QS การจัดอันดับ มหาวิทยาลัย

QS เผยผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2567

Home / วาไรตี้ / QS เผยผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2567

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอเชีย 2567 โดยคิวเอส (QS World University Rankings: Asia 2024) คือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยพิจารณาจากการเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและในหมู่ผู้จ้างงาน ความสามารถในการวิจัย ทรัพยากรในการเรียนการสอน และความเป็นสากล โดยปีนี้เป็นการจัดอันดับครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีมหาวิทยาลัย 857 แห่งจาก 25 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ 149 แห่งที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อการจัดอันดับมาก่อน

มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2567

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง รักษาตำแหน่งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียเป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นอันดับที่สอง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เป็นอันดับที่สาม อินเดียเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากที่สุดถึง 148 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีที่แล้วถึง 30 แห่ง ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับ 133 แห่ง และญี่ปุ่น 96 แห่ง นอกจากนี้แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยจากเมียนมา, กัมพูชา และเนปาล รวมอยู่ในการจัดอันดับเป็นครั้งแรกอีกด้วย

มหาวิทยาลัย 20 อันดับแรกของเอเชีย มีดังนี้

อันดับ 1 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) จีน
อันดับ 2 มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ฮ่องกง
อันดับ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) สิงคโปร์
อันดับ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) สิงคโปร์
อันดับ 4 มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) จีน

อันดับ 6 มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) จีน
อันดับ 7 มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) จีน
อันดับ 8 มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) เกาหลีใต้
อันดับ 9 มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) เกาหลีใต้
อันดับ 10 มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) จีน
อันดับ 11 มหาวิทยาลัยมาลายา (University Malaya) มาเลเซีย
อันดับ 13 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) เกาหลีใต้
อันดับ 14 มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) ญี่ปุ่น
อันดับ 15 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) ฮ่องกง

อันดับ 16 มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) เกาหลีใต้
อันดับ 17 มหาวิทยาลัยซิตี้ฮ่องกง (City University of Hong Kong)
อันดับ 17 มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น
อันดับ 19 มหาวิทยาลัยซองคยุนกวาน (Sungkyunkwan University) เกาหลีใต้
อันดับ 20 มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) ญี่ปุ่น

จีนเป็นผู้นำเอเชียในฐานะศูนย์กลางการวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัย 24 แห่งติด 50 อันดับแรกในด้านจำนวนครั้ง ที่งานวิจัยแต่ละฉบับได้รับการอ้างอิง (Citations per Paper) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีอิทธิพลในระดับสูง อินเดียมีความโดดเด่นในด้านปริมาณงานวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัย 7 แห่งติด 10 อันดับแรกในด้านจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ต่อจำนวนอาจารย์ (Papers per Faculty) และอินเดียยังขึ้นชื่อว่ามีสัดส่วนบุคลากร ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ญี่ปุ่นยังคงมีชื่อเสียงที่ดีในระดับสากลทั้งในหมู่ผู้จ้างงานและแวดวงวิชาการ ในขณะที่คาซัคสถานเป็นผู้นำในเอเชียกลาง โดยมีมหาวิทยาลัย 1 แห่งที่ติด 100 อันดับแรก

สิงคโปร์รักษาตำแหน่งแนวหน้า ในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอเชีย โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งติด 5 อันดับแรกและมีอิทธิพลอย่างมากในด้านงานวิจัย ขณะที่เกาหลีใต้ก็มีความเป็นเลิศในด้านวิชาการ โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งก้าวขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรก

มหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ได้รับการยอมรับว่า โดดเด่นด้านความเป็นสากล ส่วนอิหร่านเป็นผู้นำของเอเชียในด้านผลิตภาพของงานวิจัยและจำนวนบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก อินโดนีเซียและไทยมีความโดดเด่นในด้านการมีคณาจารย์จากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง และเวียดนามทำผลงานได้ดีที่สุดในแง่ชื่อเสียงในหมู่ผู้จ้างงาน

คุณเบน โซวเตอร์ (Ben Sowter) รองประธานอาวุโสของคิวเอส กล่าวว่า “ผลการจัดอันดับในปีนี้ตอกย้ำว่า ความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการและคุณภาพงานวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญ สำหรับความก้าวหน้าของภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอเชีย”