PIM คณะนิเทศศาสตร์ ระบบการศึกษาไทย

บทสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.สกุลศรี (อ.ไอซ์) ขวัญใจชาวนิเทศ PIM – เรียนนิเทศตกงานจริงหรือ?

Home / วาไรตี้ / บทสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.สกุลศรี (อ.ไอซ์) ขวัญใจชาวนิเทศ PIM – เรียนนิเทศตกงานจริงหรือ?

เรียกได้ว่าในปัจจุบันปัญหาด้านระบบการศึกษาไทยนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของใบปริญญาบัตรที่หลาย ๆ คนให้ความสำคัญน้อยลง และยังรวมถึงเรื่องของคำถามที่ว่า เรียนจบนิเทศศาสตร์แล้วตกงาน นั้น .. ในบทความนี้  แคมปัส-สตาร์ จะพาเพื่อน ๆ ทุกคนไปพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาไทย มุมมองน่าสนใจ กับ อาจารย์ไอซ์ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุลศรี ศรีสารคาม จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กันค่ะ

การสอนที่ดี อาจารย์ต้องดึงทักษะ ความชอบ ของเด็กออกมาให้ได้

จากนักข่าวสู่การเป็นอาจารย์ขวัญใจนักศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

อาจารย์ไอซ์

ประวัติส่วนตัว อาจารย์ไอซ์

อาจารย์ไอซ์ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จบปริญญาตรีจาก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกวิทยุและโทรัศน์ ซึ่งเหตุผลที่อาจารย์ไอซ์เลือกเรียนคณะวารสารฯ เพราะว่าอยากเป็นคนทำสารคดี ดังนั้นหลังเรียนจบแล้วจึงได้มาทำงานเป็นนักข่าว

โดยในตอนนั้นอาจารย์ไอซ์ก็ได้รับทุนฯ จาก BBC หรือในปัจจุบันก็คือ True เดินทางไปศึกษาต่อด้านการทำข่าวที่ประเทศอังกฤษ หลังเรียนจบก็ได้กลับมาทำงานเป็นนักข่าวที่ True อยู่ประมาณ 2 ปี ก็ได้เปลี่ยนมาทำงานด้านประชาสัมพันธ์การสื่อสารภาพลักษณ์กรุงเทพ เมืองแฟชั่น

และในช่วงเวลาต่อมาก็อยากที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาโท แต่เนื่องจากการเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศใช้ทุนค่อนข้างสูง ทำให้อาจารย์ไอซ์เริ่มมองหาทุนการศึกษา ดังนั้นอาจารย์ไอซ์ได้ลองมาเป็นอาจารย์ โดยเริ่มเป็นอาจารย์สอนที่แรกคือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และก็ได้รับทุนฯ ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท

ทั้งนี้การเลือกเรียนที่ประเทศอังกฤษ เราสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนแบบวิชาการเดียว หรือเรียนแบบปฏิบัติ ซึ่งอาจารย์ไอซ์ก็ได้เลือกเรียนแบบปฏิบัติ พร้อมทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานข่าวแบบปฏิบัติจริงอีกด้วย เมื่อเรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็ได้กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และก็ได้ย้ายมาสอนที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จนถึงในปัจจุบัน

อาจารย์ไอซ์

การเป็นอาจารย์ ไม่ใช่แค่สอนอย่างเดียว…

ถ้าใครบอกว่าอาชีพอาจารย์เป็นอาชีพที่จำเจ สอนวิชาเดิม ๆ สอนไปเรื่อย ๆ บอกเลยว่าไม่จริงเลยค่ะ เพราะว่านักศึกษาเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน เรียกได้ว่าในแต่ละปีมีนักศึกษาที่เข้ามาเรียนไม่เหมือนกันเลย ต่อให้สอนวิชาเดียวกัน แต่เด็กแต่ละคนก็มีความชอบ หรือความสนใจที่แตกต่างกันออกไปในทุก ๆ ปี 

เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถสอนเรื่องเดิมให้กับคนใหม่ได้ เราต้องอัปเดตตัวเองตลอดเวลา เปลี่ยนวิธีการสอนให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยที่อาจารย์ไอซ์เป็นอาจารย์ในสมัยแรก ๆ นั้น ก็ได้มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า เราต้องสอนแบบนี้ เด็ก ๆ จะต้องเรียนและเป็นแบบนี้เท่่านั้น ซึ่งจากการที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้แบบนี้ทำให้เราเครียด ไม่ว่าจะเป็นเครียดกับผู้เรียนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้วางเอาไว้ หรือเด็ก ๆ มีผลการเรียนที่ดี

อาจารย์ไอซ์

การเข้าใจเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

แต่เมื่อเราได้เรียนรู้ว่า เด็ก ๆ แต่ละคนมีความชอบที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ก็ใช่ว่าเขาจะชอบเหมือนกันทุกคน ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์ควรทำมากที่สุดก็คือ การเข้าใจเด็ก ๆ แต่ละคนในห้องว่าพวกเขาแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความชอบ หรือถนัดอะไร 

เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถจับจุดการสอนเด็ก ๆ ได้ เมื่อเราเปลี่ยนวิธีการสอนให้น่าสนใจมากขึ้น เราก็จะเริ่มออกแล้วว่าเด็ก ๆ แต่ละคนมีจุดเด่นในตนเอง ไม่มีนักศึกษาคนไหนที่เก่งน้อยกว่ากัน เพราะไม่สามารถที่จะตัดสินเด็ก ๆ ได้จากเกรดเฉลี่ย เนื่องจากแต่ละคนมีความพิเศษในตนเองต่างกัน ถ้าหากอาจารย์มองที่เกรดเฉลี่ยปุ๊บก็จะทำให้มองข้ามความพิเศษบางอย่างของเด็กไปได้

ดังนั้น เราควรที่จะค่อย ๆ ดูไปทีละนิด เช่น อาจจะมีเด็กบางคนในห้องไม่ชอบเรียนกับเรา นั่งเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่หลังห้องตลอด เราอาจจะลองหยิบอะไรสักอย่างมาให้เขาได้ลองทำดู เขาอาจจะทำออกได้ดีกว่านั่งเรียนเฉย ๆ ก็ได้ เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาชอบนั่นเอง เป็นต้น

และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสอนก็คือ นักศึกษาเรียนจบมาแล้ว ไม่ควรเป็นแบบเรา แต่ต้องเก่งกว่าเรา เพราะเขาไม่ใช่เรานั่นเอง ดังนั้นเราไม่ควรสอนให้เขาคิดในแบบเรา หรือว่าทำแบบเรา ซึ่งอาจารย์มีหน้าที่เป็นแค่โค้ชหรือเป็นคนไกด์ให้เท่านั้น

อาจารย์ไอซ์ - ผศ.สกุลศรี ผู้มีเอกลักษณ์ใส่ผ้าไทยสวยงาม

เรียนนิเทศไม่ตกงาน เพียงแค่เราค้นหาตนเองเจอ

กับคำถามที่ว่า เรียนนิเทศแล้วตกงาน สำหรับอาจารย์ไอซ์ได้กล่าวว่า การเรียนนิเทศไม่ได้ทำให้ตกงาน โดยหน้าที่ของอาจารย์ก็คือ ทำยังไงไม่ให้นักศึกษาไม่ตกงาน เมื่อเรียนจบแล้ว และนี่ก็เป็นโจทย์สำคัญของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ด้วยว่า นักศึกษาที่จบจากที่นี่ทุกคนต้องมีงานทำ ไม่ตกงาน

ดังนั้นทางสถาบัน PIM จึงได้มีกระบวนการให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริง และเรียนรู้ชีวิตการทำงานจริง ๆ กับองค์กร/บริษัทต่าง ๆ เนื่องจากการฝึกงานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และค้นหาตนเองได้เจอ เมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถหางานที่ตนเองสนใจทำได้

แต่ถ้าหากถามว่าจะมีเด็กตกงานไหมนั้น ก็ต้องมีเด็กตกงานกันบ้าง ซึ่งในตรงนี้มันไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มีทักษะในการทำงานเลย แต่เขายังขาดทักษะบางอย่างไปเท่านั้น อาทิ การตั้งเป้าหมายในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เรียนเก่งมากแต่เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิต ทำให้เขาไม่รู้ว่าเขาจะต้องไปสมัครงานตรงไหน หรือทำอย่างไร ซึ่งจะส่งผลทำให้เขามีความมั่นใจลดลงไปเรื่อย ๆ ในการหางานทำ และอีกหนึ่งประการคือ คนที่ไม่รู้ว่าจะดึงทักษะของตนเองออกมาใช้ได้อย่างไร ฯลฯ

อาจารย์ไอซ์ - ผศ.สกุลศรี

ปัญหาระบบการศึกษาไทย

ถ้าให้พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยนั้นมีหลายจุดด้วยกัน อันแรกเลยก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่สูง สำหรับความเหลื่อมล้ำในที่นี่หมายถึง โอกาสที่เด็กแต่ละคนจะได้เข้าถึงสิ่งดี ๆ มีความแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งดี ๆ เหล่านั้นก็จะกระจุกตัวอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ และในบางทีก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงต่อการเข้าถึงการศึกษา

ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดใหม่ ๆ หรือโอกาสทางเลือกในการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งดี ๆ ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่ม ๆ เข้าไม่ถึงทั่วทุกคนที่ต้องการเรียนรู้ เข้าถึงเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนปัญหาที่สองก็คือ เรารู้นะว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาแก้ไขมันจริง ๆ หรือบางอาจจะลงมือทำแล้ว แต่มันก็เหมือนกับการเป็นฮีโร่มากกว่า มีต้นแบบแต่ไม่มีใครนำต้นแบบเหล่านั้นมาใช้งานจริง

และอีกหนึ่งแง่มุมสำคัญคือ ค่านิยม ที่เรายังก้าวออกจากกรอบนี้กันไม่ได้ เช่น การเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันหลาย ๆ คนก็ยังคงเลือกเข้าเรียนจากชื่อเสียงของสถาบันการศึกษากันเป็นส่วนใหญ่ แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่เราควรเลือกคือ อนาคตของเราว่าอยากเป็นอะไร และหลักสูตรอะไรที่ตอบโจทย์ของเรามากที่สุด โดยที่วิธีการแก้ไขที่ง่ายที่สุดก็คือ ทุกคนต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ผู้สอน คนกำหนดนโยบาย ระบบต่าง ๆ ครอบครัว และค่านิยมในสังคมปัจจุบัน

อาจารย์ไอซ์

ความสำคัญของในปริญญาบัตร

ถามว่าใบปริญญาบัตรมีความสำคัญหรือไม่นั้น ต้องบอกว่ามันอยู่ระหว่างทางว่าคุณได้อะไรจากในปริญญาบัตรนั้นบ้าง คือการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมันมีอะไร ที่มาากกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การมาเพื่อหาความรู้ แต่เรามาเพื่อหาเพื่อน โดยที่ทุกคนที่เราได้รู้จักคือ เครือข่ายของเรา

การที่เราได้รู้จักคน หรืออยู่กับผู้อื่นได้ ถือได้ว่าทำให้เราเรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้จักมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งต่างจากการเรียนคอร์สออนไลน์ และการเรียนแบบจดเลคเชอร์อย่างเดียว โดยในปัจจุบันครูผู้สอนต่างก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งจะไม่เน้นแค่วิชาการเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นกิจกรรมให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริงด้วย

ดังนั้นถามว่าใบปริญญาบัตรมีความสำคัญมากแค่ไหน ก็ต้องดูถึงกระบวนการที่เราจะได้มาซึ่งใบปริญญาบัตร หากเราต้องการใบปริญญาที่มีคุณค่า เราก็ต้องมองว่าที่ไหนสามารถให้ใบปริญญาที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการได้ ซึ่งสำหรับอาจารย์แล้ว ใบปริญญาบัตรเป็นส่วนหนึ่งที่จะหล่อหลอมเราให้เป็นคน ๆ หนึ่ง ที่สามารถบรรลุเป้าหมายของตนเองได้ 

รวมภาพ อาจารย์ไอซ์

** บทความนี้ เป็นบทความสัมภาษณ์พิเศษอาจารย์ไอซ์ จากทีมงานเว็บไซต์ Campus-Star.com **

ภาพจาก : https://women.mthai.com/

บทความที่น่าสนใจ