เรื่องน่ารู้ก่อนตัดสินใจเรียน คณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ จบมาแล้วทำงานอะไร?

สำหรับน้องๆ คนไหน ที่ฝันอยากจะเป็น “คุณครู” หรือทำงานเกี่ยวกับเด็กๆ รู้กันหรือเปล่า? ว่าต้องเลือกเรียนต่อในคณะ/สาขาวิชาใด จะต้องเตรียมตัวสอบอะไรบ้าง แล้วทราบหรือไม่ว่าต้องเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง เพราะว่าในการเรียนทางด้านนี้นั้น ไม่ได้มีให้เราเลือกเรียนเพียงแค่สาขาเดียวเท่านั้น แต่สามารถแยกออกไปได้หลากหลายสาขาวิชาด้วยกัน ทั้งที่เรียนจบไปแล้วก็ไปเป็นคุณครู อาจารย์สอนพิเศษ นักวิชาการทางด้านการศึกษา ฯลฯ ดังนั้นก่อนที่น้องๆ จะตัดสินใจเรียนต่อทางด้านนี้ เราลองมาถามตัวเองอีกครั้งว่าเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ หรือไม่?

เรื่องน่ารู้ก่อนตัดสินใจเรียน คณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์

อยากเป็นครู ต้องเรียนต่อด้านไหน?

สิ่งแรกที่เราต้องรู้  ก็คือเราเหมาะกับการเรียนครุศาสตร์หรือไม่

ถึงแม้ว่า ‘ครู’ จะเป็นอาชีพที่มีคุณค่า น่านับถือ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นได้ หรือเป็นแล้วจะมีความสุขกับการที่เราได้สิ่งที่หวังเอาไว้หรือต้องการ ดังนั้นลองมาดูคุณสมบัติต่อไปนี้ แล้วลองถามตัวเองอีกครั้งว่าจริงๆ แล้ว เราอยากที่จะเรียนต่อทางด้านนี้หรือไม่

  1. มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรัก มีความเมตตาต่อลูกศิษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข
  2. มีทักษะการสื่อสารที่ดี อธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้
  3. พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกศิษย์ พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกับนักเรียนเสมอ
  4. เชื่อมั่นว่านักเรียนของเราสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
  5. รักการเรียนรู้และรักการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  6. มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และมีความคิดสร้างสรรค์
  7. มีทักษะการบริหารจัดการ วางแผนได้อย่างเป็นระบบ
  8. สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  9. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นผู้นำ

ครุศาสตร์เรียนอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ใช้เวลากี่ปี

การเรียนครุศาสตร์ (Pedagogy) เป็นการเรียนรู้หลักการ ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับการสอนและการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่า มนุษย์สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร และทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้สอนที่ดีได้ สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมถึงจริยธรรมให้นักเรียนเข้าใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ พร้อมทั้งเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคตอีกด้วย

เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีหลักสูตรและสาขาที่เปิดสอนแตกต่างกัน ดังนั้นในบทความนี้เราขอยกตัวอย่าง ข้อมูลจาก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาให้น้องๆ ได้ดูเป็นตัวอย่างว่ามีสาขาอะไรบ้าง โดยจะใช้ระยะเวลา 5 ปีในการศึกษา (ระดับปริญญาบัณฑิต) ซึ่ง จุฬาฯ ได้แบ่งออกเป็น 6 ภาควิชา และมีเอกวิชาทั้งสิ้น 10 สาขาวิชาด้วยกัน ได้แก่

อ่านเพิ่มเติม : สรุปความคืบหน้า หลักสูตรการเรียนครู 4 ปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง? – dek62

1. ภาควิชาหลักสูตรและการสอน

2. ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา

3. ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา

4. ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา

5. ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

6. ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต

โดยนักศึกษาใหม่ที่ได้เข้าเรียนที่นี่แล้ว จะได้เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น พื้นฐานการศึกษาและวิชาชีพครู การออกแบบและการจัดการการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวัดและประเมินผลทางการศึกษา และจิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา เป็นต้น ซึ่งวิชาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอน การจัดการเรียนในห้องเรียน และการวัดผลเด็กนักเรียน และในขณะเดียวกันน้องๆ ก็จะได้เลือกสาขาวิชาเอกตามที่ตนเองสนใจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสาขาการสอนวิชาต่างๆ ทั้งสายวิทย์-คณิตฯ สายศิลป์ และการสอนในระดับต่างๆ เป็นต้น

*** ทั้งนี้น้องๆ ต้องทำการตรวจสอบให้ดีว่าในการสมัครเข้าเรียนต่อต้องยื่นผลสอบวิชาอะไรบ้าง โดยที่ในแต่ละสาขาวิชาจะมีการยื่นผลสอบที่แตกต่างกันออกไป และยังขึ้นอยู่กับมหวิทยาลัยอีกด้วยว่าต้องการผลสอบวิชาใดบ้าง

สาขาที่เราไม่คุ้นเคย แต่เปิดสอนอยู่ในหลักสูตรครุศาสตร์

1. สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา เป็นสาขาที่เรียนทางด้านวิชาทางธุรกิจและบริหาร เช่น การบัญชี การตลาด การเงิน ควบคู่ไปกับวิชาทางครุศาสตร์ พอจบไปแล้ว นอกจากจะสามารถไปเป็นครูสอนทางด้านเศรษฐศาสตร์ได้แล้ว ยังสามารถเปิดธุรกิจเป็นของตนเองได้ด้วย หรือจะเข้าทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องในบริษัทเอกชนก็ได้

2. สาขาจิตวิทยาการศึกษา การแนะแนวและการศึกษาพิเศษ ผู้ที่เรียนสาขานี้ จะได้เรียนเกี่ยวกับการแนะแนว การให้คำปรึกษาเด็กนักเรียนทั้งในด้านจิตวิทยาและอาชีพ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เอกการศึกษาพิเศษ ก็เป็นสาขาที่เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพนั่นเอง

3. สาขาเทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) หรือเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นสาขาที่จะสอนให้น้องๆ ได้เรียนรู้วิธีในการสอนและใช้สื่อต่างๆ เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการออกแบบสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ อีกด้วย เช่น  รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นต้น

4. ครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นเอกที่ผสมผสานระหว่างการเรียนวิชาทางครุศาสตร์ และวิชาทางวิชาชีพต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ เพื่อให้บัณฑิตสามารถไปสอนในระดับ ปวช. ปวส. หรือวิทยาลัยเทคนิค เพื่อพัฒนาบุคลากรสายอาชีพที่มีความจำเป็นต่อประเทศ แต่ผู้ที่จบสาขานี้ ก็สามารถทำงานในสายอาชีพที่เรียนมาได้เหมือนกัน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น

5. การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong learning) หรือ สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นสาขาที่เชื่อว่า การเรียนรู้ของเราทุกคนนั้น ไม่ได้สิ้นสุดกันแค่ภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จากทุกสถานที่ในโลก ดังนั้น สาขานี้จึงเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่ต้องการการเรียนรู้และการอบรมอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในชุมชน หรือการฝึกอบรมในหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น

*** ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์ โดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีการปรับหลักสูตรให้ใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด 5 ปีด้วยกัน ซึ่งในปีที่ 5 ของการเรียนรู้ จะเป็นปีที่ให้นักศึกษาได้ทำการฝึกสอนจริง ก่อนจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู แต่ในบางสาขาก็ใช้เวลาในการเรียนเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น

เรียนจบครุศาสตร์ สามารถทำงานอะไรได้บ้าง

1. สอบบรรจุรับราชการครู ซึ่งแน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ที่เรียนครุศาสตร์ และสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพครู ก็จะทำการสอบเข้าบรรจุเป็นครู ทำการเรียนการสอนในรายวิชาและระดับชั้นที่ได้เรียนมา หรือบางคนอาจจะสอบเข้าเป็นครูอัราจ้าง หรือเป็นครูที่โรงเรียนเอกชนก็ได้เช่นกัน

2.  สอบบรรจุเข้าคุรุสภา ดูแลด้านนโยบาย หลักสูตร การประเมินโรงเรียน และอาจรวมไปถึงการตรวจสอบสถานศึกษาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของคุรุสภาอีกด้วย

3. ครูสอนพิเศษ น้องๆ บางคนหลังเรียนจบแล้ว อาจค้นพบว่าตนเองเหมาะที่จะสอนนักเรียนตัวต่อตัวมากกว่าการสอนหน้าชั้นเรียน หรือชอบการทำงานอิสระ เป็นนายต้างตนเอง

4. นักวิชาการด้านการศึกษา ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน และการศึกษาของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในโลก

5. อาชีพเฉพาะทาง ตามสาขาที่ได้เรียนมา เช่น

*** สุดท้ายแล้ว การทำงานในสาขาต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่ามีความรู้ มีทักษะ ที่เหมาะสมกับสายงานนั้นๆ หรือไม่ เช่น การเป็นนักออกแบบสื่อเพื่อการศึกษา ก็ต้องใช้ความรู้ทางด้านการสอน มีความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำสื่อการเรียนการสอน ให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องรู้จักการทำงานเป็นทีมอีกด้วย เป็นต้น

มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต เช่น

  1. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : portal.edu.chula.ac.th
  2. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต : education.dusit.ac.th
  3. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : edu.bsru.ac.th
  4. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา : edu.ssru.ac.th
  5. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง : www.ided.kmitl.ac.th
  6. คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : lsed.tu.ac.th
  7. วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล : www.rs.mahidol.ac.th
  8. วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพระเยา : www.cce.up.ac.th
  9. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : edu.swu.ac.th
  10. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร : www.educ.su.ac.th
  11. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : www.ku.ac.th
  12. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง : www.edu.ru.ac.th
  13. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : ednet.kku.ac.th
  14. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : www.edu.cmu.ac.th
  15. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา : www.edu.buu.ac.th
  16. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร : www.edu.nu.ac.th
  17. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : edu.msu.ac.th
  18. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต : www.rsu.ac.th
  19. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น : www.umt.ac.th
  20. คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันปัญญาภิวัฒน์ : www.pim.ac.th

ข้อมูล : www.hotcourses.in.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง