เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น นอกจากเราทุกคนจะต้องมีการปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่บนโลกยุคดิจิทัลได้แล้วนั้น ด้านการศึกษาก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในยุคดิจิทัล รองรับตลาดแรงงานที่ต้องการอาชีพด้านไอทีเพิ่มมากขึ้น และรองรับอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่
Coding ภาษาที่ 3 ทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล
และหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษาก็คือ การเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบใหม่ผ่านระบบดิทัล พร้อมปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม การเขียนโปรแกรม (ภาษาคอมพิวเตอร์) คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา
สำหรับผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ ได้แก่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้มีการบรรจุเป็นนโยบาบในข้อที่ 7 ภายใต้หัวข้อ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดย คุณหญิงกัลยา รมช.ศธ. ได้ชี้แจ้งว่า ต้องการสนับสนุนให้เด็กไทยสามารถพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษาขึ้นไป ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ซึ่งก็ได้จัดทำโครงการ English for all ที่เคยทดลองสอนไปแล้วตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล)
และมองว่าภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญแห่งยุคดิจิทัล ที่ในปัจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการให้เด็ก ๆ ได้เริ่มเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ชั้นประถม ถือได้ว่าเป็นที่เรื่องดี และยังช่วยทำให้เด็ก ๆ ยุคใหม่ก้าวทันโลกอีกด้วย จึงอยากที่จะผลักดันให้การเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) กลายเป็นภาษาที่ 3 และวิชาใหม่ในยุคดิจิทัลที่เด็ก ๆ ทุกคนจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) คืออะไร?
การเขียนโปรแกรม หรือ การ Coding เป็นการเขียนชุดคำสั่งด้วยโค้ด (Code) ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ (ภาษาที่ใช้ในการเขียน เช่น ภาษา C, C++, PHP และ Java เป็นต้น) โดยเมื่อนำมารวมกันหลาย ๆ ชุดคำสั่งจะกลายเป็นโปรแกรมที่เรานำมาใช้งานกัน ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และยังรวมไปถึงพวกอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) อีกด้วย ซึ่งคนที่จะสามารถเขียนชุดคำสั่งเหล่านี้ได้จะต้องมีความรู้เรื่องโค้ด เช่น โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ
วิชา Coding เรียนรู้อะไรบ้าง?
จะเป็นวิชาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) จากเดิมที่เด็กไทยจะได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานในฐานะผู้ใช้เท่านั้น แต่ในการเรียนวิชา Coding เด็ก ๆ จะได้เรียนเป็นทั้งผู้เขียน ผู้พัฒนา พร้อมทั้งได้ฝึกหัดคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น
โครงสร้างหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก
1. วิทยาการคอมพิวเตอร์
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของวิชานี้ ช่วยทำให้เด็ก ๆ มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น โดยได้นำการเขียนโปรแกรมมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตามแนวทาง Computational Thinking
2. เทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ช่วยทำให้เด็ก ๆ สามารถรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล นำข้อมูลมาประมวลผล และทำการตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
3. รู้เท่าทันดิจิทัล
รู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) การเรียนรู้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญ อีกทั้งยังช่วยสร้างสรรค์ผลงานบนเทคโนโลยีได้อีกด้วย
ประโยชน์จากการเรียน Coding
การเรียน Coding จะช่วยทำให้เด็ก ๆ มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ คิดทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดทักษะการแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เช่น สามารถแตกปัญหาออกมาเป็นส่วน ๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขในแต่ละส่วนได้อย่างเป็นระเบียบ แม่นยำ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้วิธีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ฝึกการจับประเด็นสำคัญได้ยิ่งขึ้นตามไปด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.komchadluek.net, www.parentsone.com, www.matichon.co.th