ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า น้อง ๆ หลายคนอาจกำลังสับสน ตื่นเต้น กังวลหรือทดท้อใจ ทั้งด้วยเวลาที่จำกัด กิจกรรมและภาระหน้าที่ที่มีมากมายในแต่ละวัน วันนี้ครูพี่โบว์จึงมีเทคนิคดี ๆ เทคนิคการอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย มาฝากกันค่ะ
เทคนิคการอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เทคนิคพิชิตคำว่า “ไม่” – โค้งสุดท้ายการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เตรียมตัวอย่างไรดี ?
“ไม่มีเวลา หรืออ่านไม่ทัน”
“ไม่มีเวลาหรืออ่านไม่ทัน” ถือเป็นปัญหาหลักของการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้นะคะ น้อง ๆ จะต้องจัดตารางเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม เริ่มต้นจากการจัดสรรเวลาหลังเลิกเรียน ไม่ว่าจะทำการบ้าน ช่วยงานบ้าน ผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ ซึ่งแต่ละคนจะมีช่วงเวลาและวิธีการที่เหมาะสมแตกต่างกันค่ะ
สำหรับครูพี่โบว์วิธีอ่านหนังสือที่ได้ผลดีที่สุดคือ ครูจะรีบทำการบ้านให้เสร็จแล้วเข้านอนประมาณหนึ่งทุ่ม ตื่นนอนประมาณเที่ยงคืน หลังจากนั้นล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น หาขนมขบเคี้ยวมาเตรียมพร้อม เมื่อร่างกายได้พักผ่อน สมองได้คลายความเหนื่อยล้า ทั้งร่างกายและสมองก็พร้อมแล้วสำหรับการอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนค่ะ
“ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน”
ปัญหาข้อนี้น่าจะเป็นปัญหาฮ็อตฮิตที่สุด น้อง ๆ หลายคนมีแรงฮึด มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความตั้งใจที่จะเริ่มอ่าน แต่เอ … แล้วจะเริ่มอย่างไรดี จะเริ่มวิชาไหน วิธีการที่ง่ายที่สุดที่ครูพี่โบว์จะแนะนำ ก็คือ น้อง ๆ จะต้องศึกษารายละเอียดของสาขาวิชาที่ต้องการสอบในแต่ละรอบของระบบ TCAS ว่าจะต้องใช้น้ำหนักคะแนนส่วนไหน ในการสอบรอบใด ต่อจากนั้นก็มุ่งเป้าไปที่วิชาที่มีน้ำหนักคะแนนมากที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก
เช่น สาขาที่เราจะสอบเข้าใช้น้ำหนักคะแนน GAT 50% เราก็จะมุ่งเป้าไปที่ GAT เชื่อมโยง และ GAT ภาษาอังกฤษ รวมทั้งวิชาอื่น ๆ ตามลำดับ หรือน้อง ๆ อาจจะเลือกอ่านทบทวนในรายวิชาที่ชอบมากที่สุดก่อนก็ได้นะคะ
เทคนิคการอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
“อ่านอย่างไรก็ไม่เข้าใจ อ่านเท่าไหร่ก็ไม่จำ”
แต่ละคนมีเวลาเตรียมตัวไม่เท่ากัน บางคนอ่านล่วงหน้าเป็นปี บางคนอ่านก่อนสอบเพียงไม่กี่เดือน บางคนวันนี้กำลังจะเริ่มอ่าน ดังนั้นก่อนที่จะถึงวันสอบ น้อง ๆ ก็อาจจะลืมสาระสำคัญหรือลืมว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ควรจะเน้น ส่วนไหนที่ควรจะทวน ยิ่งเมื่อเวลาบีบเข้ามา ความกดดันก็มากขึ้นจนแทบจะหลงลืมไปเสียทุกเรื่อง ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด ก็คือ จดสรุปย่อสาระสำคัญเป็นหัวข้อหรือแผนภาพตามสไตล์ที่ชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น สามารถจัดลำดับความคิดได้ดี
และที่สำคัญรูปแบบของสมุดโน้ต สีของปากกาไฮไลท์ สัญลักษณ์ที่น้อง ๆ วาดในสรุปย่อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้การอ่านมีสีสัน ทำให้จดจำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มอรรถรสในการอ่านด้วยนะคะ
:: จำทุกอย่างได้ยังไง? นักวิทยาศาสตร์เผย เทคนิคการจำ ทำตามง่ายได้ผลจริง
“ไม่อยากอ่าน ขี้เกียจอ่าน เดี๋ยวค่อยอ่าน”
“ไม่” ข้อสำคัญที่เราจะต้องฝืนใจพิชิตให้ได้ คือ ความขี้เกียจ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต้องเคย “ไม่อยากอ่าน” “ขี้เกียจอ่าน” “ค่อยอ่านก็แล้วกัน” “เอาน่าพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่” หรือ “อ่านไปก็เท่านั้น” แต่น้อง ๆ เชื่อไหมคะว่า เวลาที่เราผัดออกไปเรื่อย ๆ นั้น เราสามารถอ่านหนังสือจบได้เป็นเรื่อง เป็นบท ฝึกทำข้อสอบได้เป็นสิบ ๆ ข้อ
ดังนั้นเราจะต้องกำจัดเจ้าความขี้เกียจไปให้ได้ โดยอาจสร้างแรงจูงใจ หากำลังใจ หาแรงบันดาลใจ เช่น คณะที่ใฝ่ฝัน สาขาที่ชอบ มหาวิทยาลัยที่ใช่ ไอดอลในใจ รวมทั้งกำลังใจจากครอบครัวสำคัญที่สุดค่ะ ตอนที่ครูพี่โบว์กำลังจะสอบ ครูจริงจังถึงขั้นเขียนชื่อคณะในฝันติดเต็มห้องนอนเลยทีเดียว เรียกว่าหันไปทางไหนเป็นต้องเจอ … วิธีนี้มันช่วยได้จริง ๆ น้า
ติวเข้ม สรุปสาระสำคัญข้อสอบ O-NET และ 9 วิชาสามัญ
SEEME.ME : KruBow
ครูพี่โบว์หวังว่าเทคนิคทุกข้อจะช่วยให้น้อง ๆ สามารถใช้เวลาที่เหลือก่อนวันสอบในการอ่านหนังสือ และเตรียมความพร้อมได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เริ่มอ่านวันนี้ก็ยังไม่สายนะคะ >>> น้อง ๆ พร้อมมั้ยคะ ถ้าพร้อมแล้ว ก่อนเปิดหนังสือ เรามาพิชิตคำว่า ‘ไม่’ ไปพร้อมกันเลยค่า
โดย ครูพี่โบว์
บทความแนะนำ
- อ่านหนังสือตอนไหนดีที่สุด เช้าและกลางวัน หรือ ตอนกลางคืน ดีกว่า ?
- 5 เคล็ดลับ จัดตารางอ่านหนังสือสอบเข้ามหา’ลัยยังไง ให้ได้ผลดีที่สุด
- รวมข้อสอบ 9 วิชาสามัญ ปี 2555-2559 พร้อมเฉลย | คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี อังกฤษ ฯลฯ
- สรุปการสอบ O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, กสพท คืออะไร? ต้องสอบอะไรบ้าง?
- อ่านเยอะไปก็ไม่ช่วย! 6 เคล็ดลับการอ่านหนังสือยังไง ให้จำได้ดีขึ้น เข้าใจมากขึ้น
- อาหาร 6 ชนิด ที่เราไม่ควรกินตอนอ่านหนังสือ ไม่งั้นได้หลับก่อนอ่านหนังสือจบแน่นอน