วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) : Siam Technological College (Siamtech) เป็นสถานศึกษาเอกชนที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสถาบันในเครือเดียวกันกับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (อุดมศึกษา) และมหาวิทยาลัยสยาม
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)
ประวัติความเป็นมา
ก่อตั้งโดยอาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวานิช เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2508 โดยใช้ชื่อโรงเรียนเมื่อแรกเริ่มในการจัดตั้งว่า “โรงเรียนช่างกลสยาม” เปิดสอนประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม ระดับ ปวช. 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ-โทรคมนาคม นับว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดทำการสอนทางด้านอาชีวศึกษา ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม และทางโรงเรียนได้ทำพิธีเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2508 โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด
เมื่อโรงเรียนได้เปิดดำเนินการไปแล้ว ผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งมีอาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช เป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่ อาจารย์ ดร.เกษลัย มงคลวนิช เป็นรองผู้อำนวยการ พร้อมทั้งคณาจารย์ จุดเริ่มต้นที่ก่อตั้งโรงเรียน ซึ่งมีเพียงอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 1 หลัง ใช้เป็นห้องเรียน 8 ห้อง ห้องปฏิบัติการ 6 ห้อง ห้องฝ่ายบริหารและธุรการอย่างละ 1 ห้อง (ปัจจุบันรื้อถอนและสร้างอาคารอเนกประสงค์ 12 ชั้นแทน) มีอาคารไม้ 2 ชั้น 1 หลัง ชั้นบนใช้เป็นห้องสมุด ห้องพยาบาล ชั้นล่างเป็นห้องอาหาร เมื่อเปิดดำเนินการไปได้เพียง 1 ปี จึงได้ขยายเนื้อที่จากเดิมซึ่งมีอยู่ 6 ไร่เศษ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 13 ไร่ 250 ตารางวา และสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ ดังนี้
1. สร้างอาคารคอนกรีต 4 ชั้น 1 หลัง (อาคาร 2)เมื่อ พ.ศ. 2508 ใช้เป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ
2. สร้างอาคารโครงเหล็กชั้นเดียว 1 หลัง (อาคาร 3)เมื่อ พ.ศ. 2510 ใช้เป็นโรงอาหาร และเมื่อได้ก่อสร้างอาคารโรงอาหารใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2512 แล้วจึงใช้เป็นห้องปฏิบัติการวิชาเทคนิคพื้นฐาน (ปัจจุบันรื้อถอนและสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้นแทน)
3. สร้างอาคารคอนกรีต 2 ชั้น2 1 หลัง (อาคาร 6)เมื่อ พ.ศ. 251 ใช้เป็นโรงอาหาร
4. สร้างอาคารคอนกรีต 4 ชั้น 1 หลัง (อาคาร 4)เมื่อ พ.ศ. 2514 เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการวิชาช่างยนต์ และสร้างอาคาร 5 ชั้น 1 หลัง (อาคาร 5) เพื่อใช้เป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ
5. ก่อสร้างอาคารคอนกรีต 5 ชั้น ขึ้นอีก 1 หลัง เมื่อ พ.ศ. 2524 เพื่อเป็นที่ระลึกใน โอกาสครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2525 และใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า อาคารเกษณรงค์ (อาคาร7) อาคารหลังนี้เป็นอาคารปฏิบัติการวิชาช่างยนต์ และวิชาเทคนิคพื้นฐาน
6. ได้สร้างอาคารคอนกรีต 4 ชั้นขึ้น 1 หลัง (อาคาร 8) เมื่อ พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการก่อตั้งโรงเรียนมาครบ 20 ปี และอาคารหลังนี้ได้ใช้เป็นห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ สำหรับวิชาช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนชั้นล่างใช้เป็นห้องพยาบาลและห้องอเนกประสงค์สำหรับ ให้นักศึกษาพักผ่อนเล่นกีฬา และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของโรงเรียน
อาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)
7. เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ปีมหามงคล พ.ศ. 2535 ทางโรงเรียนได้เตรียมแผนงาน เพื่อที่จะสร้างอาคารอเนกประสงค์ 12 ชั้น (อาคาร 9) ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในพระราชพิธีอันเป็นมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย อาคารหลังนี้ มีหอประชุมใหญ่ 1,200 ที่นั่ง ห้องสัมมนา ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ที่ทำการฝ่ายบริหารและห้องประกอบอื่นๆ อาคารหลังนี้จะเปิดใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 เป็นต้นไป จากจุดมุ่งหมายของการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์หลังนี้ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทางโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ราชินีนาถ พระราชทานนามอาคารอเนกประสงค์นี้ว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ” และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ประดิษฐานไว้เหนือชื่ออาคาร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คณาจารย์และนักเรียนนักศึกษาโรงเรียนเทคโนโลยีสยามหาที่สุดมิได้ และในปีเดียวกันนี้ได้ขยายเนื้อที่และสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น อีก 2 หลัง (อาคาร 10,11) เพื่อใช้เป็นอาคารเรียน
8. ได้ก่อสร้างอาคารกีฬาขึ้นอีก 1 หลัง (อาคาร 12) เมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนวิชาพลศึกษา และให้นักเรียนนักศึกษาพักผ่อนและออกกำลังกาย
9. ได้สร้างอาคารกิจกรรมและนันทนาการ เป็นอาคารโครงเหล็ก 3 ชั้นขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2537 เพื่อเพิ่มเนื้อที่พักผ่อนให้กับนักเรียน-นักศึกษา นอกจากนั้น ชั้น 2-3 ของอาคารจะจัดเป็นห้องกิจกรรมและนันทนาการของนักเรียน
10. ได้สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 ชั้น (อาคาร 13)เมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นอาคารเรียน ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม
11. ได้สร้างสนามกีฬากลางแจ้ง เมื่อ พ.ศ. 2541 เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนวิชาพลานามัย และออกกำลังกายของนักศึกษา
ตราสัญลักษณ์ประจำวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)
ได้พิจารณาชื่อโรงเรียนที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มแรกว่า “โรงเรียนช่างกลสยาม” สมควรที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาโรงเรียน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2524 จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม (ช่างกลสยาม)” การที่โรงเรียนได้ใช้ชื่อ (ช่างกลสยาม) ไว้ท้ายชื่อโรงเรียนใหม่ด้วยนั้น เพื่อรักษาสถานภาพความเป็น โรงเรียนช่างกลแห่งแรกของประเทศไทยไว้
โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม ได้รับรางวัลพระราชทานระดับอุดมศึกษา (ต่ำกว่าปริญญาตรี) ประจำปีการศึกษา 2544 นับว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งของโรงเรียนเทคโนโลยีสยาม ในการนี้ ดร.เกษลัย มงคลวนิช ผู้อำนวยการได้รับเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 และในปีการศึกษา 2545 ทางโรงเรียน ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ในปีการศึกษา 2554 ได้เปลี่ยนเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)”
อัตลักษณ์ : คนดี มีฝีมือ ก้าวทันโลก
เอกลักษณ์ : สถานศึกษาที่เป็นเลิศทางด้านการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา
ปรัชญา : วิทยาการนำ ล้ำเลิศวินัย ใฝ่คุณธรรม
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) : Siam Technological College (Siamtech)
ชื่อย่อ : สยามเทค (Siamtech)
ประเภท : วิทยาลัยอาชีวะเอกชน
ที่ตั้ง : 46/9 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร : 02-864-0358 ถึง 61
เว็บไซต์ : http://www.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม.com, http://www.siamtech.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/technologysiam
Youtube : Siamtech Channel (https://www.youtube.com/user/TVSiamtech)
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.siamtech.ac.th/home/