ข้อสอบ O-NET คำราชาศัพท์ คำศัพท์

คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ ออกชัวร์ ออกทุกปี – สรุปเทคนิคการจำ

Home / ข่าวการศึกษา / คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ ออกชัวร์ ออกทุกปี – สรุปเทคนิคการจำ

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับครูพี่โบว์อีกครั้งนะคะ วันนี้ครูพี่โบว์มีเกร็ดความรู้สำหรับน้องๆ ม.ปลาย โดยเฉพาะน้องๆ ม.6 ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาฝากกันค่ะ .. มีเนื้อหาภาษาไทย ม.6 เรื่องหนึ่งที่ออกข้อสอบทั้ง O-NET และ 9 วิชาสามัญ เรียกว่า ออกชัวร์ ออกทุกปี และมักทำให้เด็กๆ พลาดคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย นั่นก็คือ “ราชาศัพท์” วันนี้ครูพี่โบว์ได้รวบรวม คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ และสรุปเทคนิคการจำ มาฝากน้องๆ กันค่ะ

คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อธิบายไว้ว่า “ราชาศัพท์” เป็นคำนาม หมายถึง คำที่ใช้กราบบังคมทูล ซึ่งก็คือ ศัพท์หรือถ้อยคำสำหรับกราบบังคมทูลพระราชา แต่การเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยจะหมายรวมถึง ถ้อยคำที่ใช้เหมาะสมถูกต้องตามฐานะของบุคคล ซึ่งได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ (เจ้านาย) พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ รวมถึงสุภาพชน

ในที่นี้ครูพี่โบว์ได้รวบรวมราชาศัพท์ที่มักออกข้อสอบและเทคนิคการจำ 5 ข้อ มาฝากกันค่ะ ไปดูกันเลย

1. หมายกำหนดการ – กำหนดการ

• หมายกำหนดการ คือ เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรมราชโองการ
• กำหนดการ คือ ระเบียบการที่บอกถึงขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ

* ดังนั้นคำว่า “หมายกำหนดการ” จึงเป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธี และเอกสารนั้นจะต้องอ้างพระบรมราชโองการ เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น ส่วนคำว่า “กำหนดการ” ใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานทั่ว ๆ ไปที่ทางราชการหรือส่วนเอกชนจัดขึ้น เช่น กำหนดการกิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

2. พระราชอาคันตุกะ – อาคันตุกะ

ทั้ง “พระราชอาคันตุกะ” และ “อาคันตุกะ” ต่างเป็นคำนาม มีความหมายว่า แขกผู้มาเยือน

**ต่างกันตรงที่ว่า หากเป็นแขกของกษัตริย์ จะใช้คำว่า “พระราชอาคันตุกะ” เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ และในกรณีที่กษัตริย์ได้รับเชิญจากผู้รับแขกที่เป็นสามัญชนจะใช้คำว่า “อาคันตุกะ” เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นอาคันตุกะของประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์

3.ทูลเกล้าฯ ถวาย – น้อมเกล้าฯ ถวาย

“ทูลเกล้าฯ ถวาย” หรือ “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย” และ “น้อมเกล้าฯ ถวาย” หรือ “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย” เป็นราชาศัพท์แปลว่า “มอบให้” ใช้สำหรับการถวายสิ่งของ หากเป็นสิ่งของที่มีขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา สามารถยกได้ เช่น ช่อดอกไม้ หนังสือ กระเป๋าสาน ใช้คำว่า “ทูลเกล้าฯ ถวาย” หากเป็นสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักเยอะ ไม่สามารถยกได้ เช่น อาคาร ที่ดิน รถยนต์ ใช้คำว่า “น้อมเกล้าฯ ถวาย”

คำราชาศัพท์ ที่มักออกข้อสอบ ออกชัวร์ ออกทุกปี - สรุปเทคนิคการจำ

4. พระบรมฉายาลักษณ์/ พระฉายาลักษณ์ – พระบรมสาทิสลักษณ์/ พระสาทิสลักษณ์

• พระบรมฉายาลักษณ์/ พระฉายาลักษณ์ คือ รูปถ่ายหรือภาพถ่าย (สังเกตคำว่า “ฉาย” คือถ่ายนั่นเองค่ะ)
• พระบรมสาทิสลักษณ์/ พระสาทิสลักษณ์ คือ รูปเขียนหรือภาพวาด (สังเกตคำว่า “สาทิส” คล้าย “สาธิต” ค่ะ)

5. คำว่า “ทรง”

คำว่า “ทรง” ห้าม! ตามด้วยคำกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงเสด็จ ทรงโปรด ทรงเสวย ทรงบรรทม ฯลฯ “ทรง” ใช้เติมหน้าคำกริยาสามัญ เพื่อเป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงวิ่ง ทรงทราบ นอกจากนี้ สามารถใช้ ทรง” เติมลงข้างหน้าคำนามสามัญเพื่อให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงม้า ทรงดนตรี เป็นต้น

เทคนิค 5 ข้อข้างต้น คงจะช่วยทำให้น้องๆ ทำข้อสอบเรื่องราชาศัพท์ได้อย่างถูกต้อง จะได้ไม่พลาดคะแนนสำคัญในทุกสนามสอบอย่างแน่นอนค่ะ …

พบกันใหม่บทความหน้ากับ “เกร็ดความรู้ฉบับกระเป๋าก่อนเข้าห้องสอบ” อย่าลืมติดตามกันน้า💕

บทความแนะนำ