โรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนอัสสัมชัญ

Assumption College

Home / academy / โรงเรียนอัสสัมชัญ
โรงเรียนอัสสัมชัญ (บ้างเรียก อัสสัมชัญบางรัก หรือ อัสสัมชัญกรุงเทพ, ย่อ: อสช, AC) เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนแบ่งออกเป็น… See More

โรงเรียนอัสสัมชัญ (บ้างเรียก อัสสัมชัญบางรัก หรือ อัสสัมชัญกรุงเทพ, ย่อ: อสช, AC) เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ แผนกประถม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเซนต์หลุยส์ 3 ถนนสาทรใต้ และแผนกมัธยม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 (ซอยบูรพา) ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก

โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนแห่งแรกในเครือคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์หลุยส์ และโรงเรียนที่ใช้คำนำหน้าว่า “อัสสัมชัญ” ด้วยกัน 11 แห่ง และมหาวิทยาลัย 1 แห่ง

โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ปัจจุบันโรงเรียนมีอายุ 130 ปี เป็นโรงเรียนชายที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และเป็นโรงเรียนโรมันคาทอลิกแห่งแรกของประเทศ มีศิษย์เก่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 คน, องคมนตรี 15 คน และนายกรัฐมนตรี 4 คน รวมถึงนักธุรกิจ ผู้บริหารอีกหลายคน จากการจัดอันดับหัวข้อ “50 มหาเศรษฐีในไทยประจำปี 2015” ของฟอร์บส์ประเทศไทย โดยใน 10 อันแรกก็มีบุคคลหรือทายาทในตระกูลที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมขัญ ติดอันดับรวม 3 อันดับด้วยกัน

โรงเรียนอัสสัมชัญ

ตึก_ฟ.ฮีแลร์

ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนอัสสัมชัญ (อังกฤษ: Assumption College) (อักษรย่อ: อสช, AC) ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2420 โดยบาทหลวงเอมิลกอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน) เปิดเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ” (Le Collège de L´Assomption) ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” โดยใช้อักษรย่อ อสช หรือ AC
ด้วยความใฝ่ฝันที่จะต่อสู้กับการปล่อยปละละเลยในเรื่องการศึกษา และความโง่เขลาของเด็ก ๆ ในละแวกวัดในปี พ.ศ.2420 (ค.ศ.1877) บาทหลวงเอมิลกอลมเบต์ จึงตั้งโรงเรียนวัดชื่อโรงเรียนไทย – ฝรั่ง เพื่อสอนภาษาฝรั่งเศส และภาษาไทย ในวันแรกมีนักเรียน 12 คน สมัยนั้นเยาวชนทั้งหลายมิได้นำพาเอาใจใส่ต่อการเรียนส่วนใหญ่ มุ่งแต่จะเที่ยวเล่นไปตามลำคลองเท่านั้น แต่บาทหลวง กอลมเบต์เห็นการณ์ไกลไม่ท้อถอย สองปีต่อมาท่านจึงเปิดสอนภาษาอังกฤษเพิ่มอีกหนึ่งภาษา

จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2428 (ค.ศ.1885) โรงเรียนได้เปิดอย่างเป็นทาง การใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซัมซานกอเล็ศ” โดยใช้เรือนไม้หลังใหญ่ซึ่งเคยเป็นที่พักของเณรคาทอลิกให้เป็นอาคารเรียนหลังแรก และขอร้องให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาเรียน วันแรกมีนักเรียนนับจำนวนได้ 33 คน จนถึงสิ้นปีมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน ในปีต่อมา มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 130 คน

เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นและโรงเรียนเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น ท่านจึงขยายโรงเรียนโดยสร้างอาคารเรียนอีกหนึ่งหลังโดยทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี อีกทั้งบอกบุญเรี่ยไรไปยังบรรดาเจ้านายพ่อค้าทั้งชาวไทย และชาวต่าง ประเทศในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ ด้านทุนทรัพย์เป็นอย่างดี

ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2430 (ค.ศ. 1887) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกเรียนหลังแรก ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ตึกเก่า”
ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 (ค.ศ.1901) คณะเซนต์คาเบรียลได้ส่งคณะภราดา 5 ท่านมายังประเทศไทย เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งชราภาพได้แก่ ภราดามาร์ติน เดอตูรส์ (อธิการคนที่ 2) ภราดาอาแบล ภราดาออกูส ภราดาคาเบรียล ฟาเร็ตตี และหนึ่งในนั้น ได้แก่ ภราดาฮีแลร์ โดยได้เข้ามาสานต่องานด้านการ ศึกษา โรงเรียนนี้ถือเป็นโรงเรียนแรกในเครือมูลนิธิฯ ที่รับเฉพาะนักเรียนชาย ต่อมาในปี พ.ศ.2453 (ค.ศ.1910) โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อจาก โรงเรียนอาซัมซานกอเล็ศ เป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” และใช้ชื่อย่อว่า อสช โดยยังคงความหมายเดิม ซึ่งหมายถึง ตำแหน่งสำหรับระงับบาป และหาวิชาความรู้
เมื่อมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทำให้ตึกเรียนไม่เพียงพอกับความ ต้องการของผู้ปกครองและศิษย์เก่า ทางคณะภราดาเซนต์คาเบรียล จึง ได้มีมติให้ก่อตั้ง โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม ขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2508
ณ บ้านเลขที่ 90/1 ซอยเซนต์หลุยส์ 3 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร จังหวัด กรุงเทพฯ บนเนื้อที่ 5 ไร่ 4 งาน
ทั้งนี้ โรงเรียนเปิดโครงการการเรียนการสอนตามหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษา อังกฤษ (English Program) ในปี พ.ศ. 2544 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนที่สนใจ

ตลอดระยะเวลาที่โรงเรียนเปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2428 จนถึงปัจจุบันย่อมเป็นที่ประจักษ์ แก่สังคมว่านักเรียนอัสสัมชัญสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ เป็นผู้มีความพร้อมทั้งด้านวิชา ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และมีคุณธรรมประจำใจสามารถประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างสง่างามและได้รับใช้ประเทศชาติ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 ท่าน อันได้แก่

– พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (เลขประจำตัว 961)
– ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (เลขประจำตัว 3567)
– พันตรีควง อภัยวงศ์ (เลขประจำตัว 2990)
– ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ (เลขประจำตัว 3570)
โรงเรียนยึดมั่นต่อภาระหน้าที่ที่จะจัดการศึกษาให้นักเรียนมีคุณภาพ และมีพื้นฐานที่ดีสำหรับพัฒนาตนเอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมโดยมีความรับผิดชอบ ความเสียสละ รักสันติ มีคุณธรรม และพร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมสืบไป

Logo-AC

ตราประจำโรงเรียน
ตราโล่ คือ เครื่องป้องกันศัสตราวุธทั้งปวง มีลักษณะเป็นโล่ พื้นสีแดงคาดสีขาวตรงกลาง มีตัวอักษร AC สีน้ำเงินไขว้กันอยู่กลางโล่ และตัวเลข 1885 คือปีคริสต์ศักราชที่บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ ก่อตั้งโรงเรียน นอกจากนี้ สีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ชื่ออัสสัมชัญ
เดิมโรงเรียนใช้ภาษาฝรั่งเศส “Le Collège de l’Assomption” ซึ่งคุณพ่อกอลมเบต์ใช้ชื่อในภาษาไทยว่า “โรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ” แต่คนภายนอกมักเรียกและเขียนผิด ๆ เนื่องจากคำนั้นออกเสียงยากและประกอบกับกรมศึกษา กระทรวงธรรมการ มีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นภาษาไทย ดังนั้น ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2453 ภราดาฮีแลร์จึงได้แจ้งไปทางกรมการศึกษาเพื่อขอเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอาศรมชัญ แต่อธิบดีกรมศึกษา พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ แนะนำว่าควรเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่เพียงแต่การออกเสียงยังคล้ายกับชื่อเดิม ความหมายก็คงไว้ตามเดิมของคำว่า “อาศรมชัญ” ด้วย ดังนั้นในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2453 โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญ

คำว่า “อัสสัมชัญ” นี้ออกเสียงคล้ายกับภาษาอังกฤษว่า “Assumption” และยังมีคำในภาษาบาลีว่า “อัสสโม” แผลงเป็นไทยว่า “อาศรม” ซึ่งหมายความถึง “กุฏิที่ถือศีลกินพรต” ส่วนคำว่า “ชัญ” ก็ จะแยกตาม ชาติศัพท์เดิม ก็ได้แก่ ธาตุศัพท์ว่า “ช” ซึ่งแปลว่า เกิด และ “ญ” ซึ่งแปลว่าญาณ ความรู้ รวมความได้ว่า “ชัญ” คือที่สำหรับเกิด ญาณความรู้ เมื่อรวมสองศัพท์ มาเป็นศัพท์เดียวกันแล้ว ได้ว่า “อัสสัมชัญ” คือ “ที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้”

flag

ธงประจำโรงเรียน
ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4 x 6 ส่วน มีสีพื้นแบ่งเป็น สามแถบเท่ากันตามแนวนอน เป็นสีประจำโรงเรียน โดยสีแดงอยู่แถบบนและล่าง มีสีขาวอยู่แถบกลาง และมีตัวอักษร AC สีน้ำเงินไขว้อยู่กลางผืนธง

สีประจำโรงเรียน
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ

อักษรย่อ : อ ส ช, AC
ประเภท : โรงเรียนเอกชน
สถาปนา : 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428
ผู้ก่อตั้ง : เอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์
ผู้อำนวยการ : ภราดา ดร.เดชาชัย ศรีพิจารณ์
เพลง : สดุดีอัสสัมชัญ
ที่ตั้ง : 26 ซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ : assumption.ac.th
facebook : https://www.facebook.com/Assumptionbangkok/

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ assumption.ac.th

See Less

ชิลเอ้าท์ โรงเรียนอัสสัมชัญ

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว โรงเรียนอัสสัมชัญ

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า โรงเรียนอัสสัมชัญ

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้