เปิดเผยออกมาแล้ว สำหรับ 8 อาชีพที่เสียงตกงานมากที่สุด ซึ่งเป็นผลพวงจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศชูนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งในด้านอุตสาหกรรม การค้า และภาคบริการของประเทศ ที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการยกระดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงมากขึ้นในปี 2579 นั่นเอง ทั้งนี้ ทางด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยันว่าไม่ต้องห่วงเรื่องตกงาน เพราะมั่นใจว่าคนไทยจะมีงานที่ดีมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
8 อาชีพเสี่ยงตกงาน
โดยที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรืออีคอนไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า อีคอนไทย ได้ประเมินเบื้องต้น พบว่ามี 8 อาชีพที่เสี่ยงตกงาน จากเทคโนโลยี 4.0 หากไม่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ได้แก่
1. พนักงานขายปลีกหน้าร้าน, ในห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ และพนักงานขายตรง (จะถูกแทนที่ด้วย อี-คอมเมิร์ช)
2. พนักงานโรงแรม (จะถูกแทนที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ)
3. พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเงิน (จะถูกแทนที่ด้วย ATM, E-Banking และ Prompt Pay)
4. แรงงานในอุตสาหกรรม (จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ)
5. แรงงานในภาคโลจิสติกส์ (จะถูกแทนที่ด้วยรถยกสินค้าแบบอัตโนมัติไร้คนขับ และหุ่นยนต์คัดแยก บรรจุ และจัดเรียงสินค้า)
6. บุรุษพยาบาลดูแลคนสูงวัยหรือผู้ป่วย (จะถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่)
7. คนขับรถยนต์ทั้งรถยนต์และรถบรรทุก (จะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไร้คนขับ)
8. เคาน์เตอร์เซอร์วิสในภาคธุรกิจต่างๆ (จะถูกแทนที่ด้วย IoT และ E-Money)
นายธนิต ยังได้กล่าวอีกว่า ในความจริงแล้วมีมากกว่า 8 อาชีพที่มีความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงนอกเหนือจากนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น คิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออกของไทย ที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ทั้งนี้ ในสัดส่วน 80% ดังกล่าว มี 25% ที่มีความเปราะบางมาก เพราะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมากนัก ทำให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เห็นได้จากการส่งออกสินค้าของกลุ่มนี้ มีการติดลบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามี 10 อุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผ้าผืน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง หัตถอุตสาหกรรม เครื่องไมโครเวฟ และสื่อสิ่งพิมพ์ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้หากไม่มีการปรับตัวโอกาสคนจะตกงานก็จะมีเพิ่มมากขึ้น
การปฏิรูปภาคแรงงาน
ซึ่งในช่วงรอยต่อสู่ยุค 4.0 นี้ ไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปภาคแรงงานให้ก้าวผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
สำหรับเรื่องแรกที่ ต้องส่งเสริมและสร้างค่านิยมเรียนสายอาชีวะ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด และจะเป็นแรงงานสำคัญเมื่อไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0
เรื่องที่ 2 ภาคแรงงานของไทยจากผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน ปัจจุบันแรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนอยู่ในระบบแรงงานถึง 46% อีกทั้งพบว่า สัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5% มีการศึกษาไม่เกินระดับประถมในจำนวนนี้แรงงาน 1.2 ล้านคนไม่มีการศึกษา ประเด็นนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษว่าจะพัฒนาอย่างไร
เรื่องที่ 3 ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็น SME ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการพัฒนา เสริมความรู้ หรือเพิ่มทักษะให้กับแรงงานของตน แม้จะมีกฎหมายของกระทรวงแรงงานบังคับนายจ้างต้องจัดอบรม แต่ส่วนใหญ่ก็อบรมแบบผ่านๆ เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับมองเป็นการสิ้นเปลือง
เรื่องที่ 4 ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้แรงงานจะต้องปรับตัวให้ทักษะและศักยภาพแบบก้าวกระโดด องค์การที่เกี่ยวกับแรงงานจะต้องปฏิรูปบทบาทในการยกระดับพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเพิ่มหรือเปลี่ยนทักษะใหม่ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และสังคมแรงงานสูงอายุ
เรื่องที่ 5 กระทรวงแรงงานต้องเลิกยึดติดกับการเป็นกระทรวงด้านสังคม และปรับตัวเชิงรุกเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ โดยที่ต้องทำก่อนคือเปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ให้ดูทันสมัยเพื่อก้าวผ่านไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นยํ้าในวันแรงงานที่ผ่านมาว่า ไม่อยากให้พี่น้องแรงงานกังวลว่าเมื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้คนไทยตกงาน ขอยืนยันว่าคนไทยทุกคนทุกกลุ่มจะไม่มีการตกงานและจะมีรายได้ที่ดี มีอาชีพที่ดีขึ้นด้วย โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการสำรวจแรงงานในแต่ละกลุ่ม ทั้งระดับ 1.0, 2.0 และ 3.0 ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด และมีความจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งของแรงงานในระดับต่างๆ อย่างไร เพื่อปรับทักษะฝีมือขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง”
ที่มา : www.thansettakij.com