“อาจารย์ใหญ่” ไม่ใช่เพียงแค่ศพดอง เพราะสำหรับนักศึกษาแพทย์นั้น พวกเขายกย่องเชิดชูให้อาจารย์ใหญ่ เป็นผู้มีพระคุณ เป็นบุคคลที่พวกเขาเคารพ 10 เรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่ต่อไปนี้ จะทำให้ทุกคนได้รู้จักอาจารย์ใหญ่มากขึ้น และได้เห็นถึงวิธีการการเรียนของนักศึกษาแพทย์ กับอาจารย์ใหญ่ในหลายๆ มุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน สำหรับใครที่คิดอยากจะเป็นนักศึกษาแพทย์แวะมาเก็บข้อมูลไว้หน่อยก็ดีนะคะ จะได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงสนามจริง!
อาจารย์ใหญ่ ผู้อุทิศร่างกายให้นักศึกษาแพทย์
อาจารย์ใหญ่ คือ
อาจารย์ใหญ่ คือ ร่างกายของมนุษย์ ที่ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนในการบริจาคร่างกายไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ร่างกายของตัวเองในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง มหกายวิภาคศาสตร์ หรือระบบของร่างกายนั่นเอง
คุณสมบัติอาจารย์ใหญ่
ผู้ที่บริจาคร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่นั้น ต้องไม่เสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง และต้องมีอวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายครบถ้วน
รูปแบบของอาจารย์ใหญ่
อาจารย์ใหญ่มีด้วยกันทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ
1. แบบเก่า ฉีดฟอร์มาลีนเยอะ เก็บร่างไว้ใช้ได้นานตลอดปีการศึกษาหรืออาจใช้ได้นานถึงปีกว่า แต่มีข้อเสียเยอะคือ ร่างจะแข็ง ผิวหนัง ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อจะไม่มีความยืดหยุ่นเหมือนคนจริงๆ ข้อดีคือ ต้นทุนต่ำ
2. แบบแช่แข็ง ข้อดีคือ ร่างอาจารญ์ใหญ่มีสภาพใกล้เคียงมนุษย์ตอนมีชีวิตมากที่สุด แต่ก็มีข้อเสียอยู่คือ หลังจากเอาออกมาใช้แล้ว จะนำกลับออกมาใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น เนื่องจากการแช่แข็งไม่ได้มีการฉีดสารฟอร์มาลินเข้าไปฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้ร่างเสียได้ง่ายกว่าแบบแรก
3. แบบนุ่ม ข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องรีบทำอาจารญ์ใหญ่มาทำ สามารถทิ้งไว้ประมาณ 5 วันได้ เมื่อได้ศพแล้วก็จะนำมาฉีดน้ำยาพิเศษ ซึ่งน้ำยาดังกล่าว มีส่วนประกอบทั้งสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์กว่า 20 ชนิด และมีส่วนผสมของฟอร์มาลีนเพียงแค่ 2% เท่านั้น ฉีดแล้วก็นำไปแช่ไว้ในแท็งก์ประมาณ 3 เดือน วิธีนี้หากนำร่างออกมาใช้แล้วก็ยังสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 2 ปี
อาจารย์ใหญ่ แบบแช่แข็งและแบบนุ่ม
แต่อาจารย์ใหญ่รูปแบบ แช่แข็งกับแบบนุ่มนั้น หากญาติจะนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะสามารถนำไปได้เพียงผม และเล็บเท่านั้น (ดังนั้นใครที่คิดจะบริจาคร่างกายควรคุยกันให้ชัดเจนไว้ก่อน)
การรักษาศพ
เมื่อได้ร่างอาจารย์ใหญ่มา ต้องนำไปฉีดน้ำยารักษาศพ โดยฉีดเข้าทางเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขา (น้ำยารักษาศพมีฟอร์มาลินเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ) แล้วนำไปแช่ในน้ำยาแช่ศพประมาณ 1 ปี จึงจะสามารถนำขึ้นมาให้นักศึกษาาแพทย์เรียนได้ (โดยในระยะเวลาที่เรียนประมาณ 1 ปี นั้น จำเป็นต้องใช้น้ำยาพรมให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ร่างอาจารย์ใหญ่ แห้ง หรือเกิดรา)
ความรู้สึกของนักศึกษาแพทย์
นักศึกษาแพทย์จะได้ศึกษาระบบร่างกายจากอาจารย์โดยประมาณเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งตอนแรกๆ ทุกคนต่างก็มีความกลัวอยู่ในใจ แต่พอหลังจากนั้นความกลัวเปลี่ยนเป็นความเคารพ และทราบซึ้งถึงการเสียสละ หากไม่มีร่างกายของอาจารย์ใหญ่ นักศึกษาแพทย์ทุกคนก็จะไม่ได้เรียนรู้วิชาสำคัญที่คนเป็นหมอต้องเรียน
ร่างอาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน / นักศึกษา 4 คน
ในการเรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์ ร่างอาจารย์ใหญ่หนึ่งท่านจะมีนักศึกษาแพทย์ 4 คน ที่ใช้ในการเรียน โดยตอนเรียนนั้นจะมีทั้งรุ่นพี่ ทั้งอาจารย์คอยให้คำแนะนำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา
ต้องศึกษาทั้งสองเพศ..
นักศึกษาแพทย์ต้องได้ศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่ทั้ง 2 เพศ เพื่อดูความแตกต่าง ดังนั้นห้องเรียนจึงได้จัดวางอาจารย์ใหญ่ สลับเพศไว้ที่โต๊ะบริเวณใกล้ ๆ กัน
อาจารย์ใหญ่ เรื่อง กระดูก
อาจารย์ใหญ่ที่ใช้สำหรับศึกษาเรื่องกระดูกนั้น ก่อนจะนำมาศึกษา ต้องนำไปทำการชำแหละเนื้อออกจากกระดูกให้หมดเสียก่อน จากนั้นนำไปฝังทรายไว้ประมาณ 2 เดือน หรือจนกว่าเนื้อที่ติดกระดูกจะเน่าจนหมด แล้วนำกระดูกขึ้นไปทำความสะอาด ตากให้แห้ง จึงนำไปศึกษาได้
พระราชทานเพลิงศพ
เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จะร่วมกับนักศึกษาแพทย์ปี 2 ทุกคน เป็นเจ้าภาพจัดงานพระราชทางเพลิงศพ ให้กับอาจารย์ใหญ่ทุกๆ ท่าน
คุณสมบัตินักเรียนแพทย์
สุดท้ายหากใครอยากเรียนแพทย์นั้น ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานที่อาจารย์กายวิภาคฯ ต้องการ ดังต่อไปนี้
1. ความรู้วิชาพื้นฐาน วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาชีววิทยา
2. สุขภาพกาย แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีความพิการ ขนาดมาตฐานของคนไทย และสุขภาพจิตดี มีสมาธิ
3. สติปัญญา จำแม่น จำเร็ว จำนาน ช่างสังเกต ใฝ่รู้ และนำมา ประมวลจนสามารถประยุกต์ใช้ได้
4. วุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ อดทน อ่อนน้อม เสียสละ และสามารถทำงานเป็นกลุ่ม
5. ไม่รังเกียจ กลิ่น สี และรูปร่างของสิ่งที่ใช้ศึกษา
6. มีความสามารถในการใช้มือ เช่น เคยทำงานบ้านต่างๆ ได้
ข้อมูลจาก si.mahidol.ac.th , manager.co.th ภาพประกอบ marketeer.co.th , อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ให้ The Everlasting Teacher (Version เต็ม)
การบริจาคร่างกาย มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
อ่าน > ขั้นตอนการบริจาคร่างกาย เป็น “อาจารย์ใหญ่” – ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจ
- การบริจาคเส้นผม ทำวิกผมช่วยผู้ป่วยโรค
- วิธีการจัดการสภาพศพ แบบต่างๆ ในปัจจุบัน | ฉีดยา ใช้โลงเย็น
- 6 ข้อควรรู้ ก่อนบริจาคเสื้อผ้า สุขใจทั้งคนให้คนรับ ไม่บริจาคขยะ!
- บริจาคอวัยวะกับบริจาคร่างกาย ต่างกันอย่างไร? บริจาคแล้วได้อะไร บริจาคที่ไหน
- นิสิตแพทย์จุฬาฯ ร่วมพิธีบรรจุร่าง ขอขมา อาจารย์ใหญ่ (ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา)
- เปิดใจ ‘ผู้ดูแลอาจารย์ใหญ่’ ชำแหละมากว่า 80 ร่าง ลั่นตายขออุทิศร่างกาย ไทยรัฐ