ชาวนิติศาสตร์หลายๆ คนอาจจะยังสงสัยเหมือนกันว่า เรียนนิติศาสตร์แล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง จบไปแล้วเป็นทนาย อัยการได้อย่างเดียวเลยรึเปล่า สำหรับน้องๆ ปี 1-2 ที่เขาใหม่มักจะคิดแบบนี้กัน แต่จริงๆ แล้วเรียนสายนี้สามารถประกอบอาชีพได้มากมาย หลากหลายกว่าที่น้องๆ คิดไว้เยอะเชียวล่ะ แต่จะมีอาชีพอะไรที่ฮิตๆ รายได้สูงๆ บ้าง เรามาดูกันเถอะ…
เรียนนิติศาสตร์ ทำงานอะไรได้บ้าง
อันดับที่ 5 นิติกร
“นิติกร” นิติกรมีหลากหลายระดับ แต่ในที่นี้อันดับที่ 5 เป็นนิติกรสายสำหรับน้องๆ ที่เพิ่งจบใหม่ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่มีใบอนุญาตว่าความ แต่ต้องการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องก็สามารถทำงานในสายวิชา และประจำอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐได้ โดยในแต่ละปีภาครัฐจะเปิดรับสมัครในตำแหน่งนี้หลายอัตรา ทำให้น้องๆ นิติศาสตร์มุ่งเข้าไปทำงานด้านนิติศาสตร์ต่อได้เลย นอกจากนี้ยังมีอาชีพอย่าง “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่ไม่ต้องจับผู้ร้าย ทำงานฝ่ายสอบสวน สืบสวน โดยสองอาชีพนี้มีความก้าวหน้าไม่แน่นอน และอัตราการจ้างงานอาจไม่ได้สูงนัก แต่ถือเป็นอาชีพที่มั่นคงอาชีพหนึ่ง
อันดับที่ 4 สินเชื่อ
“เจ้าหน้าที่สินเชื่อ เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้” ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นปัญหาเรื่องหนี้สินต่างๆ ได้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกู้ยืม การค้างชำระหนี้ต่างๆ จากการทำธุรกรรม หรือหนี้ธนาคาร สินเชื่อต่างๆ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องมีผู้พิจารณาในการให้สินเชื่อ และเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้เข้ามาดูแล โดยจะมีส่วนที่ต้องดูในเรื่องของสภาวะลูกหนี้ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดก็สามารถแจกแจงข้อกำหนดกฎหมายตามที่ระบุ และส่งต่อให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้เข้าจัดการต่อ คือต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย และกฎระเบียบด้านการเงินต่างๆ ประกอบด้วยรายได้ของสายอาชีพนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและประสบการณ์ซึ่งสามารถไต่ระดับไปได้ค่อยข้างดี
อันดับที่ 3 ครู อาจารย์
“ครู อาจารย์พิเศษ” ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกหนึ่งอาชีพที่เหมาะกับผู้จบนิติศาสตร์ เพราะอาชีพนี้ก็สามารถเป็นได้ทั้งครู อาจารย์พิเศษสอนวิชานิติศาสตร์ภาครัฐ และเอกชน ในความเป็นอาจารย์พิเศษนั้นทำให้สามารถที่จะจัดการตารางการเรียนการสอนได้ตามที่ต้องการ ไม่เพียงรับงานหนึ่งหน่วยงานเท่านั้นก็ได้ ทำให้มีรายได้ที่ค่อนข้างดี และมั่นคงเป็นอย่างมาก
อันดับที่ 2 ทนายความ ที่ปรึกษา
“ทนายความเอกชน และที่ปรึกษากฎหมาย” ก็สามารถรับทรัพย์ได้ไม่น้อยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับตัวบริษัทเอกชนนั้นๆ จะมีความใหญ่โต หรือเป็นที่รู้จักเท่าไร โดยผู้ที่จะมาจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ให้คำปรึกษาแนะนำหน่วยงาน องค์กรของรัฐ และเอกชน ในงานด้านกฎหมายให้คำปรึกษาแนะนำและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้สอดคล้องกับองค์กรนั้นๆ รวมถึงการเป็นทนายว่าความให้แก่บริษัท เป็นงานที่ไม่ง่าย แต่ก็ได้เงินไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะ
อันดับที่ 1 พนักงานอัยการ
สำหรับอันดับ 1 ยังไงก็ไม่พ้นงานข้าราชการตุลาการอย่าง “พนักงานอัยการ” ซึ่งทำหน้าที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายบัญญัติ อำนวยความยุติธรรมในสังคม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และ “ผู้พิพากษา” ซึ่งรับหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในศาลยุติธรรม ทั้งสองอาชีพนี้ถือว่าเป็นข้าราชการเงินเดือนสูงสุด เรียกได้ว่าอาจมากถึงหลักแสนกันเลยทีเดียว ทำให้น้องๆ ที่เรียนนิติศาสตร์หลายคนพุ่งเป้ามาที่สองอาชีพนี้เป็นหลัก
*** คนที่จะทำอาชีพเหล่านี้ได้ ต้องมีความยุติธรรม และมีคุณธรรมสูงมากๆ ต้องทุ่มเทให้กับงาน และมีความรับผิดชอบสุดๆ ต้องแลกกับการสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป น้องๆ ที่กำลังเรียนสายนี้อยู่ก็อย่างย่อท้อกันนะ หมั่นใฝ่หาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ อ่านหนังสือประมวลกฎหมายเยอะๆ ให้เข้าใจกฎหมาย มาตราต่างๆ ที่จำเป็นโดยละเอียด เท่านี้น้องๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ได้อย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก : นิติศาสตร์ Campus Star V.22 (มีนาคม 2015)
เครดิตภาพ : www.laviequercynoise.frl , www.formacaopolitica.com.br, blogdovladimir.wordpress.com