ในยุค 4.0 การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลายประเทศชั้นนำในโลกล้วนให้ความสำคัญ อุตสาหกรรมเกมถือได้ว่า สร้างมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นการส่งออกทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตอบรับการเติบโตอุตสาหกรรมเกมในระดับภูมิภาค การพัฒนาด้านบุคลากร นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้มูลค่าการเติบโตของตลาดเกมในประเทศไทยปี 2559 อยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่องใน ปี 2560 ที่ 10.3 พันล้านบาท และในปี 2561 ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งติดอันดับที่ 20 ของตลาดโลก
ม.หอการค้าไทย สร้างห้องแลป eSports เพื่อสร้างนักธุรกิจเกม
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล็งเห็นความสำคัญการสร้างบุคคลากรให้มีคุณสมบัติตอบสนองความต้องการของตลาดโลก จึงได้ก่อตั้งหลักสูตร “ธุรกิจเกมและeSports” เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด ซึ่งปัจจุบันกำลังขาดแคลนบุคลากรเป็นจำนวนมาก
สาขาวิชาธุรกิจเกมและอีสปอร์ต ไม่ใช่สอนให้นักศึกษาติดเกม หรือเล่นเกมทั้งวัน
นายภาสพงศ์ บุญวิทยากุล (น้องไทม์) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจเกมและอีสปอร์ต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า
“สาขาวิชาธุรกิจเกมและอีสปอร์ตสำหรับผมมองว่าไม่ใช่สอนให้นักศึกษาติดเกมหรือเล่นเกมทั้งวัน จากการเรียนรู้ทั้ง 2 เทอมของผมเองที่ผ่านมามีการสอนทางด้านบริหารธุรกิจครับหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและข้อมูลเกี่ยวกับเกม ประวัติความเป็นมาทางด้านเกมทำให้เรารู้จักเกมมากขึ้น รู้จักกลุ่มเป้าหมาย ประเภทของกลุ่มเป้าหมายในการทำธุรกิจและมีการฝึกงานจัดอีเว้นท์ต่างๆ ทำให้เรานำข้อมูลที่เราได้เรียนมาประยุกต์ใช้งานในการฝึกงานได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะด้านการมองกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์ตลาด และที่สำคัญได้รู้จักการทำงานเป็นขั้นตอน เรียนรู้การทำงานเป็นทีมอีกด้วย เมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถทำงานในสายงานทางด้านอุตสาหกรรมเกมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เกมแคสเตอร์ นักแข่งเกมอีสปอร์ต เกมเมอร์ นักพากย์ระหว่างการแข่งเกม โค้ช และอีกหลายๆ อย่าง แต่สำหรับตัวผมเองงานที่ผมตั้งใจและอยากจะทำในอนาคตนะครับคือเป็นพิธีกรในงานแข่งเกม หรืออาจจะเป็นเกมแคสเตอร์ควบคู่ไปด้วยก็ได้ครับเพราะมีความชอบทั้งสองอย่าง”
ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สร้าง “ห้องUTCC eSports Lab” ครั้งแรกในประเทศไทย ณ ทรู สเปซ อาคาร 20 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยห้องแลปมีลักษณะเฉพาะพิเศษที่สำคัญ ดังนี้ ประกอบด้วยเครื่องทั้งหมดจำนวน 42 เครื่องสเปคสูง สำหรับการแข่งขันอีสปอร์ตโดยเฉพาะ หน่วยประมวลผลสามมิติความเร็วสูง RTX 2070 รองรับระบบVR คีย์บอร์ด และเม้าส์ แบบเกมมิ่ง ความละเอียดสูงจอมีความไวในการอัพเกรดจอ สูงกว่าจอปกติ 2 เท่า (144hz) หูฟังเกมมิ่งแบบเสียง3มิติ นอกจากนี้ยังมีเก้าอี้แบบเกมส์มิ่ง นั่งสบายเครือข่าย อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากทรูมีพื้นที่แบ่งไว้สำหรับนักกีฬาได้ซ้อม และการแข่งขัน ที่สำคัญเป็นห้องที่ให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกันศึกษาวิจัยและฝึกการทำธุรกิจจริง
สร้างห้องแลป สนับสนุนสาขาวิชาธุรกิจเกมและอีสปอร์ต
“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สนับสนุนสาขาวิชาธุรกิจเกมและอีสปอร์ตเป็นอย่างมากทั้งการสร้างห้องแลปเพื่อไว้สำหรับให้นักศึกษาได้ค้นคว้าและวิจัย อาจจะมีหลายๆคนกำลังเข้าใจผิดและมีทัศนคติที่ไม่ดีเมื่อเห็นว่าเด็กเลือกที่จะเรียนในสาขานี้ แต่จริงๆ แล้วเด็กที่เข้ามาเรียนในสาขานี้ทุกคนจะต้องมีความสนใจ มีความชอบเกี่ยวกับทางด้านเกม แต่ในการเรียนไม่มีการสอนการเล่นเกมครับแต่จะสอนให้รู้จักที่มาของเกม รู้จักการแบ่งเวลาถ้าเราอยากที่จะเป็นนักกีฬาทางด้านอีสปอร์ต
เพราะการที่เราจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตนั้น เราจะต้องมีการแบ่งเวลาที่ค่อนข้างจะเยอะมาก ต้องแบ่งเวลาการเรียนกับการเล่นเกมให้เหมาะสมโดยที่ทั้ง 2 อย่างนั้นจะต้องไม่เสียและไม่ส่งผลกระทบต่อกัน การเรียนในสิ่งที่เราชอบไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมาแล้วทำให้ตัวเราประสบความสำเร็จไม่เบียดเบียนหรือสร้างปัญหาให้ผู้อื่น สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ผมมองว่าอันนี้ถือว่าเก่ง เพราะฉะนั้นอยากให้คนที่ยังเข้าใจผิดอยู่เข้าใจใหม่ว่าการที่เด็กเลือกเรียนในคณะสาขานี้ไม่ได้ทำให้เขาติดเกมแต่อย่างเดียว แต่ทำให้เขาเอาความรู้จากสิ่งที่เขาชอบ ไปต่อยอดเรียนรู้ในสิ่งที่เขาชอบมาทำธุรกิจหรือสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเองและครอบครัวมากมายมหาศาลได้” น้องไทส์ กล่าวทิ้งท้าย
eSports ม. หอการค้าไทย หลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เน้นการเรียนบริหารธุรกิจด้านเกม
รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค การพัฒนาหลักสูตร‘ธุรกิจเกมและ eSports ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เน้นการเรียนบริหารธุรกิจด้านเกมโดยเฉพาะ ทั้งนี้เป็นการศึกษาตลาดเกมในระดับโลกเทคโนโลยีในการพัฒนาเกม การบริหารการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และนำมาบูรณาการร่วมกับการบริหารธุรกิจ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำความรู้ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการไปทำธุรกิจได้จริง เช่น นักวางแผนธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกมนักวางแผนเกม ผู้จัดการแข่งขัน ผู้จัดการทีม ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการเกม รวมถึงสตาร์ทอัพด้านเกม เป็นต้น
การสร้าง “ห้องUTCC eSports Lab” ครั้งนี้เพื่อสนับสนุนในด้านการวิจัยและพัฒนาวงการธุรกิจเกมและ eSportsของประเทศไทย โดยวางแผนร่วมกับบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อเชื่อมโยงนักพัฒนาเกมกับเทคโนโลยีใหม่ๆในปัจจุบัน พร้อมทั้งสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างเกมที่สร้างสรรค์และส่งเสริมการศึกษา และพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในระดับภูมิภาคเช่น การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User experience – UX/UI) การเขียนโปรแกรม (Computer programing) และการประยุกต์ใช้ดิจิทัลแพลทฟอร์ม (Digital platform)”