มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

Mahamakut Buddhist University

Home / academy / มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ หนึ่งในสองแห่งของประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประวัติความเป็นมา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิต งานวิจัย งานบริการ วิชาการแก่ชุมชน และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย… See More

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ หนึ่งในสองแห่งของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิต งานวิจัย งานบริการ วิชาการแก่ชุมชน และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น ครั้นเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย พระองค์ทรงรับมหามกุฏราชวิทยาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงประจำปี อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินกิจการของ มหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
๒. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ
๓. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้เปิดดำเนินการแล้ว ปรากฏว่าพระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา  เพื่อจะให้พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานะที่ทรงเป็นนายกกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยพระเถระนุเถระ จึงได้ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น โดยอาศัยนามว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้

๑. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
๒. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศ
๓. เพื่อให้เป็นสถานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ
๔.เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน
๕. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการค้นคว้า โต้ตอบ หรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
๖.เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนทายาทที่เหมาะแก่กาลสมัย
๗. เพื่อความเจริญก้าวหน้า และคงอยู่ตลอดกาลนานของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้

ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ได้เริ่มเปิดให้การอบรมศึกษาแก่ภิกษุสามเณร ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

(หนังสือลงพระปรมาภิไท รัชกาลที่ ๕  ที่ ๘/๑๖๑ พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย มอบให้เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๕๐)

เหตุผลที่ทำให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงพระดำริจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ นั้น ปรากฏในรายงานประจำปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่าพระเถรานุเถระทั้งหลาย มีความประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัยเป็นที่ฝึกสอนพระปริยัติธรรมแลอักขระสมัยของภิกษุสามเณรแลศิษย์วัดนั้น ด้วยเห็นว่าธรรมเนียมในประเทศนี้ วัดทั้งหลายเป็นโรงเรียนที่ศึกษาวิชาความรู้ของราษฎรพลเมือง ตั้งต้นแต่เรียนอักขระฝึกกิริยามารยาทตลอดจนถึงเรียนพระปริยัติธรรม บรรดาราษฎรมีบุตรหลานก็นำเข้ามาฝากเป็นศิษย์วัด ให้เรียนวิชาความรู้ จนถึงเติบใหญ่อุปสมบทเป็นภิกษุ บางพวกก็ได้อยู่ไปจนเป็นคณาจารย์ปกครองกันต่อ ๆ ไป บางพวกอยู่สมควรแก่ศรัทธาแล้ว ก็ลาสิกขาบทสึกไปประกอบการหาเลี้ยงชีพของตนในทางฆราวาส มีธรรมเนียมเป็นพื้นเมืองมาดังนี้ วิธีการปกครองของวัดนั้น ไม่ได้จัดเป็นชั้นตามสถานที่ ว่าสถานที่นั้นสอนชั้นสูง สถานที่นั้นสอนชั้นต่ำ ดูท่วงทีเหมือนในวัดหนึ่งจะมีทั้งชั้นสูงชั้นต่ำ คือราษฎรนำบุตรหลานเข้ามาฝากภิกษุสามเณร ให้เรียนอักขระแลฝึกกริยามารยาทเป็นต้น การฝึกสอนชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นต่ำ การฝึกสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนมคธภาษาก็ดี ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็ดี การศึกษาชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นสูง แต่การหาดำเนินไปโดยเรียบร้อยดังวิธีที่จัดไม่ เพราะข้อขัดขวางดังต่อไปนี้ ราษฎรผู้จะนำบุตรหลานมาฝากต่อภิกษุสามเณรในวัดนั้น ๆ ก็ฝากในสำนักที่ตนรู้จักคุ้นเคย ภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์นั้น บางรูปก็มีความรู้มาก บางรูปก็มีความรู้น้อย ทั้งไม่มีหลักสูตรแห่งการเล่าเรียนว่าถึงไหนจัดเป็นใช้ได้ ความรู้ของศิษย์จึงไม่เสมอกัน ตั้งแต่กรมศึกษาธิการจัดหลักสูตรสำหรับสอนความรู้ขึ้นแล้ว การเล่าเรียนจึงมีกำหนด แต่เพราะความรู้ของภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์ไม่เสมอกัน ทั้งความนิยมของเด็กผู้เล่าเรียนก็ดี ของผู้ใหญ่ของเด็กก็ดี เป็นแต่เพียงอ่านได้เขียนได้เท่านั้นก็พอประสงค์ ความรู้ของนักเรียนที่ออกจากวัดจึงยังจัดว่าถึงกำหนดแท้ไม่ได้

ส่วนการเล่าเรียนมคธภาษานั้นแต่เดิมไม่บังคับ แล้วแต่ใครสมัครจะเรียน ในทุกวันนี้ความนิยมในการเล่าเรียนมคธภาษาน้อยลง ด้วยผู้ที่มาบวชเป็นภิกษุสามเณรจะหาผู้ที่มีศรัทธาแท้เป็นอันยาก ทั้งพื้นเดิมก็เป็นคนขัดสน ต้องการแต่ความรู้ที่จะให้ผลเป็นเครื่องเลี้ยงชีพได้โดยประจักษ์ตา ไม่ต้องการความรู้ที่เป็นอาภรณ์ของบุรุษ หรือความรู้ที่เป็นเครื่องเจริญผล โดยเพิ่มสติปัญญาสามารถ แลวิธีฝึกสอนเด็กก็เป็นการเนิ่นช้า หากจะมีผู้อุตสาหะเรียนบ้าง จะหาอาจารย์ผู้บอกให้รู้จริงเห็นจริงก็ได้ยาก ทั้งผู้เรียนจะชำนาญในภาษาของตนมาก่อนก็ได้โดยยาก หลักสูตรก็มากชั้น แลการสอบความรู้ก็ห่าง ต่อล่วงหลายปีจึงสอบครั้งหนึ่ง ด้วยอาศัยเหตุเหล่านี้ จึงมีอาจารย์สอนให้รู้จริงเห็นจริงได้น้อยตัว เรียนไม่ทันรู้ละทิ้งไปเสียก็มี บางทีเรียนรู้พอจะสอบความรู้ได้ อยู่ไม่ถึงกาลสอบก็มี เข้าสอบจนเป็นบาเรียนแล้วก็มี แต่จะหาผู้สอบได้จนจบหลักสูตรได้น้อยถึงนับตัวถ้วน เพราะหลักสูตรที่ตั้งไว้มากเกิน เมื่อความเล่าเรียนเสื่อมทรามไป ผู้เป็นบาเรียนเพียง ๔ ประโยค ๕ ประโยค ก็กว้างขวางมีผู้นับหน้าถือตาแสวงหาลาภผลเลี้ยงตัว พอตั้งตัวได้แล้ว ก็ไม่คิดที่จะเป็นนักเรียนต่อไป บางรูปก็รับตำแหน่งพระราชาคณะปกครองหมู่คณะเสีย ในระหว่างยังไม่ทันได้แปลจบหลักสูตร อาศัยเหตุนี้ การเรียนมคธภาษาจึงไม่เจริญทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้

ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้นเป็น ๒ ชั้น คือชั้นต่ำ ๑ ชั้นสูง ๑ การให้โอวาทสั่งสอน แลให้ศึกษาในตำรับภาษาไทยจัดเป็นชั้นต่ำ สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่ ตลอดไปจนถึงผู้ไม่ได้เรียนมคธภาษา การอ่านการทรงภาษาบาลีไตรปิฎกจัดเป็นชั้นสูง สำหรับผู้รู้ภาษามคธ การฝึกสอนชั้นต่ำไม่เจริญได้ เพราะผู้ที่เข้ามาบวชไม่ชำนาญในภาษาของตนทั่วทุกคน ฟังคำสอนก็จำไม่ได้ อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยเข้าใจ แลการฝึกสอนชั้นสูงไม่เจริญได้ โดยเหตุที่หลักสูตรสำหรับมคธภาษาเป็นอย่างหนึ่ง พระปริยัติธรรมที่จำเป็นจะต้องรู้เป็นอย่างหนึ่ง ผู้เล่าเรียน ๆ มคธภาษาสอบความรู้ได้แล้ว ยังต้องวกมาดูบาลีไตรปิฎกอีกเป็นสองซ้ำอยู่ จะหาผู้สมัครเรียนแต่ภาษามคธก็ได้โดยยากแล้ว จะหาผู้รู้ภาษามคธแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป ก็ต้องได้โดยยากเป็นธรรมดา

ในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงวางวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย
๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยา ซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร
๓. เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

ตรามหามกุฏราชวิทยาลัย

พระมหามงกุฏและอุณาโลม หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
พระเกี้ยวประดิษฐานบนหมอนรอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “มหามกุฏราชวิทยาลัย”

หนังสือ หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา เพื่อการศึกษาค้นคว้า และเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน การพิมพ์เผยแพร่คัมภีร์และการผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันศึกษา และแหล่งผลิตตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา

ช่อดอกไม้แย้มกลีบ หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญา และวิทยาการในทางพระพุทธศาสนา และหมายถึง กิตติศัพท์กิตติคุณที่ฟุ้งขจรไป ดุจกลิ่นหอมแห่งดอกไม้

ธงชาติไทย หมายถึง อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่มุ่งพิทักษ์สถาบันหลักทั้ง ๓ คือ ชาติไทย พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์

พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ หมายความว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง และแพร่หลายของพระพุทธศาสนา

วงรัศมี หมายถึง แสงสว่างแห่งปัญญา วิสุทธิ สันติ และกรุณา ที่มหาวิทยามหามกุฏราชวิทยาลัยมุ่งสาดส่องไปทั่วโลก

มหามกุฏราชวิทยาลัย หมายถึง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระดับอุดมศึกษา

สุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย

“วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ” เทวมานุเส หมายถึง “ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและหมู่มนุษย์” หมายความว่าเป้าหมายในการสร้างคนจะต้องให้สมบูรณ์ครบทั้งความรู้และความประพฤติที่ดี (ความรู้คู่คุณธรรม) ในเวลาเดียวกัน

สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ สีส้ม

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าใช้ประทับอาศัยเป็นร่มเงาเมื่อตรัสรู้ ต้นโพธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย : Mahamakut Buddhist University
สถาปนา : 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
ที่ตั้ง : วัดบวรนิเวศวิหาร ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ : www.mbu.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/mbu.ac.th

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.mbu.ac.th/

See Less

ข่าวการศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

กิจกรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ดาวเด่น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

วาไรตี้ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ชิลเอ้าท์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้