ผมไม่เก่ง แต่ผมขยันมาก “สน ยุกต์” เล่าประสบการณ์ตอนเรียน วิศวะนาโนอินเตอร์ จุฬาฯ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นอีกคณะยอดฮิตที่หลาย ๆ คนอยากเข้าไปเรียน และค่อนข้างที่จะขึ้นชื่อว่าเข้าไปเรียนได้ยากและจบออกมายากเช่นกัน ลองไปอ่านประสบการณ์การเข้าเรียนวิศวะ และเทคนิคการเรียนของนักแสดงหนุ่มหน้าหล่อ สน – ยุกต์ ส่งไพศาล ในบทความนี้

ในอดีตเขาก็เป็นคนที่เรียนไม่เก่ง แต่อาศัยความขยัน (ขยันแบบหนักมาก) จึงทำให้เขาสามารถเข้าเรียนได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์  สาขาวิชาวิศวกรรมนาโน (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนจบเป็นบัณฑิตได้สำเร็จ! เขามีเทคนิคเคล็ดลับอะไรลองไปอ่านกันค่ะ

เมื่อก่อนผมเป็นเด็กเนิร์ดมาก เรียนพิเศษเพิ่มทุกวิชา – สน ยุกต์

– – – – –

ผมไม่ใช่คนเก่ง แต่ผมขยันมาก

เมื่อก่อนตอนผมเรียน ผมเป็นคนที่ตั้งใจเรียนมาก เป็นเด็กเนิร์ดมาก โดยเฉพาะตอนช่วง ม.ปลาย ผมแทบไม่ทำอะไรเลย และด้วยความที่ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งอะไรจึงต้องขยันมากๆ วัน ๆ จึงเรียนแต่หนังสืออย่างเดียวเลย มีเล่นกีฬาบ้าง ผมเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนทุกวัน เรียนพิเศษเพิ่มทุกวิชา เน้นหนักโดยเฉพาะวิทย์-คณิต เพื่อเตรียมสอบวิศวะเข้าเรียนมหาลัย

การเรียนพิเศษช่วยผมได้

เรียนพิเศษหลาย ๆ คน อาจจะมองว่าไม่จำเป็น สำหรับผมการไปเรียนพิเศษเหมือนไปเรียนเพิ่มเติมเพื่อที่พื้นฐานจะได้แน่นขึ้น ซึ่งครูแต่ละคนก็อาจจะมีเทคนิคการสอนที่แตกต่างกันออกไป เวลาไปเรียนก็ทำให้เราสามารถเข้าใจได้มากขึ้น ผมมองอีกอย่างว่าเหมือนมีสำหรับเด็กขี้เกียจ หมายถึง ขี้เกียจไปนั่งทำความเข้าใจเอง หรือว่าขี้เกียจนั่งอ่านเอง ออกแนวสรุปให้เราเข้าใจง่ายขึ้น

ซึ่งเอาจริง ๆ การเรียนพิเศษสำหรับผมได้ผลนะ พอถึงเวลาเลือกเข้ามหาลัย ในตอนนั้นของผมเป็นระบบแอดมิชชั่น ผมก็เลือกวิศวะทุกอันดับ ปรากฎว่าผมสอบติดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมนาโน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หล่อ ออร่าจริง ๆ >.<

เลือกเรียนวิศวะเพราะคิดว่าจะเป็นนักบิน

จริง ๆ ตอนแรกผมไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร เป้าหมายตอนแรกในตอนนั้นคิดว่าอยากจะเป็นนักบิน และเห็นว่าหากเรียนวิศวะมีแนวโน้มที่จะสอบติดเป็นนักบินได้มากที่สุดจึงเลือกเรียนวิศวะนาโน อีกเหตุผลที่เลือกเรียนเพราะที่บ้านทำบริษัทยาก็คิดว่าเรียนไปเผื่อได้ช่วยที่บ้านทำอะไรได้บ้าง

โอกาสวงการบันเทิงมาช่วงรอยต่อเฟรชชี่

ช่วงรอยต่อระหว่าง ม.ปลาย กำลังจะเข้าเรียนมหาลัย ได้มีโอกาสทำงานในวงการบันเทิงโดยเริ่มจากการเป็นนายแบบ จากนั้นก็มีผู้ใหญ่หลาย ๆ คนเห็น และเรียกเข้าไปคุยว่ามีงานละครอยากให้เล่น ในตอนนั้นเห็นว่าเป็นโอกาสผมก็เลยลองทำดู ไม่ได้คิดว่าจะมาทำยาวเลยมาถึงในปัจจุบันนี้ ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องทั้งทำงานไปด้วย และเรียนไปด้วยพร้อมกัน

เรียนวิศวะ+ทำงานไปด้วย เหนื่อยแทบไม่ไหว

ด้วยความที่การเรียนต้องควบคู่ไปกับการทำงาน เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยแทบทนไม่ไหวก็มีเหมือนกัน อย่างเวลาไปถ่ายละครที่ต้องตื่นเช้ามาก ๆ หรือบางทีก็เรียนแล้วกลับไปถ่ายงานต่อก็มี ซึ่งในบางทีรู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไป ตอนนั้นผมเลยขอทางทีมงานว่า สองสัปดาห์ก่อนสอบผมขอไม่ถ่ายละครนะ

ความเหนื่อย ทุกวันนี้ผมยังฝันร้ายอยู่เลย เข้าห้องสอบไปแล้วยังรู้สึกหัวแบลงค์ คือไม่มีข้อมูลอะไรจะไปสอบยิ่งเครียด จริง ๆ แล้วก่อนสอบควรจะต้องเตรียมตัวหนัก ไม่รู้ว่าที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ที่ผมการเรียนคือมีสอบด้วย 90% คือถ้าทำไม่ได้ก็ตกเลย ไม่ได้มีคะแนนเก็บ คะแนนเช็คชื่ออะไรมาช่วย

เกาะกลุ่มเพื่อน ๆ เคล็ดลับการเรียนวิศวะ

เกาะกลุ่มเพื่อน ๆ ไป ครับ นี่คือคำแนะนำจริง ๆ (ขำ) เพราะการเรียนต้องเน้นทุกวิชา มีสอบอย่างที่บอก 90% โดยไม่มีคะแนนอะไรมาช่วย และทุกวิชายากหมด เพื่อนรู้แค่ไหน เราก็ต้องอย่ารู้น้อยกว่าเพื่อน ต้องมีการนัดติวกันบ่อย ๆ การเรียนวิศวะต้องตั้งใจมาก ๆ ด้วย เพราะเรียนจบยาก มีหลายคนก็ซิ่วออกไป เรียนไม่จบก็มี

ประสบการณ์ที่ดี สิ่งที่ได้จากการเรียนวิศวะ

อย่างที่บอกว่า วิศวะเป็นคณะที่เรียนคนเดียวไม่รอด นอกจากจะเป็นคนที่เก่งมากจริง ๆ

ในมุมมองของผม มองว่าการเรียนวิศวะเป็นคณะที่ดี ฝึกให้มีระบบกระบวนการความคิด ผมเชื่อว่าเด็กที่เรียนวิศวะจะได้สังคมที่ดี น่าจะรักกัน เพราะเป็นคณะที่เวลาเรียนเวลาก่อนสอบจะต้องรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ช่วยกันติว ช่วยกันทำโจทย์

จบวิศวะถึงไม่ได้ทำงานตรงสาย แต่ใช้กับชีวิตประจำวันได้

ถึงแม้ว่าวิศวะที่ผมเรียนจบออกมา ผมจะไม่ได้ทำงานตรงสาย แต่สำหรับผมมองว่า นำมาใช้กับชีวิตประจำวัน กับธุรกิจได้ เพราะผมได้สังคมที่ดี ได้ความคิดที่ดี ที่เป็นระบบระเบียบ ช่วยทำให้การตัดสินใจอะไรหลาย ๆ อย่างง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้ก็ได้มาจากการเรียนวิศวะครับ

อัปเดตผลงาน

ขอบคุณภาพจาก:  FB.Page: Sonyukedotcom, IG:@sonyuke

**บทความสัมภาษณ์โดย Campus-star**

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง