การแต่งกาย ม.ธรรมศาสตร์ มธ

อธิการบดี มธ. ตอบรับเสรีภาพในการแต่งกาย แต่งกายอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่รบกวนผู้อื่น

Home / วาไรตี้ / อธิการบดี มธ. ตอบรับเสรีภาพในการแต่งกาย แต่งกายอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่รบกวนผู้อื่น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เซ็นประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องแนวทางการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ. 2566 เพื่อออกมานิยามว่า การแต่งกายแบบใดถือว่าไม่สุภาพ เพื่อลดช่องโหว่ในการตีความของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ. 2564

อธิการบดี มธ. ตอบรับเสรีภาพในการแต่งกาย

แต่งกายอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่รบกวนผู้อื่น

โดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอยืนยันถึงเสรีภาพในการแต่งกายและยืนยันว่า เสรีภาพในการแต่งกายของพวกเรา ต้องไม่ถูกตีกรอบภายใต้กำหนดนิยามใคร

สำหรับเหตุผลการออกประกาศ “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวทางการการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ.2566” นั้น ในประกาศฯ ระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติในเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาสอดคล้องกับข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ.2564

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 และข้อ 10 วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ.2564 อธิการบดีจึงออกประกาศไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง แนวทางการการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ.2566”

ข้อ 2 การแต่งกายในลักษณะต่อไปนี้ ถือเป็นการแต่งกายที่ไม่สุภาพเรียบร้อย

(1) การแต่งกายในลักษณะที่ก่อให้เกิดการรบกวนสมาธิของบุคคลอื่นในการเรียน การสอบ และการเข้ารับบริการอื่นจากส่วนงานของมหาวิทยาลัย

(2) การแต่งกายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอน เจ้าหน้าที่คุมสอบ หรือบุคลากรผู้ให้บริการ เช่น การแต่งกายที่ไม่สามารถระบุตัวตนหรือไม่สามารถตรวจสอบการกระทำทุจริตของนักศึกษาได้

ทั้งนี้ ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ.2564 ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 มีการระบุถึงการแต่งการในโอกาสทั่วไป ในข้อ 10 ของข้อบังคับฯ ซึ่งระบุว่า ในโอกาสทั่วไปให้นักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษา หรือแต่งกายสุภาพ

หากนักศึกษาแต่งกายล่อแหลมจนเกินควร หรือเปิดเผยเนื้อตัวร่างกาย จนมีลักษณะไปในทางยั่วยุทางเพศ ทั้งนี้ไม่ว่าเจตนาหรือไม่ หรือแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย จนไม่เหมาะสมกับกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ผู้สอนมีสิทธิที่จะไม่ให้นักศึกษาเข้าเรียน และส่วนงานต่าง ๆ มีสิทธิ์งดให้บริการแก่นักศึกษาได้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอาจออกประกาศกำหนดว่า การแต่งกายลักษณะใด ที่เป็นการแต่งกายล่อแหลมจนเกินควร หรือเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายจนมีลักษณะไปในทางยั่วยุทางเพศ หรือแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อยจนไม่เหมาะสมกับกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา เพจ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต