ ปฏิทินการคัดเลือก 4 รอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง