เมื่อเราลองย้อนกลับไปดูวิชาเรียนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในยุค 90 ซึ่งถือได้ว่าเรายังเป็นกลุ่มที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในแบบอนาล็อกอยู่ ดังนั้นจึงทำให้ทักษะความสามารถที่เรารู้นั้นอาจจะมีไม่เท่ากับเด็กในยุคสมัยใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล และหนึ่งทักษะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบันก็คือ ทักษะในการเขียนโปรแกรม
วิทยาการคำนวณ วิชาใหม่ ปี 2561
นักเรียน ป.1,ป.4 และ ม.1, ม.4 ได้เรียนแน่
ถึงแม้ว่าเด็กๆ บางคนในยุคนี้จะไม่ได้อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์หรือทำงานทางด้านไอทีก็ตาม แต่ทักษะการเขียนโปรแกรมนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กๆ ที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะในตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มที่จะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคของเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีการกำหนดวิชาใหม่ขึ้นมาที่มีชื่อว่า “วิทยาการคำนวณ” โดยจะมีการเริ่มบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะเริ่มสอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นการสร้างเส้นทางอาชีพและโอกาสในการทำงานที่ดีของเด็กในอนาคตต่อไป…
แต่ก่อนที่ วิชาวิทยาการคำนวณจะถูกนำมาใช้เป็นวิชาในการเรียนการสอนของเด็กๆ ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมารู้จักกับวิชานี้กันก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร แล้วทำไมถึงจะต้องถูกนำมาเป็นวิชาบังคับ และจะมีเนื้อหาที่ใช้เรียนอย่างไรกันบ้างนั้นในแต่ละระดับชั้น มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลย
รู้จัก วิชาวิทยาการคำนวณ
สำหรับ วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing science) เป็นวิชาที่จะมาแทนที่วิชาคอมพิวเตอร์หรือวิชาทางด้านเทคโนโลยี ที่มีสอนอยู่ในปัจจุบันผ และจะย้ายจากวิชาพื้นฐานในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี มาอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (อ่านเพิ่มเติม คำอธิบายรายวิชา : คลิกที่นี่)
สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในวิชานี้ก็คือ เด็กๆ จะไม่ได้เรียนแค่โปรแกรมพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์แค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่วิชาใหม่นี้จะสอนให้เด็กๆ มีกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและสามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิชาอื่นๆ
รวมทั้งยังเป็นการทำให้เด็กๆ สามารถรับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้หรือมีคำถามปลายเปิดได้ โดยที่วิทยาการคำนวณเป็นวิชาที่มีความจำเป็นในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับคอมพิวเตอร์ และเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้แล้วก็ยังสามารถนำวิชานี้ไปปรับใช้ได้หลากหลายหลักสูตรเลยทีเดียว ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละวิชาได้ดียิ่งขึ้น เมื่อต้องนำแต่ละวิชามาปรับใช้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นตอนเรียนหรือตอนทำงานในอนาคตก็ตาม
ข้อดีของวิชา วิชาวิทยาการคำนวณ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการเรียนวิชาการคำนวณ จะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิเตอร์เท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการคิดในศาสตร์ของนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและช่วยแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาของ สสวท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาวิชาใหม่นี้ ได้มีการกำหนดขอบเขตการเรียนการสอนของวิชาวิทยาการคำนวณเอาไว้ 3 องค์ความรู้ ดังนี้
การคิดเชิงคำนวณ
1. การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) เป็นวิธีการคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ สามารถใช้จินตนาการมองปัญหาด้วยความคิดเชิงนามธรรม ซึ่งจะทำให้เราสามารถเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและมีลำดับวิธีคิดได้ โดยวิธีคิดแบบวิทยาการคำนวณนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนโปรแกรม เพราะภาษาโปรแกรมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จุดประสงค์ที่สำคัญกว่าคือการสอนให้เด็กคิดและเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เป็น จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบนั่นเอง
พื้นฐานด้านดิจิทัล
2. พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) เป็นการสอนให้รู้จักเทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในยุคไทยแลนด์ 4.0 จะเน้นในด้านระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรม หรือคมนาคม ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน และนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสม
รู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร
3. พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (media and information literacy) เป็นทักษะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ เพื่อให้เด็กใช้ช่องทางนี้ได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยมากที่สุด
เริ่มใช้เป็นวิชาบังคับในปี 2561 ตามลำดับ
วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing science) ถูกจัดอยู่ในสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยจะถูกเพิ่มเข้ามาในการเรียนการสอนของนักเรียนชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ในเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษา 2561
ในปีการศึกษา 2562 จะเริ่มเปิดสอนในระดับชั้น ป.2 ป.5 ม.2 และ ม.5 และในปีการศึกษา 2563 จะเริ่มเปิดสอนในระดับชั้น ป.3 ป6 ม.3 และ ม.6 โดยทาง สสวท. ได้วางแผนวิชาออกแบบหนังสือเรียน แบบฝึกหัด คู่มือครู และมีการจัดอบรมครูในรายวิชาใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการเปิดการเรียนการสอนให้ครบ 12 ชั้นเรียนทั้งประถมและชั้นมัธยมในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ยังรวมถึงระดับอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาทางเลือกอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย
วิธีการเรียนการสอนจะเน้นการนำรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสอนเด็กอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละวัย เด็กเล็กจะเน้นสื่อการเรียนรู้ประเภท Unplugged เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม เป็นต้น และค่อยๆ ปรับสื่อการเรียนรู้ให้เหมาะสมขึ้นตามระดับชั้นปี เช่น ป.4 ให้เรียนเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นต้น
เนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน
สำหรับเนื้อหาที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้นการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
ชั้นประถมตอนต้น
จะเน้นเรียนทางการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ประเภทต่างๆ เข้ามาช่วยสอน เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม ภาพวาด หรือสัญลักษณ์ เป็นต้น
ชั้นประถมตอนปลาย
จะเน้นการเรียนการสอนในการออกแบบและการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นการนำซอฟต์แวร์หรือสื่อการเรียนการสอน เรียนรู้วิธีการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม
ชั้นมัธยมตอนต้น
จะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการออกแบบและการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย เพื่อเป็นการฝึกแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน
ชั้นมัธยมตอนปลาย
จะเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงคำนวณ เพื่อนำไปใช้ในการบูรณาการกับโครงานวิชาอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
หนังสือแบบเรียน เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ)
ในแต่ละระดับชั้น
บทความที่น่าสนใจ
- สรุปการสอบ O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, กสพท คืออะไร? ต้องสอบอะไรบ้าง?
- UPDATE อัตราค่าเทอม มศว ล่าสุด | แต่ละคณะต้องจ่ายเท่าไร?
- เป๊ะทุกข้อ! สรุปเนื้อหาที่ออกสอบ 9 วิชาสามัญ (ในรอบรับตรงผ่าน กสพท)
- 32 เรื่องน่ารู้ TCAS, GAT/PAT, O-NET, 9 วิชาสามัญ และระบบเคลียริ่งเฮาส์
ข้อมูลและภาพ : http://oho.ipst.ac.th, www.dek-d.com, https://school.dek-d.com