อีฟ-สิยาวารินทร์ นักกายภาพบำบัด ไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ใน รพ. เท่านั้น

กายภาพบำบัด อีกหนึ่งสาขาน่าเรียน สำหรับน้องๆ ที่สนใจจะเรียนสาขานี้ แคมปัส-สตาร์ มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเรียนสาขากายภาพบำบัด มาฝากค่ะ เป็นข้อมูลจาก “อีฟ-สิยาวารินทร์ เพชรวรรณ” นักกายภาพสาวคนเก่งที่จะมาแชร์ประสบการณ์ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนมาเรียน และหลังจบออกมาทำงานอะไรได้บ้าง ให้น้องๆ ได้อ่านไว้เป็นข้อมูลในการเตรียมตัว

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ สาขากายภาพบำบัด ต้องผ่าอาจารย์ใหญ่ด้วยนะ

1. แนะนำตัวกับน้องๆ ชาวแคมปัส-สตาร์

สวัสดีค่ะ ชื่อ สิยาวารินทร์ เพชรวรรณ ชื่อเล่น อีฟ ค่ะ เรียนจบจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดที่ สโมสรบาสเกตบอลโมโนแวมไพร์ และสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ค่ะ

2. ทำไมถึงเลือกเรียนกายภาพบำบัด

อีฟเป็นคนที่ชอบศึกษาเกี่ยวกับพวกระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบกระดูกกล้ามเนื้อ บวกกับมีความชอบทางด้านสาขาการแพทย์ ตอนจะสอบเข้ามหาลัยก็เลยพยายามหาคณะที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพอไปเปิดอ่านพวกเนื้องานของนักกายภาพบำบัด ทางด้านระบบกระดูกกล้ามเนื้อ แล้วรู้สึกว่าตอบโจทย์อีฟมากๆ ก็เลยตัดสินใจยื่นคะแนนสอบ

เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่ดูแลนักกีฬาตัวใหญ่กว่าตัว

3. คิดว่าเสน่ห์ของอาชีพนี้คืออะไร?

เสน่ห์ของวิชาชีพกายภาพบำบัดในความคิดอีฟ คือการที่เราใช้แค่หนึ่งสมองสองมือก็สามารถทำให้คนไข้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะทางด้านระบบกระดูกกล้ามเนื้อ เปรียบเสมือนได้เป็นนักสืบที่คอยหาผู้ก่อการร้ายที่ทำให้ร่างกายเราเจ็บปวด

4. อยากเรียนสาขากายภาพ ต้องทำไง?

พยายามสร้างวินัยในการอ่านหนังสือ แบ่งเวลาสำหรับการท่องจำ ทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ โดยเฉพาะความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกายวิภาคและสรีรวิทยา (Anatomy)  ที่สำคัญต้องมีเวลาให้สมองได้พักผ่อน หาสิ่งที่เราทำแล้วชอบรู้สึกผ่อนคลาย จะได้ไม่เครียดจนเกินไป ส่วนการเลือกที่เรียนนั้นก็พยายามดูว่ามหาวิทยาลัยไหนเด่นดังทางด้านนี้ หรืออาจจะดูจากเหตุผลอื่นๆ ก็ได้เช่น คะแนนแอดมินชันที่ยื่นถึงเกณฑ์หรือเปล่า เป็นต้นค่ะ

5. วิชาหลักๆ ต้องเรียนอะไรบ้าง

ตอนนี้หลักสูตรของกายภาพบำบัดยังคงเป็น 4 ปี ตอนปีแรกก็จะเป็นเนื้อหาทั่ว ๆ ไปคล้าย ๆ เนื้อหาของช่วงมัธยมปลาย แต่จะยากและละเอียดขึ้นในบางรายวิชา ส่วนพอเข้าปีที่ 2-4 ก็จะเริ่มเข้าเนื้อหาของวิชาชีพกายภาพบำบัดมากขึ้น ต้องเรียนพวก Anatomy และต้องผ่าอาจารย์ใหญ่ด้วย เพื่อศึกษาโครงสร้างภายในร่างกายอย่างละเอียด หลังจากนั้นก็จะเป็นพวกการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย กลไกการเกิดการบาดเจ็บของโรคต่างๆ การตรวจประเมิน และวิธีการรักษา ซึ่งมีทั้งทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหัวใจและปอด และในเด็ก

6. ระหว่างเรียนคิดว่าอะไรโหดหินที่สุด

โหดสุด ๆ น่าจะเป็น การที่ต้องเรียนไปสอบไปอยู่แทบตลอด เพราะเนื้อหามีเป็นร้อยสองร้อยหน้า และวิชาหลายตัวมีสอบมิดเทอม และสอบไฟนอล แถมบางตัวยังต้องมีสอบภาคปฏิบัติอีกกว่าจะผ่านช่วงสอบถี่ ๆ หรือสอบชนกันมาได้ก็อ่านกันหัวหมุนเหมือนกันนะ แต่ถ้าใจชอบก็มองว่าเป็นความหัวหมุนที่สนุกและท้าทายดีค่ะ

7. ตอนเรียน VS ทำงาน ความต่างมีมั้ย? เล่าให้ฟังหน่อย

ต่างกันพอสมควรค่ะ เพราะตอนเราเป็นนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกจะมีอาจารย์คอยคุม คอยสอน และให้คำปรึกษา แต่พอทำงานต้องลุยเดี่ยว คิดเอง ทำเอง บางโรคไม่เคยเจอมาก่อนก็ต้องกลับมานั่งทบทวนคนเดียวว่าจะต้องตรวจตรงไหนเพิ่ม แล้วจะรักษายังไง คือเป็นอาชีพที่ต้องทำให้คนไข้เชื่อในตัวเราด้วย ที่สำคัญตัวนักกายภาพเองต้องมีประสิทธิภาพในเรื่องของความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยค่ะ คนไข้จะเชื่อว่าเราสามารถดูแลรักษาเขาได้จริงๆ

8. เคสประทับใจในการทำงาน

ขอเล่าก่อนว่าหน้าที่หลักๆ ของการเป็นนักกายภาพของอีฟในปัจจุบันคือ  1.รักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬา 2.ดูนักกีฬาเวลาแข่งคือถ้าใครมีการบาดเจ็บในสนาม ก็ต้องวิ่งลงไปตรวจประเมินอาการว่ารุนแรงแค่ไหน ต้องพาส่งโรงพยาบาลหรือเปล่า  3. ฝึกพวกกล้ามเนื้อแกนกลาง และพวกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้นักกีฬา

สำหรับเคสที่ประทับใจ พี่ปาล์มในทีมสโมสรบาสเกตบอลโมโนแวมไพร์ข้อเท้าพลิกในเกมที่สามที่เจอฟิลิปปินส์ในรายการ ALB แล้วต้องลงแข่งอีกสองวัน ซึ่งอีฟใช้เวลารักษาและฝึกกล้ามเนื้อต่างๆ ให้เขา 3 ชม. ต่อวันอถึงวันที่แข่งพี่เขาวิ่งเล่นได้ปกติ แถมทีมยังคว้าชัยชนะมาได้อีก ทำให้อีฟรู้สึกดีมากจริง ๆ ที่สามารถช่วยพี่เขาให้หายเป็นปกติได้ค่อนข้างเร็วจนกลับไปลงแข่งได้ทันเวลา

9. นักกายภาพเป็นฟรีแลนซ์ได้มั้ย?

เป็นได้ค่ะ อย่างอีฟปัจจุบันทำงานเป็นทั้งนักกายภาพบำบัดที่สโมสรบาสเกตบอลโมโนแวมไพร์ และสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ค่ะ แต่ถ้าคนที่ทำงานประจำแล้วก็อาจจะแบ่งเวลายากหน่อยนะคะ

10. อาชีพนักกายภาพไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ใน รพ.

จริงๆ คนที่จบกายภาพมาสามารถต่อยอดไปได้หลายทางค่ะ ไม่จำเป็นต้องทำงานในโรงพยาบาลอย่างเดียว จะไปเรียนต่อเป็นแพทย์ เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส เปิดคลีนิก หรือแนวความสวยงามอย่างการเสริมสวยสปา ก็สามารถไปอบรมต่อยอดได้ค่ะ

มองหาอีฟได้ ที่สนาม Stadium 29 นะคะ

11. คนที่คิดจะเรียนกายภาพ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

อีฟคิดว่าคนที่จะมาเรียนคณะนี้ได้ ข้อแรกต้องมีใจรักในการดูแลผู้ป่วยก่อนค่ะ ข้อสองคือมีความละเอียดรอบคอบ เพราะทุกๆรายละเอียดเล็ก ๆน้อย ๆ ก็ส่งผลต่อสุขภาพคนไข้ได้ ข้อสามคือมีความอดทนและขยันพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ข้อสี่คือมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง เพราะต้องดูแลคนไข้หลายคน เรื่องความรับผิดชอบจึงเป็นหัวใจหลักสำคัญ

12. ฝากถึงน้องๆ ชาวแคมปัส-สตาร์ที่สนใจเรียน

ฝากถึงน้องๆแคมปัส สตาร์ที่สนใจอยากเขาเรียนคณะหรือสาขากายภาพบำบัด ว่าให้มุ่งมั่นอดทนเข้าไว้ ถ้าฝันอยากเป็นนักกายภาพบำบัดก็พยายามคว้ามาให้ได้ บนทางเดินอาจจะไม่ได้โรยด้วยกีบกุหลาบ แต่ถ้าได้ผ่านขวากหนามปลายทางที่สดใสย่อมรออยู่ค่ะ

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง