AIRPORTELs ธุรกิจบริการรับฝากส่งสัมภาระรูปแบบใหม่ – เด่น-เด่นพิพัฒน์

เด่น-เด่นพิพัฒน์ ใจตรง นักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กับธุรกิจ AIRPORTELs บริการรับฝาก-ส่งสัมภาระระหว่างสนามบินถึงที่พัก ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ด้วยมุมมองจากการเรียนในสายไอที ที่ได้นำมาต่อยอดความฝันนั้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จ

AIRPORTELs ธุรกิจบริการรับฝากส่งสัมภาระรูปแบบใหม่

ลองมาอ่านบทสัมภาษณ์ แรงบันดาลใจในการทำงานกันนะคะ

INSPIRATION

เด็กหนุ่มผู้มีความชอบในด้านเทคโนโลยี เด่นตัดสินใจเข้ามาเรียนในวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) และพบว่านอกจากการเข้ามาได้เรียนในสายที่ตัวเองรัก เขายังได้มีโอกาสได้ลองทำธุรกิจแรกจากโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

HOW TO WORK

จากธุรกิจแรกต่อยอดสู่ธุรกิจที่สอง

“ธุรกิจแรก คือ บริษัทรับวางระบบเครือข่ายเน็ตเวิร์กและให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายภายในอาคาร ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเงินทุนส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยและธนาคารออมสิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวางระบบในคอนโด อพาร์ตเม้นท์ หรือหอพัก

จากจุดนี้ทำให้เริ่มสนใจในความเป็น Startup มากขึ้น ได้มีโอกาสไปสัมมนาเจอท่านอาจารย์ที่จุฬาฯ ทำให้ได้ไอเดียใหม่ เกิดเป็นธุรกิจที่สองในชื่อ AIRPORTELs จากการเห็นนักท่องเที่ยวต้องลำบาก จากการต้องขนสัมภาระไปมาทั้งจากโรงแรม จนถึงสนามบิน เราจึงอยากทำให้ลูกค้าสะดวกสบาย และเห็นถึงช่องทางในการทำธุรกิจตรงนี้”

จุดเด่นความเป็น AIRPORTELs

“ปีนี้เราทำเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ช่วงแรกๆ มันก็ค่อนข้างยากเหมือนกันกับการเป็นเด็กใหม่ที่มาทำ Startup แต่ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แค่เป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องเจอแล้วก็ค่อยๆ เก็บฟีดแบ็กมาปรับปรุงธุรกิจของเรา ตอนนี้เราโฟกัสไปที่นักท่องเที่ยวคนจีนและเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมที่ชอบหาอะไรใหม่ๆ มาใช้ เป้าหมายของเรา ก็คือ เราอยากให้ลูกค้าได้ใช้เวลาในการเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วเราก็จะเพิ่มเวลาให้เขา Luggage Delivery ทำให้เขาสะดวกสบายมากขึ้น อย่างน้อยสามชั่วโมง คุณได้ช้อปปิ้งดินเนอร์ไปเที่ยววัดยังได้เลย

และในอนาคตเราก็มีแพลนที่จะเพิ่มเซอร์วิสอีกหลายตัวเข้ามา อย่างเรื่องการขนส่งกระเป๋าแล้ว ทำยังไงที่จะส่งคนด้วย หรืออย่างการเจาะกลุ่มคนที่พักคอนโด ที่ห้องยิ่งแคบ แต่คนยิ่งซื้อของมากขึ้น แต่ไม่รู้จะเอาของไปเก็บไว้ที่ไหน เราก็กำลังจะมีเซอร์วิสนี้แก้ปัญหาให้คุณ เราอยากเป็น One Stop Service ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาให้คุณได้ท่องเที่ยวอย่างสะดวกสบายมากขึ้น”

การนำความรู้สายไอทีผนวกกับวิชาธุรกิจมาใช้ในการทำงาน

“ผมอยู่ในตำแหน่งของ CDO หรือ Chief Digital Officer ดูแลในส่วนของออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งในการเรียนสายไอทีก็ได้นำมาใช้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการ Booking ผ่านเว็บไซต์ การสื่อสารกับลูกค้า การใช้เทคโนโลยีทางด้านภาษา เพื่อจะได้เข้าถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มต่างชาติ

นอกจากนั้นผมมองว่า วิชาบริหารกับไอที มันเป็นสิ่งที่ต่อยอดกันและกันได้ คือคุณมีความรู้ซ่อมคอมเป็น เดินระบบได้ ทำเฟซบุ๊กได้ รู้จักการจัดการด้าน Financial การเพิ่มช่องทางการขายสินค้า สิ่งเหล่านี้มันก็ต่อยอดกัน และทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมาได้

เทคนิคการทำงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

“ผมเป็นสไตล์ฟรีแลนซ์จ๋ามาก่อน แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่เรามีทีมงาน เราเป็นลีดเดอร์ของทีม เราต้องพยายามมากขึ้น จากที่เราไม่มีระเบียบวินัยในการทำงาน เราก็ต้องจัดระเบียบให้เป็น ทั้งเรื่องของเวลา เรื่องของนำเครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการทำงาน การติดต่อสื่อสารกันในทีม ทำยังไงให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในทีมก็ต้องอัพเดทงานกันบ่อยๆ

ที่สำคัญคือเราต้องมีความเชื่อมั่นในทีม เชื่อมั่นในเป้าหมาย เพราะการทำธุรกิจไม่ได้ง่าย แค่ลงเงินไปทำก๊อกแก๊กแล้วได้ตังค์ ไม่จริงเลย มันเหนื่อยมากๆ แต่พอเราได้เห็นฟีดแบ็กตลอดทางเดินของเรา มันก็เป็นกำลังใจให้เราต้องสู้เพื่อเป้าหมายต่อไป”

THINKING TO CAMPUS

“อย่างแรกเราต้องมีความรู้จริงในเรื่องที่ตัวเองจะทำก่อน ถ้าคุณเรียนด้านไอที คุณมี Passion ในด้านไอทีหรือยัง คุณรู้จริงในด้านไอทีหรือยัง ให้เราสามารถเป็นมืออาชีพในด้านนั้นก่อน แล้วถ้าเกิดสนใจที่จะทำธุรกิจก็ลองคิดไอเดียแล้วไปเสนอลูกค้า ไปเทสดูว่าไอเดียคุณขายได้จริงมั้ย ใช้ความตั้งใจและความพยายาม แล้วต่อยอดจากสิ่งที่คุณมี

นอกเหนือจากนั้นก็ต้องรับผิดชอบลูกค้าของคุณได้ ซัพพอร์ตลูกค้าได้ ถ้าเกิดมั่นใจแล้ว ก็ลงมือทำเลย ทำไปเรื่อยๆ มันเหนื่อยครับ โอกาสจะเฟลก็สูงเกือบ 90% แต่มันก็จะทำให้เราเรียนรู้แล้วก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว”

STARTUP ADVISOR

“ที่วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การเรียนการสอนไม่เพียงแต่จำกัดอยู่แต่ในห้องเท่านั้น แต่นักศึกษายังได้ฝึกฝีมือทำโครงงานที่ตัวเองชอบ ทั้งทำคนเดียวและทำกับกลุ่มเพื่อน จนเป็นผลงานที่ขยายผลเป็นธุรกิจได้จริงตั้งแต่ก่อนเรียนจบ โดยสาขาที่เปิดสอนจะเน้นด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างให้บัณฑิตสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ตลาดงานในอนาคต

เริ่มจาก สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สร้างนักพัฒนาโปรแกรมรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ต่อยอดจากโปรแกรมให้ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงระบบเครือข่ายขนาดใหญ่

สาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ เน้นตอบโจทย์การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งสินค้าและผู้คนในภูมิภาคอาเชียน

และ สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ผลิตนักสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อรับรองความต้องการภาคอุตสาหกรรมและบริการทั้งประเทศ ซึ่งทุกสาขาผู้เรียนสามารถนำความรู้จากศาสตร์ที่เรียน ไปปรับใช้และต่อยอดไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ตลาดงานด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างมืออาชีพ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE)

ติดตามคอลัมน์ Startup ในนิตยสาร Campus Star No.60

www.facebook.com/campusstar

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง