มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประวัติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีชื่อในตอนแรกเริ่มว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “University of Moral and Political Sciences” จากเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ผู้ประศาสน์การที่มีความประสงค์จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้โอกาสแก่สามัญชนในการศึกษา “วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในด้านกฎหมายการเมืองการปกครอง เพื่อมารับใช้ประเทศชาติที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ผู้ประศาสน์การได้เลือกวันที่ 27 มิถุนายน เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยโดยเหตุว่า วันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยเกี่ยวข้องกับการเมือง และประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น
ปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยคือ สิทธิเสรีภาพ และการให้โอกาส ดังคำกล่าวรายงานของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในวันสถาปนามหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้ว่า “…มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิ และโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา…” มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในตอนเริ่มต้นจึงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด และถือกำเนิดขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน
วิชาที่เปิดสอนมี 2 แขนงคือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ซึ่งสอนวิชากฎหมายเป็นหลัก แต่ได้สอนวิชา
รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการฑูตด้วย เมื่อจบปริญญาตรีธรรมศาสตรบัณฑิตก็อาจศึกษาต่อปริญญาโท แยกเป็นแขนงนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการฑูตต่อไป วิชาอีกแขนงหนึ่งคือ วิชาการบัญชี โดยมี หลักสูตร 3 ปี สำหรับประกาศนียบัตรทางการบัญชี (เทียบเท่าปริญญาตรี) และ 5 ปี สำหรับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี (เทียบเท่าปริญญาโท)
สำหรับที่ตั้งมหาวิทยาลัย ครั้งแรกใช้ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิมที่เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2478 มหาวิทยาลัยขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ของทหาร และปรับปรุงอาคารเดิม พร้อมทั้งสร้างตึกโดม (อันหมายถึงปัญญา และความเฉียบแหลม) เงินที่ซื้อที่ดินรวมทั้งการก่อสร้างได้มาจากเงิน ที่มหาวิทยาลัย เก็บจากค่าสมัคร และค่าเล่าเรียน (คนละ 20 บาท ต่อปี) นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยยังได้ตั้งธนาคารเอเชียขึ้น เพื่อเป็นสถานที่สำหรับนักศึกษาวิชาการบัญชี ใช้เป็นที่ฝึกงานด้วย
ในปี พ.ศ.2481 มหาวิทยาลัยตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อ ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรง โรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตรการสอนหนักไปทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาด้านสังคม เช่น ปรัชญา วิชาเทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น โรงเรียนเตรียมปริญญามีทั้งหมดรวม 8 รุ่น จนถึงปี พ.ศ.2490 จึงถูกยกเลิกไป
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการ ปกครอง ของคณะรัฐประหาร ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ และถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัย การเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “การเมือง” ออก เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ตำแหน่งผู้ประศาสน์การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ.2495
ในปี พ.ศ.2518 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ท่านเห็นว่า ควรที่จะขยายการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ในชั้น ปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีส่วนสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาสังคม เช่นเดียวกับหลักสูตรทางสังคมศาสตร์ที่มียู่เดิม พื้นที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ไม่เพียงพอต่อการขยายตัว ทางวิชาการ และการพัฒนามหาวิทยาลัยจึงเจรจาขอใช้ที่ดินนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เนื้อที่ประมาณ 2,400 ไร่ ที่รังสิต เพื่อสนองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขยายออกไปที่รังสิต เรียกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเจริญก้าวหน้า และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาด้วย โดยอยู่บนพื้นฐานการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ดั่งเช่น จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ปรัชญาของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนทุกระดับชั้นเป็นแหล่งความรู้ที่จัดการเรียนการสอนครบทุกศาสตร์ ส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรม ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้ผู้เรียนรู้ลึกในศาสตร์ที่มุ่งศึกษา และรู้รอบในทุกศาสตร์ตามความสนใจของผู้เรียน บัณฑิตของธรรมศาสตร์จึงเป็นผู้ที่รู้ลึกในศาสตร์นั้นๆ และรู้รอบในหลายๆ ศาสตร์ มีความพร้อมที่จะนำความเป็นธรรมสู่สังคม และสามารถพัฒนาตนเองพร้อมทั้งพัฒนาสังคมตามปณิธานที่ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศในระดับนานาชาติ มีความเป็นเลิศ ในการผลิตบัณฑิต การสร้างองค์ความรู้ และการแก้ปัญหาของประเทศ” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่มีความลุ่มลึก และโดดเด่นในองค์ความรู้ที่ครบถ้วน ในทุกศาสตร์ เพื่อการพัฒนา และการแก้ปัญหาให้แก่สังคมไทยและภูมิภาค โดยมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย
คือ พระพุทธธรรมทิฐิศาสลาด สร้างขึ้นในโอกาสที่มหาวิทยาลัยครบรอบ 50 ปี เมื่อ พ.ส. 2527
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ได้แก่ ตราธรรมจักร มีความหมายว่า สถาบันแห่งนี้ยึดถือคติธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลัก กล่อมเกลาบัณฑิต สิ่งที่อยู่กลางธรรมจักร คือ พานรัฐธรรมนูญ หมายถึง การยึดมั่น เชิดชูรัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่ มธก. ยึดถือ และประพฤติปฏิบัติ
สีประจำมหาวิทยาลัย
ได้แก่ สีเหลือง-แดง การเลือกสีเหลืองกับแดงนี้ ไม่มีหลักฐานเด่นชัด เพียงแต่ทราบว่า ผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เลือก ซึ่งอาจมาจากความต้องการเอา สีเหลือง ซึ่งเป็นสีของศาสนา เหมือนดังธรรมจักร กับ สีแดง ซึ่งแสดงความเข้มข้น คือ เลือด ดังปรากฏในเพลงของขุนวิจิตรมาตราว่า “เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้”
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ได้แก่ ต้นหางนกยูง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 และได้ทรงปลูกต้นหางนกยูง จำนวน 5 ต้น ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ เพื่อให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ตามที่นักศึกษาขอพระราชทาน ซึ่งผู้ขอคือ นายวิทยา สุขดำรง
ตึกโดม เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย โดมได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้นิยมเรียกตนเองว่า “ลูกแม่โดม” ตลอดมา
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
ยุคแรก : เพลงมอญดูดาว
ยุคปัจจุบัน : เพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง”
เพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ เพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้ทรงพระราชนิพนธ์เฉพาะทำนองก่อน และได้ทรงนำมาบรรเลงครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 อันเป็นวันทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนเพลงที่สมบูรณ์ทั้งทำนอง และเนื้อร้อง (เนื้อร้องยกร่างโดย หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช) ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507
ที่ตั้ง และวิทยาเขต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีสถานที่จัดการเรียนการสอน 4 แห่ง คือ
1. ท่าพระจันทร์ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 มีพื้นที่ประมาณ 49 ไร่
โทรศัพท์ 0-2613-3333 โทรสาร 0-2224-8099
เว็บไซต์ www.tu.ac.th
2. ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 มีพื้นที่ประมาณ 1,759 ไร่
โทรศัพท์ 0-2564-4440-79 โทรสาร 0-2564-4405
เว็บไซต์ www.tu.ac.th
3. ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถนนลำปาง-เชียงใหม่ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 52190 มีพื้นที่ประมาณ 312 ไร่
โทรศัพท์ 089-433-9004-5, 054-268-704 โทรสาร 054-268-703
เว็บไซต์ www.lampang.tu.ac.th
4. ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา 39/4 หมู่ 5 ต.โป่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150 มีพื้นที่ประมาณ 565 ไร่
โทรศัพท์ 038-259050-55 โทรสาร 038-259069
เว็บไซต์ www.pattayacenter.tu.ac.th
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : Thammasat University
ชื่อย่อ : มธ. (TU)
คติพจน์ : เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม
สถาปนา : 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477
ประเภท : รัฐ
Facebook :https://www.facebook.com/thammasatsu และ https://www.facebook.com/thammasat.uni
ที่มาจาก http://www.tu.ac.th/intro/about/swf/history1.htm และ http://www.buksohn.com/clients/tubookwp/?page_id=7