กาพย์เห่เรือ วิชาภาษาไทย เจ้าฟ้ากุ้ง

สรุปความรู้ กาพย์เห่เรือ – วรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้น ม.6

Home / วาไรตี้ / สรุปความรู้ กาพย์เห่เรือ – วรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้น ม.6

สวัสดีค่ะ น้องๆ ม.6 ทุกคน เพิ่งเปิดเทอมมาไม่เท่าไหร่ ก็จะสอบเก็บคะแนนเรื่องแรกกันแล้ว แว่วๆ มาว่า เรื่องแรกก็จัดเต็มวรรณคดีกันเลย วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเนื้อหาในหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง กาพย์เห่เรือ นั่นเองค่ะ ในบทความนี้ครูพี่โบว์ก็มี “สรุปความรู้ เรื่องกาพย์เห่เรือ” มาช่วยติวน้องๆ ก่อนสอบเก็บคะแนน หรือจะใช้สอบกลางภาค ปลายภาคก็ได้นะ

สรุปความรู้ เรื่อง กาพย์เห่เรือ

บทเห่เรือที่เก่าแก่และได้รับความนิยม จนถือเป็นแบบแผนในการประพันธ์บทเห่เรืออื่นๆ จนถึงปัจจุบัน คือ “กาพย์เห่เรือ” บทพระนิพนธ์ใน เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือ พระนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2248 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต

สรุปความรู้เรื่องกาพย์เห่เรือ - วรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้น ม.6

เจ้าฟ้ากุ้งมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม ทรงพระนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เช่น กาพย์เห่เรือนันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์เห่เรือเรื่องกากี เป็นต้น

สรุปความรู้เรื่องกาพย์เห่เรือ - วรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้น ม.6

กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งมีจุดประสงค์ คือ ใช้สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์ เมื่อตามเสด็จทางชลมารค (เดินทางทางน้ำ) ไปยังพระพุทธบาท จ. สระบุรี นอกจากนั้น การเห่เรือยังเป็นการให้จังหวะแก่ฝีพายอีกด้วยค่ะ

สรุปความรู้เรื่องกาพย์เห่เรือ - วรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้น ม.6

ลักษณะคำประพันธ์ของกาพย์เห่เรือ นั้น เรียกว่า “กาพย์ห่อโคลง” คือ โคลงสี่สุภาพขึ้นต้นบท 1 บท ตามด้วยกาพย์ยานี 11 1 บท ที่มีความหมายเหมือนโคลงต้นบท และตามด้วยกาพย์ยานี 11 จนกว่าจะจบกระบวนความ

ทำนองการเห่ - กาพย์เห่เรือ

ทำนองหรือลำนำที่ใช้ในการเห่เรือ

ทำนองหรือลำนำที่ใช้ในการเห่เรือ เป็นการให้จังหวะแก่ฝีพายให้พายตามจังหวะทำนองการร้อง เพื่อความสวยงามและความพร้อมเพรียง ทำนองที่ใช้ในการเห่เรือปัจจุบันมี 3 ทำนอง คือ ช้าละวะเห่ มูลเห่ และสวะเห่

ก่อนการเริ่มต้นเห่เรือตามทำนองดังกล่าว เมื่อเรือพระที่นั่งทรงเริ่มออกจากท่ามาเข้ากระบวน พนักงานต้นเสียงเห่เรือก็จะขึ้นต้น เกริ่นเห่ เป็นทำนองตามเนื้อความในโคลงสี่สุภาพก่อน จึงมักเรียกว่า “เกริ่นโคลง” ซึ่งเป็นการให้สัญญาณเตือนฝีพายให้เตรียมพร้อม เพื่อจะเคลื่อนกระบวนและดำเนินทำนองต่อไปนี้

1.ช้าละวะเห่ มาจาก ช้าแลว่าเห่ เป็นทำนองที่ใช้เริ่มต้นการเห่ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในกระบวนทุกลำ ออกจากท่าไปพร้อมกันอย่างช้าๆ และใช้ทำนองนี้เมื่อพายเรือตามกระแสน้ำ

2. มูลเห่ หรือในการเห่เรือเล่น เรียกว่า เห่เร็ว เป็นการเห่ในจังหวะกระชั้นกระชับ ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิม ตามจังหวะกระทุ้งเส้า และใช้ทำนองนี้ขณะพายเรือทวนน้ำ

3. สวะเห่ เป็นการเห่เมื่อใกล้จะถึงที่หมายหรือเรือใกล้จะเทียบท่า

เห่เรือ

ชื่อนก – หัวโขน – หัวเรือ

ชื่อนก - หัวโขน - หัวเรือ กาพย์เห่เรือ - วรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้น ม.6

บทเห่ 4 ตอน

เนื้อหาของกาพย์เห่เรือ ประกอบด้วย บทเห่ 4 ตอน

ตามช่วงเวลาใน 1 วัน ได้แก่

– ตอนเช้า เห่ชมเรือกระบวน
– ตอนสาย เห่ชมปลา
– ตอนบ่าย เห่ชมไม้
– ตอนเย็น เห่ชมนก

จบลงด้วยยามค่ำ บทเห่ครวญ เป็นบทคร่ำครวญ พรรณนาถึงนางอันเป็นที่รัก

กาพย์เห่เรือมีลักษณะเหมือนกับการแต่งนิราศ ที่มีการพรรณนาธรรมชาติระหว่างการเดินทาง และมีการกล่าวถึงนางอันเป็นที่รัก ยกเว้น ! เห่ชมกระบวนเรือ ที่ไม่มีบทรำพันนิราศ

จากเรื่องกาพย์เห่เรือ แสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตของคนสมัยก่อน ที่ใช้การสัญจรทางน้ำอย่างเป็นปกติ และการเดินทางที่ใช้เวลานานโดยไม่มีเทคโลโนยีใดๆ ทำให้มีเวลาในการชื่นชมธรรมชาติ และมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์หรือเพลง ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ครูพี่โบว์หวังว่า สรุปความรู้เรื่องกาพย์เห่เรือ จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจเรื่องกาพย์เห่เรือ และมั่นใจในการทำข้อสอบมากขึ้นค่ะ อย่าลืมติดตามเนื้อหาสาระ เกร็ดความรู้วิชาภาษาไทยในบทความอื่นๆ กันด้วยน้า

SEEME.ME : KruBow

บทความแนะนำ