ครูผู้สร้างนักคหกรรมศาสตร์ ผศ.วินัย ตาระเวช กับผลงานประดิษฐ์สุดสร้างสรรค์

ผศ.วินัย ตาระเวช อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี วัย 50 กะรัต ที่ชีวิตพลิกผันจากการทุ่มเททำงาน จนต้องนอนโรงพยาบาลนานหลายวัน ทั้งครอบครัว เพื่อน ลูกศิษย์นักศึกษาแวะมาเยี่ยมและผลัดกันดูแลตลอด จนพยาบาลสงสัยว่าเราเป็นใคร ถึงมีคนเอาใจใส่มากเช่นนี้

เขาหาข้อมูลและบอกว่า “หมอจะดูแลอาจารย์เป็นอย่างดี เพราะอาจารย์ต้องกลับไปช่วยคนอีกหลายชีวิต” จึงตั้งปณิธานว่า ถ้าหายป่วย จะดูแลสุขภาพให้ดี สร้างสรรค์ผลงานให้มากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะนักศึกษาเพื่อสร้างโอกาสแก่พวกเขาต่อไป

ครูผู้สร้างนักคหกรรมศาสตร์

หลายผลงานที่ผ่านมืออาจารย์ผู้นี้และประจักษ์ต่อสาธารณชน หลายโอกาสสำคัญ เช่น ประดิษฐ์พระประทีป ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, ออกแบบควบคุมจัดดอกไม้หน้าพระโกศและพระเมรุ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, จัดทำประติมากรรมดอกไม้แห้งงานดอกไม้แห่งราชัน บุหงาโครงการหลวง, ถวายงานออกแบบควบคุมการจัดดอกไม้ห้องประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี งานพระราชทานปริญญาบัตร มทร. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน

รวมถึงประดิษฐ์พวงมาลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ควบคู่กับการร่วมประกวดแข่งขัน เพื่อสืบสานงานศิลป์และพัฒนาฝีมือ จนได้รับรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน

นักศึกษาคหกรรมศาสตร์ฯ ส่วนใหญ่มีฐานะไม่ค่อยดี

ผศ.วินัย เล่าว่า นักศึกษาคหกรรมศาสตร์ฯ ส่วนใหญ่มีฐานะไม่ค่อยดี “บางครั้งเวลาที่พวกเขาทำงานเพื่อส่วนรวม อาจทำให้กลับบ้านช้ากว่าปกติ เราก็ช่วยสนับสนุนอาหารและเครื่องดื่ม” เพราะเราอยู่ด้วยกันแบบครอบครัว และดูแลเป็นรายกรณี มีการจัดหาทุนบางส่วนให้จากอาจารย์ในสาขา ศิษย์เก่าและเจ้าของสถานประกอบการต่าง ๆ โดยคัดเลือกจากพฤติกรรมการเรียน “ต้องขยันเรียน ตั้งใจเรียน และช่วยเหลืองานส่วนรวม”

ข้อคิดในการทำงานหรือกิจกรรมให้สำเร็จ

ผศ.วินัย เห็นว่า ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่กระทำ จะทำให้เราทำอย่างมีความสุข ทำให้เกิดพลังการทำงานและเกิดเป็นผลงานสำเร็จได้ในไม่ช้า และการปั้นนักศึกษาให้ไปถึงฝัน ประกอบวิชาชีพ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้จากสาขาที่เรียนนั้น เป็นเรื่องใหญ่และอาศัยหลายปัจจัย

ต้องวางอนาคตตัวเองล่วงหน้า

“ต้องวางอนาคตตัวเองล่วงหน้า หรือเรียนรู้แบบอย่างของรุ่นพี่ที่ก้าวหน้า ต้องเป็นนักลงมือปฏิบัติ ต้องขยัน เป็นจิตอาสา รู้จักช่วยเหลือสังคม ไม่ละทิ้งงานเมื่อได้รับมอบหมาย” เพราะจากประสบการณ์ ถ้านักศึกษาเป็นอย่างที่เล่ามา ประสบความสำเร็จหรืออาจจะใกล้ความฝันมากที่สุดอย่างแน่นอนในชีวิตคหกรรมศาสตร์

บางกรณีที่เด็กไม่สนใจเรียน ไม่รับผิดชอบงาน จะส่งไปฝึกงานกับศิษย์เก่าที่เป็นรุ่นพี่ ผลปรากฏว่าเด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก อาจเป็นเพราะได้เห็นโลกอาชีพจริง เห็นประโยชน์ทางวิชาการ จึงกลับมาตั้งใจเรียนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสร้างสรรค์งานต่อไป และทุกวันนี้ยังคงใช้วิธีการอยู่ ก็ได้ผลดีเช่นเคย และพยายามเน้นการเชื่อมโยงวิชาการกับวิชาชีพกับนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ “ถ้าพวกเขาสามารถประกอบธุรกิจ เกิดเป็นอาชีพที่ตรงกับสาขาที่เรียนมา คนเป็นครูบาอาจารย์ ก็ภาคภูมิใจมากพอแล้ว”

ใครที่จะเข้ามาเรียนในสาขาวิชานี้ ไม่ใช่มองว่าใช้เพียงความคิดสร้างสรรค์ และสร้างเป็นอาชีพที่มีชื่อเสียง แต่ต้องค้นหาความชอบของตัวเราให้เจอก่อน เพื่อจะได้เข้าสู่โลกอาชีพได้อย่างมั่นคง แม้ว่าเทคโนโลยีจะขับเคลื่อนไม่หยุดยั้ง “คหกรรมศาสตร์ก็ไม่มีวันตาย” แต่จะมาช่วยเสริมให้งานคหกรรมศาสตร์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน ช่วยส่งเสริมด้านการตลาด แต่ที่แน่นอนที่สุด “นักคหกรรมศาสตร์ ยังคงต้องใช้รสมือในการปรุงอาหาร ประดิษฐ์ผลงาน เย็บปักถักร้อย ที่ถือเป็นเสน่ห์และความสามารถเฉพาะบุคคล ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถเลียนแบบ หรือกระทำได้”

ทุกคนเกิดมาเป็นนักคหกรรมอยู่แล้ว

“ทุกคนเกิดมาเป็นนักคหกรรมอยู่แล้ว ต้องกินต้องสวมใส่เสื้อผ้า จัดการที่อยู่อาศัย ออกแบบตกแต่ง ดูแลครอบครัว รวมถึงสร้างสุนทรียภาพแก่ตนเองและครอบครัวด้วย ซึ่งหมายถึงความสวยงาม ทั้งดอกไม้ งานศิลปะ งานประดิษฐ์สร้างสรรค์ที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมประเพณี ที่สำคัญคหกรรมยังสร้างรายได้สร้างอาชีพอย่างน่าสนใจ และเป็นพันธกิจโดยตรงต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติและโลกใบนี้” นี่คือเสน่ห์ของวิชาชีพ ‘คหกรรมศาสตร์’

ผศ.วินัย กล่าวถึงรางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับมากมาย อาทิ รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาคหกรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2533 ถือเป็นหนึ่งรางวัลสำคัญในชีวิตการทำงาน และล่าสุดยังได้รับรางวัลเพชรราชธานี ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาคหกรรมศิลป์ ปี พ.ศ.2560 จากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏอุบลราชธานี

และกล่าวสรุปไว้ว่า “จะสร้างงานประดิษฐ์สร้างสรรค์อย่างวิจิตรต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อแสดงให้ทุกคน เห็นถึงคุณค่าวิชาชีพนี้ และจะปั้นนักคหกรรมศาสตร์ด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ลูกศิษย์ทุกคนมีอนาคตที่ประสบความสำเร็จ”

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง