ส่องโปรไฟล์ ! บัณฑิตป้ายแดง วิศวะฯ มธ. ที่วิศวกรยุคใหม่ต้องมี

อาชีพ “วิศวกร” ยังคงเป็นสายงานที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะประเทศไทย โดยคิดเป็น 13.42% ของความต้องการแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในแต่ละปีมีคนรุ่นใหม่มุ่งสู่ถนนสายนี้จำนวนมาก โดยที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้ผลิต “ว่าที่วิศวกร” เพื่อให้ทันต่อความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บัณฑิตป้ายแดง วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ที่วิศวกรยุคใหม่ต้องมี

เพราะเส้นทางสู่ความสำเร็จต้อง “เป็นมากกว่าวิศวกร”

ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี TSE มีบัณฑิตที่จบการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 5,517 คน ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงอยากใช้โอกาสนี้แบ่งปันเรื่องราวสุดเรียลของบัณฑิตป้ายแดง กับ 6 มุมมองที่สะท้อนตัวตนของ TSE บัณฑิตต้อง “เป็นมากกว่าวิศวกร” ซึ่งได้เก็บเกี่ยวตลอดเส้นทางของการเป็นนักศึกษา และน่าจะมีประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ที่อยากก้าวสู่เส้นทางสาย “วิศวกร”

· เป็นวิศวกรรุ่นใหม่ต้องใส่ใจสังคม

เริ่มต้นกันที่มุมมองของ นางสาวณัฐชยา สุทธิกิตติบัตร (มิลค์) บัณฑิตจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ไม่ได้มีแต่ความรู้ด้านวิชาการ แต่ TSE ยังสอนให้มีความคิดที่ดีในหลายเรื่อง เช่น การไม่เห็นแก่ตัวหรือมองแต่ประโยชน์ของตัวเอง เน้นการแบ่งปันความรู้ที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากความรัก ความเอาใจใส่จากเพื่อนในภาควิชา เพื่อนในคณะ อาจารย์ทุกท่าน และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ทำให้รู้สึกว่า TSE อยู่กันเป็นครอบครัว และในฐานะบัณฑิตของ TSE มีความสุขมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวนี้ ซึ่งถ้าไม่มีครอบครัวแห่งนี้ ก็คงไม่มีตัวตนของเราในวันนี้เช่นกัน

· ปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง

อีกมุมมองของบัณฑิตจบใหม่ นายพศิน อุดมศักดิ์ (พูม) บัณฑิตจากโครงการวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตภาคภาษาอังกฤษ (วิศวกรรมเครื่องกล) ที่สะท้อนความรู้สึกจากหัวใจ ว่าได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ท่ามกลางสังคมที่ดี ซึ่งต้องขอบคุณ TSE ที่ให้โอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ และทำให้ความกังวลของเด็ก ม.ปลายคนหนึ่ง ที่เคยคิดว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยต้องกดดันและต้องเผชิญกับความเครียดรอบตัว แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้ว กลับรู้สึกต่างออกไป เพราะการต้อนรับที่ดีจากบุคลากรหลายท่าน รุ่นพี่ และเพื่อนร่วมรุ่น ที่มีส่วนสำคัญให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และอยากจะส่งต่อความรู้สึกนี้ ไปยังคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมของ TSE อีกด้วย

· เส้นทางสู่การเป็นผู้ใหญ่ เริ่มต้นจากการให้เกียรติผู้อื่น

การปฎิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียม เสมอภาคของทุกคนมีให้กับ ตั้งแต่อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ก่อให้เกิดมิตรภาพที่ยากจะลืมเลือน โดยนางสาวสโรชา โปร่งจิต (จูน) บัณฑิตจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาของ TSE ที่แห่งนี้ไม่เพียงให้แต่ความรู้และทักษะต่างๆ ในวิชาชีพและการดำเนินชีวิต แต่ยังทำให้ได้รู้จักเพื่อนที่ดี อาจารย์ที่น่ารัก และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่ไหนได้ ทุกคนปฏิบัติต่อกันเสมือนคนในครอบครัว ปฏิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค จึงรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ได้เติบโตจาก TSE ซึ่งมั่นใจว่าจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน

· มีวินัยในการทำงานและคิดอย่างเป็นระบบ

นอกจากหลักสูตรการสอนที่มีคุณภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางให้กับนักศึกษา TSE ยังให้ความสำคัญกับการแบ่งปันประสบการณ์ การดำเนินชิวิต การทำงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ โดยนายกษิดิศ วจีไกรลาศ (ก้อง) บัณฑิตจากโครงการวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (วิศวกรรมโยธา) อยากขอบคุณ TSE ที่ได้แบ่งปันสิ่งเหล่านี้เพื่อให้พร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน เพราะสอนให้มีความรับผิดชอบ การบริหารเวลา และมีความคิดที่เป็นระบบ จึงไม่รู้สึกเสียดายที่เลือกเรียนที่ TSE และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ TSE ในโอกาสครบรอบ 30 ปีอีกด้วย

· อดทนอดกลั้นเพื่อให้ผ่านอุปสรรคขวากหนามไปได้

เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย กับชีวิตบนเส้นทางที่มีทั้งส่วนที่ยากและส่วนที่ง่ายของนางสาวโยษตา ฉันทานุมัติ (ฟ้า) บัณฑิตจากหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (วิศวกรรมเคมี) ที่เล่าว่าในช่วง 2 ปี ของการเรียนที่ TSE เธอได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่แตกต่างไปจากตอนเป็นนักเรียน ม.ปลาย ยากง่ายปะปนกันไป แต่โชคดีที่มีรุ่นพี่และเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือจนผ่านปัญหาต่างๆ มาได้ด้วยดี แม้กระทั่งในช่วงชั้นปีที่ 3 และที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศทุกคนก็ยังคงช่วยเหลือกันตลอด จนเกิดเป็นประสบการณ์อันน่าจดจำ ทุกคนใน TSE จึงเปรียบเสมือนครอบครัวที่คอยสนับสนุนซึ่งและกัน

· รอบรู้วิชาการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นผู้นำและมีคุณธรรมด้วย

บัณฑิตจากโครงการวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบันอีกราย ที่ได้แง่คิดมากมายไปจาก TSE นั่นคือนายรัชชานนท์ ดีศรีศักดิ์ (จ๊อบ) ภาควิศวกรรมอุตสาหการ บอกว่า ถึงแม้จะมีโอกาสใช้ชีวิตใน TSE เพียง 2 ปี เนื่องจากศึกษาอยู่ในโครงการวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (TEP) ซึ่งต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในช่วง 2 ปีหลัง แต่ก็มีความรู้สึกที่ดีกับสถาบันแห่งนี้ เพราะที่นี่ไม่เพียงแต่สอนเรื่องความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังสอนทักษะต่างๆ ผ่านการทำกิจกรรม อาทิ ความเป็นผู้นำ จริยธรรม ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตการเรียนและการทำงานได้จริง จึงอยากขอบคุณ TSE ที่มอบโอกาสให้ และกลายเป็นบัณฑิตในวันนี้

ทั้ง 6 มุมมองของบัณฑิตป้ายแดง สะท้อนตัวตนของ TSE ที่สั่งสมชื่อเสียงและคุณภาพจนกลายเป็นที่ยอมรับจากในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งได้ปลูกฝังดีเอ็นเอความเป็น TSE ไปยังบัณฑิตกว่า 5 พันชีวิต ที่พร้อมนำความรู้ความสามารด้านวิศวกรรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่างๆของประเทศ และยังคงทำหน้าที่ส่งต่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และจิตวิญญาณของ TSE ไปยังคนรุ่นใหม่ ที่มีความฝันและอยากก้าวสู่เส้นทางสายนี้ต่อไป

และในปีนี้ TSE เตรียมจัดงาน “TSE Beyond Engineering” ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ภายใต้แนวคิด “30 ปีแห่งความภูมิใจ TSE เป็นมากกว่าวิศวกร” เพื่อนำเสนอสุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมรางวัลระดับโลก รวมถึงการผลักดันโรดแมปวิศวกรรมแห่งอนาคตรองรับการพัฒนาของประเทศ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง