การจัดอันดับ โรงเรียน โรงเรียนในฝัน

10 อันดับ โรงเรียนในฝันของนักเรียนไทย ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อมากที่สุด

Home / ข่าวการศึกษา / 10 อันดับ โรงเรียนในฝันของนักเรียนไทย ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อมากที่สุด

จากบทความที่แล้ว แคมปัส-สตาร์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับ 10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่และดีที่สุดในเมืองไทย กันไปแล้ว มาถึงในบทความนี้ เราจะพาน้องๆ มาดูกันต่อกับ 10 อันดับโรงเรียนในฝันที่ใครๆ ต่างก็อยากที่จะเข้าศึกษาต่อกันมากที่สุด ซึ่งต้องขอบอกเลยว่า แต่ละโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่ดีเยี่ยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนครบครัน และยังเป็นโรงเรียนที่เข้ายากมากๆ อีกด้วย สำหรับน้องๆ คนไหนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาเหล่านี้ คงต้องตั้งใจอ่านหนังสือ ฝึกฝน ทำแบบฝึกหัด กันบ่อยๆ แล้ว ว่าแต่จะมีโรงเรียนไหนกันบ้าง? ตามมาดูกันได้เลย

10 อันดับ โรงเรียนในฝัน นักเรียนไทย

ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อมากที่สุด

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

1. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Triam Udom Suksa School

ชื่อย่อ : ต.อ.

สัญลักษณ์ : ตราพระเกี้ยวเปล่งรัศมี

สีประจำโรงเรียน : สีชมพู

เว็บไซต์โรงเรียน : www.triamudom.ac.th

เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างสากลถือเป็น พ.ศ. 2481) โดยมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการท่านแรก

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อีกด้วย

ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีฐานะเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย 3 โรงเรียนด้วยกัน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน โดยนักเรียนของทั้ง 3 โรงเรียนนี้ จะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนโครงการเรียนล่วงหน้าของจุฬาฯ (CUAP Program) ในรายวิชาที่นักเรียนสนใจและมีความถนัดเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่ริเริ่มขึ้นมาสำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

2. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Suankularb Wittayalai School

ชื่อย่อ : ส.ก.

สัญลักษณ์ : ตราประจำโรงเรียนเป็นรูปหนังสือมีไม้บรรทัดดินสอปากกาคั่นอยู่ หน้าปกหนังสือมีพระเกี้ยวยอดหรือจุลมงกุฏ และอักษรย่อ จ.ป.ร. ด้านขวามีช่อดอกกุหลาบ มุมซ้ายล่างมีริบบิ้นผูกช่อดอกกุหลาบ ซึ่งมีตัวหนังสือกำกับว่า “โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ” ด้านบนปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ “สุวิชาโน ภวํ โหติ” ด้านล่างมีคำแปลว่า “ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ”

คติประจำใจ : เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง คือสุภาพบุรุษสวนกุหลาบวิทยาลัย

ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์

สีประจำโรงเรียน : สีชมพู-สีฟ้า โดยสีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสีฟ้าเป็นสีประจำวันพระราชสมภพใน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เว็บไซต์โรงเรียน : www.sk.ac.th

เป็นโรงเรียนชายล้วนในระดับชั้นมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2425 ปัจจุบันมีอายุ 135 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 7 หลัง ห้องเรียนทั้งหมด 78 ห้อง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็น 1 ในกลุ่มโรงเรียนจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมของทั้ง 4 โรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในทุกๆ 2 ปี นอกจากการแข่งขันฟุตบอล ยังมี การแปรอักษร ของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของงาน โดยกีฬาจตุรมิตรสามัคคีจะจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี ที่สนามศุภชลาศัย นอกจากนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ และงานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีชุมนุมและกิจกรรม ให้นักเรียนได้ทำกันอีกหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเด็กนักเรียน ด้วยความสมัครใจและสนใจในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้หรืออยากที่จะทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เช่น ชุมนุมลูกเสือ ชุมนุมวงดุริยางค์ ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร ชุมนุมประชาสัมพันธ์ ชุมนุมยูเนสโก ชุมนุมการละคร เป็นต้น

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

3. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bodindecha (Sing Singhaseni) School

ชื่อย่อ : บ.ด.

สัญลักษณ์ : พระเกี้ยว ตราประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ศิราภรณ์ประดับยอดศีรษะ” หรือ “จุลมงกุฎ” ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับ “มงกุฎ” พระปรมาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายว่า “พระจอมเกล้าน้อย” เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่าพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ จึงได้ใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์

ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกบัวนิลุบล

สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน

เว็บไซต์โรงเรียน : www.bodin.ac.th/home

เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพมหานคร ประเภทสหวิทยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2514 ตั้งอยู่บนที่ดิน จำนวน 39 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วตกทอดมาจนถึงคุณหญิงนครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) ผู้เป็นทายาทได้มอบที่ดินผืนนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อสืบสานปณิธานอันแน่วแน่ของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต้องการให้มีโรงเรียนสอนคน สร้างปัญญาและคุณธรรม โรงเรียนในกลุ่มบดินทรเดชา ประกอบด้วย 6 แห่งด้วย ได้แก่

  1. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
  2. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
  3. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
  4. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
  5. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
  6. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ

เมื่อปี พ.ศ. 2532 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้รับคัดเลือกให้เป็น “โรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่” ต่อมา พ.ศ. 2537 เป็นปี “กาญจนาภิเษก” ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงครองศิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี และเป็นปีที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 25 ปี ทายาทสกุลสิงหเสนี คณาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า จึงได้ร่วมใจสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยา บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรง ประกอบพีธีเปิดพิพิธภัณฑ์

 โรงเรียนอัสสัมชัญ

4. โรงเรียนอัสสัมชัญ

ชื่อภาษาอังกฤษ : Assumption College

ชื่อย่อ : อสช, AC

สัญลักษณ์ : ตราโล่ คือ เครื่องป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง มีลักษณะ เป็นโลพื้น่สีแดงคาดสีขาวตรงกลาง มีตัวอักษร AC (AC ย่อมาจาก ASSUMPTION COLLEGE) สีน้ำเงินไขว้กันอยู่ตรงกลาง และตัวเลข 1885 คือ ปีคริสตศักราช ที่บาทหลวง เอมิล กอลมเบต์ ก่อตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการ และสีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่คนไทยทุกคนสามารถพลีชีพให้ได้

สีประจำโรงเรียน : “สีขาว-สีแดง” โดยที่สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีแดง หมายถึง ความกล้าหาญในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ

ธงประจำโรงเรียน : เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4 x 6 ส่วน มีสีพื้นแบ่งเป็นสามแถบเท่ากันตามแนวนอน โดยสีแดงอยู่แถบบนและล่าง สีขาวอยู่แถบกลาง และมีตัวอักษร AC สีน้ำเงินไขว้อยู่กลางผืนธง

เว็บไซต์โรงเรียน : www.assumption.ac.th

โรงเรียนอัสสัมชัญ ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2420 โดยบาทหลวง “เอมิล กอลมเบต์” ชาวฝรั่งเศส เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน) เปิดเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ” (Le Collège de L´Assomption) ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” โดยใช้อักษรย่อเป็น อสช หรือ AC ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

โดยที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แผนกประถม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเซนต์หลุยส์ 3 ถนนสาทรใต้ และแผนกมัธยม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ปัจจุบันโรงเรียนอัสสัมชัญมีอายุ 132 ปี เป็นโรงเรียนชายที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และเป็นโรงเรียนโรมันคาทอลิกแห่งแรกของประเทศไทย มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งคนที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญจะใช้คำว่า “อัสสัมชนิก”

โรงเรียนเทพศิรินทร์

5. โรงเรียนเทพศิรินทร์

ชื่อภาษาอังกฤษ : Debsirin School

ชื่อย่อ : ท.ศ., DS

สัญลักษณ์ :

  • ภาพอาทิตย์อุทัยทอแสงบนพื้นน้ำทะเล หมายถึง ภาณุรังษี และวังบูรพาภิรมย์ โดยภาณุรังษีนี้ เป็นพระนามของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงประทานตรานี้ให้แก่โรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2467
  • อักษรประดิษฐ์ “ม” หมายถึง หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาอันเป็นที่รักของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงหม่อมแม้น
  • ช่อดอกรำเพย หมายถึง พระนามแห่งองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ศิริวงศ์” พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสร้างพระอารามและโรงเรียน เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบรมราชชนนี

สีประจำโรงเรียน : สีเขียว-สีเหลือง เป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ตามตำราพิชัยสงคราม (สวัสดิรักษา) ซึ่งวันพฤหัสบดีนั้นเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 อีกทั้งยังเป็นสีของใบและดอกของต้นรำเพย ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี คือ “พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์”

เว็บไซต์ โรงเรียน : www.debsirin.ac.th

เป็นโรงเรียนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งอยู่ เลขที่ 1466 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

โรงเรียนเทพศิรินทร์ อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนประจำวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ก่อตั้งขึ้นใน 15 มีนาคม พ.ศ. 2428 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปัจจุบันโรงเรียนเทพศิรินทร์ มีอายุ 132 ปี นอกจากนี้โรงเรียนเทพศิรินทร์ยังประกอบด้วย โรงเรียนเครือข่ายที่มีคำนำหน้าว่า “เทพศิรินทร์” อีก 9 แห่ง ได้แก่

  1. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ร่มเกล้า
  2. โรงเรียนเทพศิรินทร์ คลองสิบสาม ปทุมธานี
  3. โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี
  4. โรงเรียนเทพศิรินทร์ พุแค สระบุรี
  5. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ลาดหญ้า
  6. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ขอนแก่น
  7. โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่
  8. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
  9. โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมุทรปราการ

โรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเข้ารับการศึกษา คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นอกจากนี้ยังมีนักเรียนเก่าที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมากมาย ได้แก่ นายกรัฐมนตรีไทย 4 คน และยังรวมถึงนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งประเทศมาเลเซีย อีกด้วย

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

6. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bangkok Christian College

ชื่อย่อ : ก.ท, BCC

สีประจำโรงเรียน : สีม่วง-สีทอง

เว็บไซต์โรงเรียน : www.bcc.ac.th

เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ ได้รับกาสถาปนาขึ้น โดยคณะคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2395 เป็นโรงเรียนแห่งแรกในเครือสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 28 โรงเรียน กับ 2 มหาวิทยาลัย ปัจจุบันโรงเรียนมีอายุ 165 ปี เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นโรงเรียนโปรแตสแตนท์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในปัจจุบันที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งอยู่ เลขที่ 35 ถนนประมวญ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา ประกอบไปด้วยหอธรรม อาคารอารีย์ เสมประสาท อาคาร 2 อาคารสิรินาถ อาคารบีซีซี 150 ปี สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล และอาคารจอห์น เอ เอกิ้น ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 16 ชั้นและชั้นใต้ดิน 4 ชั้น ชั้น 12 เป็นหอประวัติศาสตร์โรงเรียน เปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยังเป็นหนึ่งโรงเรียนในเครือจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย อีกด้วย

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา

7. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Kasetsart University Laboratory School Center for Educational Research and Development

ชื่อย่อ : สธ.มก. / KUS

สัญลักษณ์ : มีตราพระพิรุณทรงนาคอยู่ภายในกรอบวงกลมและมีกลีบดอกบัวล้อมรอบ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่สัญลักษณ์ของโรงเรียนจะไม่มีวงกลมซึ่งล้อมรอบกลีบดอกบัวอยู่และไม่มีคำว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖”

ต้นไม้ประจำโรงเรียน : กระพี้จั่น เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีสีม่วง ผลิดอกพร้อมกันอย่างมีระเบียบ ลำต้นมีประโยชน์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนนักเรียนของโรงเรียนที่มีความพร้อมด้วยระเบียบวินัย ปฏิบัติตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

สีประจำโรงเรียน : สีม่วง (มาจากสีของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียน)

เว็บไซต์โรงเรียน : www.kus.ku.ac.th

เป็นโรงเรียนสหศึกษาทำการเรียนการสอน ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นห้องปฏิบัติการฝึกหัดครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2514

โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

8. โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Chulalongkorn University Demonstration School

ชื่อย่อ : CUD

สัญลักษณ์ :

สีประจำโรงเรียน : 

เว็บไซต์โรงเรียน ฝ่ายประถม : satit-e-edu.chula.ac.th

เว็บไซต์โรงเรียน ฝ่ายมัธยม : www.satitm.chula.ac.th

เป็นโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีประวัติการก่อตั้งโรงเรียนสืบเนื่องมาจาก “โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตสังกัดแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกหัดครู ชั้นประโยคครูมัธยม ครั้นต่อมาโรงเรียนมัธยมหอวังฯ ได้เปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกวิชาครุศาสตร์จึงไม่มีโรงเรียนสำหรับฝึกหัดครูเป็นระยะเวลานานประมาณ 15 ปี

เมื่อแผนกวิชาครุศาสตร์ขยายออกมาเป็นคณะครุศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นคณบดีคนแรก ท่านได้เล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต เพื่อการฝึกหัดครูขั้นปริญญาขึ้นแทนโรงเรียนมัธยมหอวังฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นโดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทำพิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501 โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายประถม และ ฝ่ายมัธยม

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

9. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Samsenwittayalai School

ชื่อย่อ : ส.ส.

สัญลักษณ์ : ดวงประทีป เหนืออักษรย่อชื่อโรงเรียนภายในวงกลม มีปรัชญาของโรงเรียนเป็นภาษาบาลี และคำแปลเขียนล้อมวงกลมรอบนอก และชื่อโรงเรียนในแถบโบว์ปลายพลิ้วรูปครึ่งวงกลมที่ส่วนล่างสุด

ธงประจำโรงเรียน : พื้นธงสีชมพู แถบสีละครึ่งผืน ตามความยาวของผืนธง สีชมพูอยู่บน สีเขียวอยู่ล่าง ปักด้วยไหม เป็นรูปตราโรงเรียนทางมุมซ้ายของผืนธง ตรงแถบสีชมพู

สีประจำโรงเรียน : สีชมพู-สีเขียว

เว็บไซต์โรงเรียน : www.samsenwit.ac.th

เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่จำนวน 22 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา มีนักเรียนจำนวน 3,050 คน ข้าราชการครูจำนวน 129 คน สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2498 โดยเริ่มจากเมื่อในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการจะสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูที่บริเวณระหว่างถนนศรีอยุธยากับซอยรางน้ำ แต่เนื่องจากสถานที่เรียนของนักเรียนมีไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการ จึงโอนโรงเรียนที่กำลังสร้างนี้ให้เป็นโรงเรียนมัธยมของ กรมวิสามัญ และ 4 ปีต่อมา ได้ย้ายนักเรียนมาที่โรงเรียนแห่งใหม่และตั้งชื่อว่า “โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย” ที่นี่ยังเคยได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และยังมีนักเรียนอีกหลายคนได้ไปแข่งขันวัดความรู้กับหลายๆ ประเทศ และได้รางวัลกลับมาอีกด้วย

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

10. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ชื่อภาษาอังกฤษ : Mahidol Wittayanusorn School

ชื่อย่อ : มวส. / MWITS

สัญลักษณ์ : ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรตอนบนว่า “ปญญาย ปริสุชฌติ คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา” ตรงกลางวงกลมประกอบด้วยอักษร “ม” สัญลักษณ์ประจำราชสกุลมหิดล อยู่ภายใต้จักรตรี และพระมหาพิชัยมงกุฏและด้านล่างภายใต้วงกลมมีข้อความว่า “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” ตัวอักษร ม หมายถึง พระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยทางโรงเรียนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

ต้นไม้ประจำโรงเรียน : ต้นศรีตรัง

สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน-สีเหลือง โดยสีน้ำเงินแทนพระมหากษัตริย์ และสีเหลืองแทนนักวิทยาศาสตร์

เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เคยตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง ในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศอื่น ๆ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการใช้ระบบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนเอง โดยปรกติมีอัตราการรับเข้าประมาณ 1.5% (240 คนจากนักเรียนที่สมัครแต่ละปีประมาณ 20,000 คน) โดยนักเรียนทุกคนได้รับทุนการศึกษาเต็มตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน

บทความที่เกี่ยวข้อง 

ภาพจาก : www.soccersuck.comarc.bcc.ac.thwww.satitm.chula.ac.thwww.chulatutordelivery.com