เปิด 3 กลไกผลิตและพัฒนาครูยุคใหม่ หวังยกระดับสมรรถนะอย่างเต็มขั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการผลิตครูที่มีคุณภาพ เนื่องจากครูคือตัวชี้คุณภาพการศึกษาของประเทศ ผู้รับบทบาทหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนผู้เรียนให้มีความรู้ ทัศนคติ และทักษะการใช้ชีวิตในสังคม จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน (Big Rock 3) เพื่อพัฒนากลไกการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลไก

เปิด 3 กลไกผลิตและพัฒนาครูยุคใหม่

ได้แก่

· กระบวนการคัดเลือกนิสิต/นักศึกษาครูที่มีประสิทธิภาพ

การพัฒนารูปแบบการคัดเลือกเด็กนักเรียน หรือบุคคลที่มีความประสงค์เข้าเรียนครูอย่างเที่ยงตรง ด้วยการกำหนดเกณฑ์การรับสมัคร กำหนดเกรดเฉลี่ยมาตรฐาน การทดข้อสอบความรู้ทั่วไป การทดสอบวัดความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาวิชา การทดสอบจิตวิทยา วัดคุณลักษณะความเป็นครู รวมถึงการสอบสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบบุคลิกภาพว่าบุคคลนั้นมีความเหมาะสมที่จะเป็นครู หรือจิตวิญญาณความเป็นครูหรือไม่

· หลักสูตรการผลิตครูที่เป็นเลิศ

สถาบันผลิตครู ต้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู ตามสาขาวิชาและบริบทพื้นที่ เพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐาน มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และระบบนิเทศการศึกษา โดยเฉพาะการสอนงานครูพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากครูพี่เลี้ยงต้องเป็นทั้งผู้ดูแลการฝึกปฏิบัติการสอน และบ่มเพาะประสบการณ์วิชาชีพให้แก่นักศึกษา จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในความเป็นครูอย่างลึกซึ้ง

· สถาบันผลิตครูมีมาตรฐานตามตัวชี้วัด

ต้องมีการกำหนดสมรรถนะและพัฒนามาตรฐานของสถาบันการผลิตครู เพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และต้องบริหารจัดการให้มีการกำหนดตัวชี้วัดสมรรถนะอาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาชีพครูของสถาบัน รวมทั้งพัฒนาอาจารย์ประจำหลักสูตรให้มีสมรรถนะตามมาตรฐาน ทั้งความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาเอกและวิชาชีพครู

สำหรับการผลิตและพัฒนาครูของประเทศไทย

ในปัจจุบัน พบว่ามีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากสถาบันแต่ละแห่งมีมาตรฐานและกระบวนการผลิตครูที่แตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน สถาบันผลิตครูที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักเปิดหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกัน ทำให้จำนวนบัณฑิตครูมีจำนวนมากเกินกว่าความต้องการ จากรายงานผลการสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครู ปี พ.ศ. 2563 พบว่า มีผู้สมัครและมีสิทธิ์สอบจำนวน157,314 คน จากความต้องการ 18,987 คน และมีผู้สอบได้เพียง 10,375 คน หรือร้อยละ 6.8 ทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปบรรจุ มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความสูญเปล่าทางการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อกระบวนการผลิตครู คือความไม่แน่นอนและต่อเนื่องของแนวนโยบายและหลักสูตร เช่น การจัดหลักสูตรครู 4 ปี และ 5 ปี จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พบว่าจำนวนปีไม่มีผลต่อคุณภาพบัณฑิต แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการผลิต อาทิ โครงการเพชรในตม หลักสูตร 4 ปี จำนวน 22 รุ่น และหลักสูตร 5 ปี จำนวน 6 รุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าคุณภาพบัณฑิตไม่แตกต่างกัน โดยทั้งครู ผู้ปกครอง และผู้เรียนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับหลักสูตรครู 4 ปี เนื่องจากการเรียน 5 ปี ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ด้วยบริบทของประเทศและโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมโลกยุคใหม่ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องและพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นหน้าที่ของสถาบันผลิตครูที่ต้องปรับบทบาทการผลิตครูให้มีสมรรถนะสูงและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการผลิตครูให้เหมาะกับสถานการณ์และยุคสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งครูยุคใหม่ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งยึดมั่นในจริธรรมและจรรยาบรรณครูอย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thaiedreform2022

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง