ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) คืออะไร | รวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการรับตรง

น้องๆ คนไหนที่กำลังงอยู่ว่า ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) คืออะไร? ต้องสอบยังไง? แล้วมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่ใช้ระบบเคลียริ่งเฮาส์นี้ รวมถึงระบบนี้เขารับกันช่วงไหน? มีทั้งหมดกี่รอบ? วันนี้เรามีคำตอบมาบอกกันแล้ว พร้อมมีคำถามที่น้องๆ มักจะสงสัยกันเป็นประจำมาให้ดูกันด้วย

ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse)

เคลียริ่งเฮาส์ คือ ระบบที่ใช้ยืนยันสิทธิ์รับตรงร่วมกันของแต่ละมหาวิทยาลัย

หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ระบบที่จะช่วยทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยรับตรงได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังเป็นการตัดสิทธิ์สำหรับคนที่สอบติดระบบรับตรงได้หลายมหาวิทยาลัยแล้วสละสิทธ์อีกด้วย เพื่อลดปัญหาการกั๊กที่เรียนสำหรับคนที่สอบได้หลายๆ ที่นั่นเอง ทำให้เด็กคนอื่นหมดโอกาสเข้าเรียนต่อในคณะหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ ตัวอย่างเช่น…

กรณีที่ 1

นางสาว ก. สอบติดรับตรง 1 โครงการ ของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมระบบเคลียริงเฮาส์ หากนางสาว ก. ต้องการเข้าศึกษาในโครงการที่สอบติดดังกล่าว เมื่อถึงช่วงเวลาของการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา นางสาว ก. ต้องยืนยันสิทธิ์ทันที ไม่งั้นจะโดนตัดสิทธิ์

กรณีที่ 2

นาย ข. สอบติดรับตรง 4 โครงการ ของ 4 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมระบบเคลียริงเฮาส์ หากนาย ข. ต้องการเข้าศึกษาในโครงการที่สอบติดดังกล่าว เมื่อถึงช่วงเวลาของการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา นาย ข. ต้องยืนยันสิทธิ์ โดยต้องเลือกยืนยันสิทธิ์เพียง 1 โครงการ จาก 4 โครงการที่สอบติด

การรับตรง คัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง

และล่าสุดในปีการศึกษา 2561 การรับตรงแบบใช้ระบบเคลียริงเฮาส์ จะทำการคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง เมื่อนักเรียนทราบผลคะแนนข้อสอบกลางแล้ว ถึงจะสามารถสมัครเลือก 4 อันดับคณะ/สาขาวิชาที่ต้องการได้ โดยผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ได้ 2 รอบ รายละเอียดของระบบเคลียริงเฮาส์ทั้ง 2 รอบ มีดังต่อไปนี้

1. ระบบเคลียริงเฮาส์รอบแรก

นักเรียนยื่นผลคะแนนข้อสอบกลาง โดยเลือก 4 อันดับ คณะ/สาขาวิชา ผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ จากนั้นมหาวิทยาลัยก็จะส่งชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ และแจ้งให้นักเรียนทราบว่าผ่านคัดเลือกกี่แห่ง หลังจากนั้นนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะไปสอบสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือก แล้วให้นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกตัดสินใจว่าจะยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาที่ใด หากนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์จากระบบเคลียริงเฮาส์รอบสองในทันที

2. ระบบเคลียริงเฮาส์รอบสอง

นักเรียนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกแต่ไม่ได้ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา สามารถยื่นผลคะแนนข้อสอบกลาง โดยเลือก 4 อันดับ คณะ/สาขาวิชา เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ได้อีกครั้ง

คำถามเกี่ยวกับ เคลียร์ริ่งเฮ้าส์

ต้องยืนยันสิทธิ์ทุกคนหรือไม่?

คำถาม 1 : ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบรับตรง ของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) จะต้องเข้ายืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ทุกคนหรือไม่?

คำตอบ : เฉพาะผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาในโครงการรับตรงที่กำหนด ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษา ต้องเข้ายืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบระบบเคลียริ่งเฮาส์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะในบางมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเคลียริ่งเฮาส์จะเข้าร่วมแค่บางโครงการเท่านั้น อาทิเช่น มหาวิทยาลัย A เปิดรับตรง 20 โครงการ แต่มีเพียง 11 โครงการเท่านั้น ที่เข้าร่วมรับตรงผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ ดังนั้นผู้ที่จะต้องเข้ายืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบเคลียริ่งเฮาส์ คือผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาในโครงการรับตรง 11 โครงการของมหาวิทยาลัย A เท่านั้น ส่วนโครงการที่เหลือผู้ที่ผ่านการคัดเลือกก็ไม่ต้องยืนยันสิทธิ์ในระบบนี้

ยืนยันสิทธิ์ที่ไหน?

คำถามที่ 2 : ยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ที่ไหน?

คำตอบ : การยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ จะทำผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์ระบบการคัดเลือกรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) : http://www.aupt.or.th/clearinghouse.php

ต้องใช้อะไรในการยืนยันสิทธิ์?

คำถามที่ 3 : ผู้ที่ต้องการยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริงเฮาส์ ต้องใช้อะไรในการยืนยันสิทธิ์บ้าง?

คำตอบ : ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยที่มาเข้าร่วมเคลียริ่งเฮาส์ จะได้รับรหัสการเข้าระบบยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์จากมหาวิทยาลัยที่ตนเองผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษา เพื่อนำมายืนยันสิทธิ์ในระบบการยืนยันสิทธิ์ของ สอท.

เปลี่ยนแปลงการยืนยันสิทธิ์ได้หรือไม่?

คำถามที่ 4 : การยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ หากยืนยันสิทธิ์ไปแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงการยืนยันสิทธิ์ได้หรือไม่?

คำตอบ : ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยที่มาเข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ เข้ามายืนยันสิทธิ์ในระบบการยืนยันสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกแก้ไขเปลี่ยนแปลงไดไม่เกิน 3 ครั้ง ภายในวันที่ สอท. กําหนดการยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ อาทิเช่น นาย ก. ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษารับตรง 4 โครงการ ของ 4 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมระบบเคลียริ่งเฮาส์ ได้แก่ โครงการ A โครงการ B โครงการ C และโครงการ D เมื่อถึงช่วงเวลาของการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา หากนาย ก. เข้ายืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ โครงการ A แล้ว นาย ก. สามารถเปลี่ยนแปลงการยืนยันสิทธิ์ไปเลือกโครงการ B ได้ หรือไปเลือกโครงการ c ได้ หรือไปเลือกโครงการ D ได้ โดยเลือกยืนยันสิทธิ์และเปลี่ยนแปลงการยืนยันสิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 ครั้ง นั่นเอง

ยืนยันแล้ว จะสละสิทธิ์ได้หรือไม่?

คำถามที่ 5 : การยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริงเฮาส์ หากยืนยันสิทธิ์ไปแล้วสามารถสละสิทธิ์ได้หรือไม่?

คำตอบ : สามารถเลือกสละสิทธิ์ได้ ถึงแม้ว่าจะยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว แต่ก็ต้องอยู่ในวัน/เวลา ที่ทาง สอท. กำหนดเอาไว้ด้วย หากเลยกำหนดวัน/เวลาดังกล่าวไปแล้ว ไม่สามารถเลือกสละสิทธิ์ได้

ผลของการยืนยันสิทธิ์คืออะไร

คำถามที่ 6 : ผลของการยืนยันสิทธิ์รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์คืออะไร?

คำตอบ : เป็นการยืนยันสิทธิ์รับตรงโครงการที่เข้าร่วมเคลียริ่งเฮาส์ ก็จะได้สิทธิ์เข้าศึกษาต่อในโครงการที่ได้ยืนยันสิทธิ์ไป และก็ยังเป็นลดปัญหาเด็กนักเรียนกั๊กที่เรียนได้อีกด้วย โดยที่ใครสอบได้มากกว่า 1 โครงการ สามารถเลือกยืนยันสิทธ์ได้เพียง 1 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนโครงการที่เหลือจะถูกตัดสิทธิ์ออกไป

สละสิทธิ์รับตรงเคลียริ่งเฮาส์ ต้องทำอย่างไร?

คำถามที่ 7 : ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษา ในระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ หากต้องการสละสิทธิ์รับตรงในระบบเคลียริ่งเฮาส์ต้องทำอย่างไร?

คำตอบ : ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยที่มาเข้าร่วมระบเคลียริ่งเฮาส์ หากต้องการสละสิทธิ์สามารถเลือกทำได้ 2 วิธี คือ

ผลของการไม่ยืนยันสิทธิ์ คือ?

คำถามที่ 8 : ผลของการไม่ยืนยันสิทธิ์ หรือสละสิทธิ์ รับตรงผ่านเคลียริงเฮาส์คืออะไร?

คำตอบ : โครงการรับตรงที่เข้าร่วมเคลียริงเฮาส์ จะถูก สอท. รวบรวมรายชื่อนักเรียนที่ทำการยืนยันสิทธิ์ เพื่อตัดสิทธิ์จากการคัดเลือกในระบบอื่นๆ ทั้งหมด ดังนั้นหากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์เข้าศึกษาโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยที่มาเข้าร่วมเคลียริ่งเฮาส์ แต่ไม่เข้ายืนยันสิทธิ์ หรือเข้าระบบยืนยันสิทธิ์เพื่อทำการสละสิทธิ์ รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ จะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์การเข้าศึกษาในโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยที่มาเข้าร่วมเคลียริ่งเฮาส์ และจะไม่ถูก สอท. รวบรวมรายชื่อเพื่อตัดสิทธิ์สอบผ่านช่องทางอื่นๆ จึงยังมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกในระบบต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปล. ปีการศึกษา 2560 การรับสมัครคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษายังเหมือนเดิม และยังคงระบบแอดมิชชันไว้ แต่ในปีการศึกษา 2561 การรับสมัครคัดเลือกเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาจะมีการยุบระบบแอดมิชชันออกไป ให้เหลือเพียงโควตา ระบบเคลียริงเฮาส์ และระบบรับตรงเท่านั้น (ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลง เราจะมาอัพเดทให้น้องๆ ได้รู้กันเรื่อยๆ นะคะ)

ที่มา : http://www.ed-th.com/clearing-house , http://www.aupt.or.th/clearinghouse.php

ข่าวที่เกี่ยวข้อง