จากบทความที่แล้ว แคมปัส-สตาร์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับ 10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่และดีที่สุดในเมืองไทย กันไปแล้ว มาถึงในบทความนี้ เราจะพาน้องๆ มาดูกันต่อกับ 10 อันดับโรงเรียนในฝันที่ใครๆ ต่างก็อยากที่จะเข้าศึกษาต่อกันมากที่สุด ซึ่งต้องขอบอกเลยว่า แต่ละโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่ดีเยี่ยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนครบครัน และยังเป็นโรงเรียนที่เข้ายากมากๆ อีกด้วย สำหรับน้องๆ คนไหนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาเหล่านี้ คงต้องตั้งใจอ่านหนังสือ ฝึกฝน ทำแบบฝึกหัด กันบ่อยๆ แล้ว ว่าแต่จะมีโรงเรียนไหนกันบ้าง? ตามมาดูกันได้เลย
10 อันดับ โรงเรียนในฝัน นักเรียนไทย
ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อมากที่สุด
1. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ชื่อภาษาอังกฤษ : Triam Udom Suksa School
ชื่อย่อ : ต.อ.
สัญลักษณ์ : ตราพระเกี้ยวเปล่งรัศมี
สีประจำโรงเรียน : สีชมพู
เว็บไซต์โรงเรียน : www.triamudom.ac.th
เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างสากลถือเป็น พ.ศ. 2481) โดยมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการท่านแรก
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อีกด้วย
ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีฐานะเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย 3 โรงเรียนด้วยกัน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน โดยนักเรียนของทั้ง 3 โรงเรียนนี้ จะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนโครงการเรียนล่วงหน้าของจุฬาฯ (CUAP Program) ในรายวิชาที่นักเรียนสนใจและมีความถนัดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่ริเริ่มขึ้นมาสำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
2. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ชื่อภาษาอังกฤษ : Suankularb Wittayalai School
ชื่อย่อ : ส.ก.
สัญลักษณ์ : ตราประจำโรงเรียนเป็นรูปหนังสือมีไม้บรรทัดดินสอปากกาคั่นอยู่ หน้าปกหนังสือมีพระเกี้ยวยอดหรือจุลมงกุฏ และอักษรย่อ จ.ป.ร. ด้านขวามีช่อดอกกุหลาบ มุมซ้ายล่างมีริบบิ้นผูกช่อดอกกุหลาบ ซึ่งมีตัวหนังสือกำกับว่า “โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ” ด้านบนปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ “สุวิชาโน ภวํ โหติ” ด้านล่างมีคำแปลว่า “ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ”
คติประจำใจ : เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง คือสุภาพบุรุษสวนกุหลาบวิทยาลัย
ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์
สีประจำโรงเรียน : สีชมพู-สีฟ้า โดยสีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสีฟ้าเป็นสีประจำวันพระราชสมภพใน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เว็บไซต์โรงเรียน : www.sk.ac.th
เป็นโรงเรียนชายล้วนในระดับชั้นมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2425 ปัจจุบันมีอายุ 135 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 7 หลัง ห้องเรียนทั้งหมด 78 ห้อง
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็น 1 ในกลุ่มโรงเรียนจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมของทั้ง 4 โรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในทุกๆ 2 ปี นอกจากการแข่งขันฟุตบอล ยังมี การแปรอักษร ของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของงาน โดยกีฬาจตุรมิตรสามัคคีจะจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี ที่สนามศุภชลาศัย นอกจากนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ และงานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ
นอกจากนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีชุมนุมและกิจกรรม ให้นักเรียนได้ทำกันอีกหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเด็กนักเรียน ด้วยความสมัครใจและสนใจในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้หรืออยากที่จะทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เช่น ชุมนุมลูกเสือ ชุมนุมวงดุริยางค์ ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร ชุมนุมประชาสัมพันธ์ ชุมนุมยูเนสโก ชุมนุมการละคร เป็นต้น
3. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bodindecha (Sing Singhaseni) School
ชื่อย่อ : บ.ด.
สัญลักษณ์ : พระเกี้ยว ตราประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ศิราภรณ์ประดับยอดศีรษะ” หรือ “จุลมงกุฎ” ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับ “มงกุฎ” พระปรมาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายว่า “พระจอมเกล้าน้อย” เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่าพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ จึงได้ใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์
ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกบัวนิลุบล
สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน
เว็บไซต์โรงเรียน : www.bodin.ac.th/home
เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพมหานคร ประเภทสหวิทยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2514 ตั้งอยู่บนที่ดิน จำนวน 39 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วตกทอดมาจนถึงคุณหญิงนครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) ผู้เป็นทายาทได้มอบที่ดินผืนนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อสืบสานปณิธานอันแน่วแน่ของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต้องการให้มีโรงเรียนสอนคน สร้างปัญญาและคุณธรรม โรงเรียนในกลุ่มบดินทรเดชา ประกอบด้วย 6 แห่งด้วย ได้แก่
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ
เมื่อปี พ.ศ. 2532 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้รับคัดเลือกให้เป็น “โรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่” ต่อมา พ.ศ. 2537 เป็นปี “กาญจนาภิเษก” ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงครองศิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี และเป็นปีที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 25 ปี ทายาทสกุลสิงหเสนี คณาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า จึงได้ร่วมใจสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยา บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรง ประกอบพีธีเปิดพิพิธภัณฑ์
4. โรงเรียนอัสสัมชัญ
ชื่อภาษาอังกฤษ : Assumption College
ชื่อย่อ : อสช, AC
สัญลักษณ์ : ตราโล่ คือ เครื่องป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง มีลักษณะ เป็นโลพื้น่สีแดงคาดสีขาวตรงกลาง มีตัวอักษร AC (AC ย่อมาจาก ASSUMPTION COLLEGE) สีน้ำเงินไขว้กันอยู่ตรงกลาง และตัวเลข 1885 คือ ปีคริสตศักราช ที่บาทหลวง เอมิล กอลมเบต์ ก่อตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการ และสีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่คนไทยทุกคนสามารถพลีชีพให้ได้
สีประจำโรงเรียน : “สีขาว-สีแดง” โดยที่สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีแดง หมายถึง ความกล้าหาญในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ
ธงประจำโรงเรียน : เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4 x 6 ส่วน มีสีพื้นแบ่งเป็นสามแถบเท่ากันตามแนวนอน โดยสีแดงอยู่แถบบนและล่าง สีขาวอยู่แถบกลาง และมีตัวอักษร AC สีน้ำเงินไขว้อยู่กลางผืนธง
เว็บไซต์โรงเรียน : www.assumption.ac.th
โรงเรียนอัสสัมชัญ ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2420 โดยบาทหลวง “เอมิล กอลมเบต์” ชาวฝรั่งเศส เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน) เปิดเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ” (Le Collège de L´Assomption) ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” โดยใช้อักษรย่อเป็น อสช หรือ AC ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
โดยที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แผนกประถม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเซนต์หลุยส์ 3 ถนนสาทรใต้ และแผนกมัธยม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ปัจจุบันโรงเรียนอัสสัมชัญมีอายุ 132 ปี เป็นโรงเรียนชายที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และเป็นโรงเรียนโรมันคาทอลิกแห่งแรกของประเทศไทย มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งคนที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญจะใช้คำว่า “อัสสัมชนิก”
5. โรงเรียนเทพศิรินทร์
ชื่อภาษาอังกฤษ : Debsirin School
ชื่อย่อ : ท.ศ., DS
สัญลักษณ์ :
- ภาพอาทิตย์อุทัยทอแสงบนพื้นน้ำทะเล หมายถึง ภาณุรังษี และวังบูรพาภิรมย์ โดยภาณุรังษีนี้ เป็นพระนามของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงประทานตรานี้ให้แก่โรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2467
- อักษรประดิษฐ์ “ม” หมายถึง หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาอันเป็นที่รักของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงหม่อมแม้น
- ช่อดอกรำเพย หมายถึง พระนามแห่งองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ศิริวงศ์” พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสร้างพระอารามและโรงเรียน เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบรมราชชนนี
สีประจำโรงเรียน : สีเขียว-สีเหลือง เป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ตามตำราพิชัยสงคราม (สวัสดิรักษา) ซึ่งวันพฤหัสบดีนั้นเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 อีกทั้งยังเป็นสีของใบและดอกของต้นรำเพย ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี คือ “พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์”
เว็บไซต์ โรงเรียน : www.debsirin.ac.th
เป็นโรงเรียนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งอยู่ เลขที่ 1466 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนเทพศิรินทร์ อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนประจำวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ก่อตั้งขึ้นใน 15 มีนาคม พ.ศ. 2428 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปัจจุบันโรงเรียนเทพศิรินทร์ มีอายุ 132 ปี นอกจากนี้โรงเรียนเทพศิรินทร์ยังประกอบด้วย โรงเรียนเครือข่ายที่มีคำนำหน้าว่า “เทพศิรินทร์” อีก 9 แห่ง ได้แก่
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ ร่มเกล้า
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ คลองสิบสาม ปทุมธานี
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ พุแค สระบุรี
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ ลาดหญ้า
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ ขอนแก่น
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมุทรปราการ
โรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเข้ารับการศึกษา คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นอกจากนี้ยังมีนักเรียนเก่าที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมากมาย ได้แก่ นายกรัฐมนตรีไทย 4 คน และยังรวมถึงนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งประเทศมาเลเซีย อีกด้วย
6. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bangkok Christian College
ชื่อย่อ : ก.ท, BCC
สีประจำโรงเรียน : สีม่วง-สีทอง
เว็บไซต์โรงเรียน : www.bcc.ac.th
เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ ได้รับกาสถาปนาขึ้น โดยคณะคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2395 เป็นโรงเรียนแห่งแรกในเครือสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 28 โรงเรียน กับ 2 มหาวิทยาลัย ปัจจุบันโรงเรียนมีอายุ 165 ปี เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นโรงเรียนโปรแตสแตนท์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในปัจจุบันที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งอยู่ เลขที่ 35 ถนนประมวญ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา ประกอบไปด้วยหอธรรม อาคารอารีย์ เสมประสาท อาคาร 2 อาคารสิรินาถ อาคารบีซีซี 150 ปี สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล และอาคารจอห์น เอ เอกิ้น ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 16 ชั้นและชั้นใต้ดิน 4 ชั้น ชั้น 12 เป็นหอประวัติศาสตร์โรงเรียน เปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยังเป็นหนึ่งโรงเรียนในเครือจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย อีกด้วย
7. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ชื่อภาษาอังกฤษ : Kasetsart University Laboratory School Center for Educational Research and Development
ชื่อย่อ : สธ.มก. / KUS
สัญลักษณ์ : มีตราพระพิรุณทรงนาคอยู่ภายในกรอบวงกลมและมีกลีบดอกบัวล้อมรอบ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่สัญลักษณ์ของโรงเรียนจะไม่มีวงกลมซึ่งล้อมรอบกลีบดอกบัวอยู่และไม่มีคำว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖”
ต้นไม้ประจำโรงเรียน : กระพี้จั่น เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีสีม่วง ผลิดอกพร้อมกันอย่างมีระเบียบ ลำต้นมีประโยชน์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนนักเรียนของโรงเรียนที่มีความพร้อมด้วยระเบียบวินัย ปฏิบัติตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
สีประจำโรงเรียน : สีม่วง (มาจากสีของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียน)
เว็บไซต์โรงเรียน : www.kus.ku.ac.th
เป็นโรงเรียนสหศึกษาทำการเรียนการสอน ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นห้องปฏิบัติการฝึกหัดครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2514
8. โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อภาษาอังกฤษ : Chulalongkorn University Demonstration School
ชื่อย่อ : CUD
สัญลักษณ์ :
สีประจำโรงเรียน :
เว็บไซต์โรงเรียน ฝ่ายประถม : satit-e-edu.chula.ac.th
เว็บไซต์โรงเรียน ฝ่ายมัธยม : www.satitm.chula.ac.th
เป็นโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีประวัติการก่อตั้งโรงเรียนสืบเนื่องมาจาก “โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตสังกัดแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกหัดครู ชั้นประโยคครูมัธยม ครั้นต่อมาโรงเรียนมัธยมหอวังฯ ได้เปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกวิชาครุศาสตร์จึงไม่มีโรงเรียนสำหรับฝึกหัดครูเป็นระยะเวลานานประมาณ 15 ปี
เมื่อแผนกวิชาครุศาสตร์ขยายออกมาเป็นคณะครุศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นคณบดีคนแรก ท่านได้เล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต เพื่อการฝึกหัดครูขั้นปริญญาขึ้นแทนโรงเรียนมัธยมหอวังฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นโดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทำพิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501 โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายประถม และ ฝ่ายมัธยม
9. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
ชื่อภาษาอังกฤษ : Samsenwittayalai School
ชื่อย่อ : ส.ส.
สัญลักษณ์ : ดวงประทีป เหนืออักษรย่อชื่อโรงเรียนภายในวงกลม มีปรัชญาของโรงเรียนเป็นภาษาบาลี และคำแปลเขียนล้อมวงกลมรอบนอก และชื่อโรงเรียนในแถบโบว์ปลายพลิ้วรูปครึ่งวงกลมที่ส่วนล่างสุด
ธงประจำโรงเรียน : พื้นธงสีชมพู แถบสีละครึ่งผืน ตามความยาวของผืนธง สีชมพูอยู่บน สีเขียวอยู่ล่าง ปักด้วยไหม เป็นรูปตราโรงเรียนทางมุมซ้ายของผืนธง ตรงแถบสีชมพู
สีประจำโรงเรียน : สีชมพู-สีเขียว
เว็บไซต์โรงเรียน : www.samsenwit.ac.th
เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่จำนวน 22 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา มีนักเรียนจำนวน 3,050 คน ข้าราชการครูจำนวน 129 คน สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2498 โดยเริ่มจากเมื่อในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการจะสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูที่บริเวณระหว่างถนนศรีอยุธยากับซอยรางน้ำ แต่เนื่องจากสถานที่เรียนของนักเรียนมีไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการ จึงโอนโรงเรียนที่กำลังสร้างนี้ให้เป็นโรงเรียนมัธยมของ กรมวิสามัญ และ 4 ปีต่อมา ได้ย้ายนักเรียนมาที่โรงเรียนแห่งใหม่และตั้งชื่อว่า “โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย” ที่นี่ยังเคยได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และยังมีนักเรียนอีกหลายคนได้ไปแข่งขันวัดความรู้กับหลายๆ ประเทศ และได้รางวัลกลับมาอีกด้วย
10. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ชื่อภาษาอังกฤษ : Mahidol Wittayanusorn School
ชื่อย่อ : มวส. / MWITS
สัญลักษณ์ : ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรตอนบนว่า “ปญญาย ปริสุชฌติ คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา” ตรงกลางวงกลมประกอบด้วยอักษร “ม” สัญลักษณ์ประจำราชสกุลมหิดล อยู่ภายใต้จักรตรี และพระมหาพิชัยมงกุฏและด้านล่างภายใต้วงกลมมีข้อความว่า “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” ตัวอักษร ม หมายถึง พระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยทางโรงเรียนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
ต้นไม้ประจำโรงเรียน : ต้นศรีตรัง
สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน-สีเหลือง โดยสีน้ำเงินแทนพระมหากษัตริย์ และสีเหลืองแทนนักวิทยาศาสตร์
เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เคยตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง ในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศอื่น ๆ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการใช้ระบบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนเอง โดยปรกติมีอัตราการรับเข้าประมาณ 1.5% (240 คนจากนักเรียนที่สมัครแต่ละปีประมาณ 20,000 คน) โดยนักเรียนทุกคนได้รับทุนการศึกษาเต็มตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มีที่ไหนบ้าง? 10 มหาวิทยาลัยเอกชน ที่เก่าแก่และดีที่สุดในเมืองไทย
- 10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่และดีที่สุดในเมืองไทย มีที่ไหนบ้าง ต้องดู!!
ภาพจาก : www.soccersuck.com, arc.bcc.ac.th, www.satitm.chula.ac.th, www.chulatutordelivery.com