“วสุกานต์” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ. ระบุภาคการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการเติบโตสูง ต้องการแรงงานจำนวนมาก เร่งสร้างความเชื่อมั่น เรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติจริง จบสาขานี้ทำงานได้หลากหลาย พร้อมปลูกฝัง DNA รู้จักตัวเอง พัฒนาจุดแข็ง มีservice mind บริการด้วยใจ มีความรับผิดชอบ มีบุคลิกภาพที่ดี ทำงานได้จริง ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ
คณะท่องเที่ยวฯ มธบ. เร่งปั้น นศ.
ป้อนภาคธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม ขาดแคลนหนักหลังโควิด-19
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองความคิดของผู้คน ผู้ประกอบการในธุรกิจแตกต่างไปจากเดิม
โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการเอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร้านค้า ซัพพลายเชน และแรงงาน ล้วนรู้สึกหวาดหวั่นและวิตกกังวลในการดำรงอาชีพอยู่ในภาคธุรกิจดังกล่าว ซึ่งทุกประเทศได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพียงแต่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ ถือเป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศ
“ประเทศไทย เป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ให้ความสนใจและอยากมาท่องเที่ยว เพราะเรามีความได้เปรียบทั้งด้านการเดินทาง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการบริการ ความเป็นมิตรมีน้ำใจของคนไทย
ซึ่งคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ.ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีการผลิตบัณฑิต บุคลากร แรงงานด้านการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน จะต้องทำให้นักศึกษา และผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในสายอาชีพการท่องเที่ยว โรงแรม และบริการ ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียนในคณะนี้ ไม่ใช่จบมาแล้วจะทำเพียงในโรงแรม สายการท่องเที่ยว หรือทำอาหาร เป็นเชฟเท่านั้น แต่สามารถทำงานได้หลากหลาย” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ. กล่าว
นางวสุกานต์ กล่าวต่อว่า การจัดการเรียนการสอน หลักสูตรของคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ. จะเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติจริงจากสถานที่จริง ผู้ประกอบการจริง เพราะถ้านักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอจะทำให้พวกเขาเกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญ อีกทั้งบัณฑิตที่จบจากคณะสามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้ง ทำงานในโรงแรม wellness ซึ่งกำลังมีการเติบโต จัดอีเวนท์ เลขานุการ ผู้ช่วยส่วนตัว หรือทำงานในธุรกิจบริการ หรือหากเป็นเชฟ พ่อครัวแม่ครัวก็สามารถทำงานได้ที่ร้านอาหาร สร้างสรรค์เมนู หรือขายอาหารออนไลน์ได้ เป็นต้น
ดังนั้น นักศึกษาที่เรียนในคณะนี้ ต้องมีจิตบริการ รู้จักจุดแข็งของตัวเอง มีบุคลิกภาพที่ดี มีความรับผิดชอบ ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน แต่ต้องเสริมจุดแข็งของนักศึกษา และให้มีความชำนาญ มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี ทั้งเทียบโอนจาก ปวส. รวมทั้งหลักสูตรปริญญาโทการจัดการการท่องเที่ยวซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง
“หลังจากเข้ารับตำแหน่งคณบดี ได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งคณาจารย์ และนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาได้เสนอในสิ่งที่พวกเขาอยากได้จากคณาจารย์ มหาวิทยาลัย นั่นคือ การได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจากทั้งสถานที่จริง ได้ลงมือทำงานจริงๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ ตั้งแต่เข้าศึกษาปี 1 และต้องการให้เพิ่มเติมทักษะภาษาที่ 3 อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น เพราะเขามองว่าตอนนี้เศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียกำลังเติบโต และเป็นโอกาสในการทำงานของพวกเขา
ฉะนั้น DNA ของบัณฑิตคณะการท่องเที่ยวและโรงแรม ต้องรู้จักตัวเอง มี service mind บริการด้วยใจ ใครที่ได้พบเห็น ได้ทำงานร่วมกับบัณฑิตของมธบ.ต้องติดใจ อยากได้เข้าไปทำงานร่วม” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ. กล่าว
นางวสุกานต์ กล่าวด้วยว่า ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ มีสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง และบัณฑิตที่จบจากคณะนี้สามารถทำงานได้เกือบทุกภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกภาคอุตสาหกรรมล้วนต้องมีการบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง คณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มธบ.จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักศึกษา และผู้ปกครอง ว่าการมาเรียนในคณะ สาขาเหล่านี้จะมีอาชีพ มีรายได้ และมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน
นอกจากนั้น จะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่อมโยง บูรณาการเข้ากับหลายๆ คณะ และเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง เนื่องจาก มธบ.มีทั้งโรงแรม ศูนย์การแพทย์ด้านความสวยความงาม ซึ่งนักศึกษาในคณะสามารถไปทำงานได้จริง ได้ดูแลลูกค้าจริง ๆ รวมทั้งมีการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง อย่างในวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00-12.00 น. ทางคณะได้มีการเชิญ กะปอม มาสเตอร์เชฟ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ เพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากเชฟจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ กรมการจัดหางาน ได้ประมาณการว่า จะมีแรงงานที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 373,488 คน โดยแบ่งเป็น ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 48,453 คน หรือ 12.97% มัธยมศึกษาตอนปลาย 12,063 คน หรือ 3.23% ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 60,680 คน หรือ 16.25% ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 87,176 หรือ 23.34 % และปริญญาตรี 165,115 คน หรือ 44.21%
ขณะที่ในปี 2566 มีการประเมินว่า ประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 350,000-500,000 คน โดยส่วนใหญ่ เป็นความต้องการจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวโตแบบฉับพลัน ทำให้แรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วขาดแคลนเพิ่มไปอีก ดังนั้น การมาเรียนคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม หรืองานสายบริการ ท่องเที่ยวจะมีงานทำอย่างแน่นอน