บางคนอาจจะคิดว่า การที่เลือกเรียนในสายอาชีวศึกษา หรือสายอาชีพ จะทำให้เราเลือกสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้น้อย เพราะเลือกคณะที่สอบเข้าได้น้อยกว่าเด็กที่เรียนจบในสามัญ ถ้าใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่… ขอให้เปลี่ยนความคิดเลย
จบ ปวช. เรียนต่ออะไรได้บ้าง?
ซึ่งในความเป็นจริง เด็กที่เรียนจบในระดับ ปวช. สามารถที่จะเลือกสอบเข้าเรียนต่อในคณะที่ต้องการได้มากมายหลายคณะเลย เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น และนี่ก็คือ 6 สาขาวิชายอดฮิตที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สำหรับเด็กที่เรียนจบในระดับ ปวช.
1. สถาปัตยกรรมศาสตร์
สำหรับ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม เป็นอีกหนึ่งสาขาวิชายอดฮิตในระดับปริญญาตรีเลยทีเดียว โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานเทคนิควิทยาการทั้งทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่อาศัย วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้น
ซึ่ง สาขาวิชานี้ คะแนนไม่ใช้ตัวชี้วัดในการสอบเข้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย น้องๆ คนไหนที่เรียนจบมาทางสาย ปวช. ก็สามารถที่จะสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้เลย สำหรับการเรียนในสาขาวิชานี้ ไม่ใช่เพียงแค่เราจะต้องวาดรูปเก่งเท่านั้น แต่จะต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมายเลย ไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานการออกแบบสถาปัตยกรรม ความปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรม ทัศนียภาพและการตกแต่งแบบ การวางผังชุมชน การออกแบบชุมชน การทำหุ่นจำลอง การประมาณราคางานก่อสร้าง การเขียนแบบก่อสร้าง พันธุ์ไม้และอุปกรณ์ตกแต่งสวน กฎหมายอาคาร เป็นต้น ถือได้ว่า สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในหลายด้านเลยทีเดียว เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานต่อไป
2. วิศวกรรมโยธา
สำหรับ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เป็นศาสตร์ของสาขาหนึ่งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยจัดอยู่ในประเภทวิชาอุตสาหกรรม (เป็นสายที่เกี่ยวข้องกับช่าง) ครอบคลุมการก่อสร้างตึก ตึกระฟ้า อาคาร สะพาน ถนน และระบบขนส่งอื่นๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น เขื่อน คลอง ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ และการบริหารจัดการการก่อสร้าง
น้องๆ ที่เรียนจบในระดับ ปวช. ที่ต้องการเรียนต่อในสาขาวิชานี้ บอกได้คำเดียวเลยว่า สบายแล้วล่ะ เพราะวิชาส่วนใหญ่ที่เราจะเรียนกันนั้น เราเรียนกันมาแล้วในตอนเรียน ปวช. ระดับขั้นพื้นฐาน พอเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็จะเป็นการเจาะลึกลงไปในแต่ละส่วน ซึ่งวิชาที่น้องๆ จะต้องเจอ เช่น คณิตศาสตร์ช่างโยธา การเขียนแบบโยธาเบื้องต้น เทคนิคก่อสร้าง การประมาณราคางานก่อสร้าง การเขียนแบบโยธาด้วยคอมพิวเตอร์ แบบหล่อคอนกรีตและโครงสร้างชั่วคราว เป็นต้น โดยผู้ที่จบมาในสาขาวิชานี้ จะเรียกว่า วิศวกรโยธา หรือเรียกกันว่า นายช่าง
3. การโรงแรมและการท่องเที่ยว
สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชายอดฮิตที่มีผู้สมัครเข้าเรียนต่อไม่น้อยกว่าสาขาอื่นๆ เลย โดยสาขาวิชานี้ถูกจัดอยู่ใน ประเภทวิชาพณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ ซึ่งน้องๆ ส่วนใหญ่ที่เรียนจบมาในสาขานี้จะทำงานด้านการบริการหรือทำงานที่โรงแรมในตำแหน่งต่างๆ
โดย วิชาที่น้องๆ จะต้องเจอเมื่อเลือกเรียนสาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ในระดับปริญญาตรี เช่น วิชาการพัฒนาบุคลิกภาพ การบริการอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องดื่มและการผสมเครื่องดื่ม การพัสดุโรงแรม โภชนาการและอนามัยอาหาร การจัดตกแต่งสถานที่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังจะต้องเรียนภาษาต่างประเทศที่ใช้ในงานโรงแรม อีกด้วย เมื่อเรียนจบมาแล้วทำงานรับรองเลยว่าค่าตอบแทนดีแน่นอนค่ะ
4. ภาษาต่างประเทศ
ถือได้ว่า ภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และผรั่งเศส ฯลฯ ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นภาษาที่มีความจำเป็นในการทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น น้องๆ คนไหน ที่เรียนจบในระดับ ปวช. แล้วต้องการเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ ต้องบอกเลยว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงเลย เพระอย่าลืมว่ายังมีเพื่อนๆ ในสายสามัญอีกที่ต้องการเข้าเรียนต่อในสาขาวิชานี้ด้วย
สำหรับวิชาที่น่าเรียนของสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ สนทนาภาษาอังกฤษธุรกิจ ภาษาอังกฤษเพื่อการนำเสนอ ภาษาอังกฤษเพื่อการสมัครงาน ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว ภาษาอังกฤษสำหรับมัคคุเทศก์ ภาษาอังกฤษเพื่องานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกเรียนภาษาที่ 3 ได้อีกด้วย ซึ่งเรียนจบมาแล้ว เรายังสามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลายเลย ไม่ว่าจะเป็น มัคคุเทศก์ นักแปล ล่าม ฯลฯ
5. การบัญชี
สำหรับ สาขาวิชาการบัญชี จัดอยู่ในประเภทวิชาพณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นสาขาวิชายอดฮิตของน้องๆ ปวช. เลยก็ว่าได้ ซึ่งในการเรียนในระดับ ปวช. ก็จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับสาขาบัญชีธรรมดา โดยที่เราจะต้องทำบัญชีเบื้องต้นเป็น ทำงบเป็น แต่เมื่อเข้าไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะมีการแบ่งออกเป็นคณะต่างๆ เช่น คณะบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น และจะมีการเรียนที่เข้มข้นมากกว่าเดิมเยอะเลยทีเดียว
โดย วิชาที่น่าเรียนของสาขาวิชานี้ ได้แก่ การบัญชีสำหรับกิจการซื้อขายสินค้า การบัญชีห้างหุ้นส่วน กระบวนการจัดทำบัญชี การใช้คอมพิวเตอร์ในงานบัญชี การจัดการสินค้าคงคลัง การประยุกต์โปรแกรมตารางงานเพื่องานบัญชี เป็นต้น เมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถไปประกอบอาชีพต่างๆ ได้ เช่น นักบัญชีหน่วยงานเอกชนหรือราชการ นักตรวจสอบบัญชี ฯลฯ
6. เทคโนโลยีสารสนเทศ
สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดอยู่ในประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งในสาขาวิชานี้ น้องๆ คนไหนที่เรียนจบในระดับ ปวช. มาแล้วต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ถือว่าสอบเข้าได้ไม่ยากเลย เพราะว่าเราได้เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศกับแบบตรงๆ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น วิทยาการคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน ฯลฯ โดยน้องๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับ ความเชี่ยวชาญทางด้านระบบฐานข้อมูล ระบบเชิงฉลาด ระบบสื่อหลายแบบ ระบบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเรียจบออกมาแล้ว สามารถที่จะประกอบอาชีพได้อย่างมากมาย เช่น โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะระบบฐานข้อมูล it Support เป็นต้น
นี่เป็นเพียงแค่บางสาขาวิชาเท่านั้น ที่น้องๆ ในระดับ ปวช. สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ เพราะยังมีอีกหลายสาขาวิชาด้วยกันที่เราสามารถเรียนต่อได้ เช่น วิชาทางด้านประมง วิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ วิชาเกษตรกรรม วิชาคหกรรม วิชาศิลปกรรม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ก่อนที่น้องๆ จะตัดสินใจเรียนต่อในสาขาวิชาไหน เราก็ควรเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ และสามารถนำมาต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้ อีกด้วย…
เรียบเรียงโดย campus-star.com