ครูพี่โบว์ วรรณคดี วิชาภาษาไทย สามัคคีเภทคำฉันท์

10 เรื่องน่ารู้ จาก สามัคคีเภทคำฉันท์ – เกร็ดความรู้จากวรรณคดี

Home / วาไรตี้ / 10 เรื่องน่ารู้ จาก สามัคคีเภทคำฉันท์ – เกร็ดความรู้จากวรรณคดี

สวัสดีค่ะ ครูพี่โบว์ขอต้อนรับน้องๆ เข้าสู่เปิดเทอมใหม่ ด้วยเกร็ดความรู้จากวรรณคดี ที่เป็นเนื้อหาในหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ค่ะ … ในบทความนี้ครูพี่โบว์มี “ 10 เรื่องน่ารู้ ความเป็นมา สามัคคีเภทคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ ” ที่จะมาสรุป ย่อ และเก็งข้อสอบให้แบบเน้นๆ เนื้อๆ ชนิดที่เกรดสี่ลอยมาเลยค่ะ

ความเป็นมา สามัคคีเภทคำฉันท์

เรื่องที่ 1 ความหมายของ “สามัคคีเภท”

“สามัคคีเภท” เป็นคำสมาส ระหว่าง “สามัคคี” และ “เภท” ซึ่ง “เภท” มีความหมายว่า การแตกแยก ดังนั้น “สามัคคีเภท” จึงหมายถึง “การแตกความสามัคคี”

เรื่องที่ 2 ผู้แต่ง “สามัคคีเภทคำฉันท์”

“สามัคคีเภทคำฉันท์” เป็นสำนวนการแต่งของ นายชิต บุรทัต ซึ่งเป็นกวีในรัชกาลที่ 6 แต่งขึ้นในปี พ.ศ.2457 นายชิตใช้นามสกุลเดิมว่า “ชวางกูร” โดยได้รับพระราชทานนามสกุล “บุรทัต” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นามปากกาของนายชิต บุรทัต คือ “เจ้าเงาะ”“เอกชน” “แมวคราว”

เรื่องที่ 3 รูปแบบการประพันธ์ “สามัคคีเภทคำฉันท์”

“สามัคคีเภทคำฉันท์” ใช้รูปแบบการประพันธ์เป็นร้อยกรอง ชนิดคำฉันท์ ซึ่งเกิดจากคำประพันธ์ชนิด “กาพย์” มี 2 ชนิด คือ กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 และเกิดจากคำประพันธ์ชนิด “ฉันท์” ที่ใช้ถึง 18 ชนิด

เรื่องที่ 4 ฉันทลักษณ์สำคัญที่ควรรู้

คำประพันธ์ชนิด “ฉันท์” จะมีฉันทลักษณ์ที่เป็นลักษณะบังคับ ได้แก่

  • ครุ คือ พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว เช่น ตา แม่ ปู และสระ อำ ใอ ไอ เอา เช่น ทำ ใจ ไป เดา รวมทั้งพยางค์ที่มีตัวสะกด เช่น แมว จาน กลม เป็นต้น
  • ลหุ คือ พยางค์ที่ประสมกับสระเสียงสั้น และจะต้องไม่มีตัวสะกด เช่น จะ สิ ก็ ธ เป็นต้น

เรื่องที่ 5 ที่มาของเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์”

“สามัคคีเภทคำฉันท์” เกิดจากวิกฤตการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1, กบฏ ร.ศ. 130 ประกอบกับคนไทยในสมัยนั้น ได้รับการศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดแนวความคิด เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองที่หลากหลาย จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง ทำให้ในช่วงดังกล่าว มักเกิดความนิยมแต่งวรรณคดีปลุกใจให้รักชาติ สามัคคีเภทคำฉันท์ก็เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่มุ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี การรวมเป็นหมู่คณะ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามัคคีเภทคำฉันท์จึงถือเป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาเป็นคติสอนใจ

เรื่องที่ 6 ลักษณะของเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์”

“สามัคคีเภทคำฉันท์” เป็นนิทานสุภาษิต ในมหาปรินิพพานสูตรและอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกาย มหาวรรค ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ หนังสือรุ่นแรกของมหามงกุฎราชวิทยาลัย ที่เรียบเรียงเป็นภาษาบาลี นายชิต บุรทัต อาศัยเค้าคำแปลของเรื่องสามัคคีเภทนี้มาแต่งเป็นคำฉันท์เพื่อแสดงฝีมือ

เรื่องที่ 7 ตัวละครในเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์”

• พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ
• พระกุมารและกษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี
• วัสสการพราหมณ์ ปุโรหิต ที่ปรึกษาของพระเจ้าอชาตศัตรู

 ความเป็นมา สามัคคีเภทคำฉันท์

เรื่องที่ 8 เนื้อเรื่องย่อ “สามัคคีเภทคำฉันท์”

พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ มีพระประสงค์จะขยายอาณาจักร ไปยังแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี แต่แคว้นวัชชีปกครองโดยยึดมั่นในหลักอปริหานิยธรรม ซึ่งเน้นความสามัคคีเป็นหลัก ทำให้การโจมตีไม่สามาถใช้กำลังได้เพียงอย่างเดียว

วัสสการพราหมณ์ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ได้อาสาเป็นไส้ศึก ไปยุยงเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีให้แตกความสามัคคี เริ่มแผนการโดยกราบทูลทัดทานการไปตีแคว้นวัชชี พระเจ้าอชาตศัตรูแสร้งกริ้ว จึงทรงสั่งให้ลงโทษและเนรเทศวัสสการพราหมณ์

วัสสการพราหมณ์เดินทางไปแคว้นวัชชี ได้ใช้วาทศิลป์และเหตุผลโน้มน้าวใจ ทำให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีทรงหลงเชื่อ รับวัสสการพราหมณ์ไว้ในราชสำนัก ให้ทำหน้าที่พิจารณาคดีความ และถวายพระอักษรเหล่าพระกุมาร โดยไม่รู้ว่าเป็นอุบาย

วัสสการพราหมณ์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ จนเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัย ก็เริ่มแผนการโดยสร้างความคลางแคลงใจในหมู่พระกุมาร เหล่าพระกุมารนำความไปกราบทูลพระบิดาต่างก็ทรงเชื่อถือพระโอรสของพระองค์ ทำให้เกิดความขุ่นเคืองกันทั่วในหมู่กษัตริย์ลิจฉวี เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี ความสามัคคีก็ถูกทำลายสิ้น

วัสสการพราหมณ์ทดสอบด้วยการตีกลองนัดประชุม ปรากฏว่าไม่มีกษัตริย์ลิจฉวีมาเข้าร่วมประชุมสักพระองค์ เมื่อมั่นใจว่าแผนการสำเร็จ จึงลอบส่งข่าวไปยังพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ยกทัพมาตีแคว้นวัชชี เมื่อกองทัพแคว้นมคธมาถึงเมืองเวสาลี ชาวเมืองตื่นตระหนก แต่เพราะความทิฐิ ทำให้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดออกมาป้องกันเมือง วัสสการพราหมณ์จึงเปิดประตูเมืองให้กองทัพมคธเข้ามายึดได้อย่างง่ายดาย

เรื่องที่ 9 ข้อคิดจาก “สามัคคีเภทคำฉันท์”

ข้อคิดสำคัญที่ได้จากเรื่อง คือ โทษของการแตกความสามัคคี นอกจากนั้นยังให้ข้อคิดในเรื่องการขาดการพิจารณาไตร่ตรองทำให้นำไปสู่ความสูญเสีย ดังเช่น เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

เรื่องที่ 10 “อปริหานิยธรรม” หลักสำคัญจาก “สามัคคีเภทคำฉันท์

“อปริหานิยธรรม 7 ประการ” หลักสำคัญที่ชาวแคว้นวัชชียึดมั่น ได้แก่

  1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
  2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
  3. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติเอาไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมตามที่วางไว้เดิม
  4. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง
  5. บรรดากุลสตรี กุลกุมารีทั้งหลายให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหงหรือฉุดคร่าขืนใจ
  6. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป
  7. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งใจว่าขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

สามัคคีเภทคำฉันท์ ถือเป็นวรรณคดีที่ทันสมัยเรื่องหนึ่ง เพราะ “ความสามัคคี” มีความสำคัญในทุกสถานภาพ ทุกสภาพแวดล้อม และทุกองค์กร หากเรามีความสามัคคีแล้วนั้นปัญหาต่างๆ ก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี

ครูพี่โบว์ชอบเรียน ชอบสอนวรรณคดี เพราะนอกจากเนื้อหาที่เราได้เรียนรู้แล้วนั้น เรายังได้วิเคราะห์ตัวละครในแง่มุมต่างๆ เช่น ในวรรณคดีเรื่องนี้ตัวละครที่โดดเด่น คือ วัสสการพราหมณ์ เป็นตัวละครที่ฉลาดหลักแหลม บางคนมองว่าเป็นตัวร้าย ตัวโกง แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่ง ตัวละครตัวนี้มีความเสียสละและจงรักภักดี เพราะยอมทั้งถูกทำโทษ ถูกเนรเทศ เพื่อให้บรรลุพระประสงค์ของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์ของตน

ในหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ ยังมีวรรณคดีที่น่าเรียนอีกหลายเรื่องนะคะ ในบทความหน้า ครูพี่โบว์จะมีเกร็ดความรู้เรื่องอะไรมาบอกต่อกันนั้น น้องๆ อย่าลืมติดตามกันนะคะ

บทความแนะนำ