“Time Higher Education” หรือ “THE” สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2020 ตามสาขาวิชา ในด้านคลินิก พรีคลินิก และสุขภาพ (clinical, pre-clinical and health) ซึ่งได้ใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือและเข้มงวด ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้แบบเดียวกันทั้งหมดในการจัดอันดับตามภาพรวมของมหาวิทยาลัยทั่วโลก และ THE ได้ปรับการกำหนดน้ำหนักคะแนนให้เหมาะสมกับแต่ละสาขาวิชา
มข. ได้รับการจัดอันดับโลก สาขาด้านการแพทย์และสุขภาพขยับสูงขึ้น
การจัดอันดับนี้เน้นไปที่มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านแพทย์ศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และสาชาวิชาสุขภาพด้านอื่นๆ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปีนี้รวมมหาวิทยาลัย 775 แห่งซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 721 แห่งในปีก่อน
ผลการจัดอันดับปรากฎว่า มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอยู่ในอันดับโลกในสาขาดังกล่าว จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยผลจากการจัดอันดับในปี 2020 นี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 501–600 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังจากปี 2019 อันดับของมข.อยู่ที่อันดับ 601+ ของโลก และอันดับ 4 ของประเทศไทย
โดยมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับให้สาขาด้าน clinical, pre-clinical and health ดีที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ University of Oxford, Harvard University, University of Cambridge, Imperial College London และ Stanford University ตามลำดับ ส่วนในประเทศไทย อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ ผลงานวิจัยหลายผลงานถูกนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาหลักของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการขนาดใหญ่ที่บูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
“ผมขอขอบคุณอาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษาทุกคน ที่ร่วมการสร้างผลงาน ซึ่งผลจากการประเมินในครั้งนี้มาจากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินงานด้านการการวิจัยที่ตอบโจทย์ชุมชน สังคม และประเทศชาติในด้านสุขภาพจากคณะที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ดำเนินงานทางวิชาการอย่างเข้มแข็ง มีผลิตผลงานวิจัยด้านปรีคลินิก คลินิก และสุขภาพมากกว่า 600 เรื่อง จากนักวิจัยมากกว่า 300 คน
ซึ่งการดำเนินงานนี้สอดคล้องกับตัวชี้วัดในการจัดอันดับ ทั้งในด้านการสอน ซึ่งปี 2020 ได้ 24.5 คะแนน/ปี 2019 ได้ 21.7 คะแนน การวิจัย ปี 2020 ได้ 17.3 คะแนน/ปี2019 ได้ 11.7 การอ้างอิง ปี 2020 ได้ 37.0 คะแนน/ปี 2019 ได้ 27.9 คะแนนทัศนคติจากนานาชาติ ปี 2020 ได้ 36.4 คะแนน/ปี 2019 ได้ 36.5 คะแนน รายได้ภาคอุตสาหกรรม/นวัตกรรม ปี 2020 ได้ 46.4 คะแนน/ปี 2019 ได้ 42.5″ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุลกล่าว
สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการบริการทางการแพทย์ผ่านหลายงาน ได้แก่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ สถานบริการสุขภาพเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ศูนย์บริการสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยมีคณะวิชาที่ดำเนินการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆจึงส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นเป็นลำดับและยังทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาองค์ความรู้ซึ่งนำไปสู่ผลการจัดอันดับดังกล่าว
ดูผลการจัดอันดับได้ที่ World University Rankings 2020 by subject: clinical, pre-clinical and health