นักเรียนอาชีวศึษาเตรียมตัวกันให้พร้อมเลย… คณะกรรมการอาชีวศึกษาได้จับมือกับสถาบันการบินพลเรือน กองทัพอากาศ และบริษัทสายการบินต่างๆ พัฒนาหลักสูตรช่างอากาศยาน หรือ Aircraft Mechanic ในระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยมี 6 วิทยาลัยเทคนิคนำร่องสอนหลักสูตรช่างอากาศยาน ในภาคการศึกษาที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2560
เรียน อาชีวะ หลักสูตรช่างอากาศยาน
โดยวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 นายวณิชย์ อ่วมศรี ที่ปรึกษาบริหารโครงการประจำสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า สอศ. ได้จับมือกับสถาบันการบินพลเรือน บริษัทสายการบินต่างๆ รวมถึงกองทัพอากาศ พัฒนาหลักสูตรช่างอากาศยานให้เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งในขณะนี้หลักสูตรดังกล่าวได้ทำการพัฒนาเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียน 2 ปี กับ 1 ภาคฤดูร้อน และจะเริ่มนำไปใช้สอนในภาคเรียนที่ 2/2560 นี้
สำหรับ 6 วิทยาลัยเทคนิคนำร่องของงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้แก่
- วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ
- วิทยาลัยเทคนิคถลาง จังหวัดภูเก็ต
- วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
- วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ยังมี มหาวิทยาลัยนครพนม ที่ได้ประสานขอใช้หลักสูตรการเรียนการสอนนี้อีกด้วย
ถ้าเราพูดถึง วิชาเรียนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในยุคปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดการศึกษาอย่างมากเลยทีเดียว จึงทำให้ สอศ. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) สาขาอุตสาหกรรมการบินขึ้นมา เพื่อพิจารณาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ อีกทั้ง สอศ. ยังจะทำการผลักดันให้เกิดหลักสูตรอุตสาหกรรมการบิน 5 ปี โดยแบ่งเป็นหลักสูตร ปวช. 3 ปี และ ปวส. 2 ปี อีกด้วย
โดยแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสายการบินราคาประหยัด ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การเดินทางของคนทั่วโลก ทำให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบิน ที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งช่างอากาศยาน หรือ Aircraft Mechanic เพื่อรองรับแผนการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินไทย ซึ่งในปัจจุบันยังขาดแคลนวิศวกรอากาศยานและช่างอากาศยานเป็นจำนวนมาก ที่จะสามารถช่วยในการซ่อมบำรุง ดูแลรักษาเครื่องบินที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมการบินของไทย
จากการประเมินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีการระบุข้อมูลที่เป็นตัวเลขความต้องการบุคลากรด้านการบิน การควบคุมการจราจรทางอากาศ และช่างอากาศยานภาคพื้น จำนวนมากกว่า 40,000 อัตราเลยทีเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 5 ข้อดี ของการเลือกเรียนในสายอาชีวศึกษา ที่ใครหลายๆ คนอาจจะเคยไม่รู้
- 6 สาขาวิชายอดฮิต ที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สำหรับเด็กที่เรียนจบ ปวช.
ที่มา : http://thaitribune.org