สำหรับ ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearing House) เป็นระบบในการยืนยันสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของน้องๆ นักเรียนทุกคนที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยเป็นนิสิต นักศึกษา โดยที่น้องๆ คนไหนได้ทำการยืนยันสิทธิ์ในระบบไปแล้วในแต่ละรอบ จะไม่สามารถที่จะสมัครคัดเลือกได้ใหม่ในรอบถัดไป ส่วนน้องๆ ที่ไม่กดยืนยันสิทธิ์ตามกำหนดเวลาในแต่ละรอบจะถือว่าน้องๆ สละสิทธิ์ไปโดยอัตโนมัติ
ระบบเคลียริงเฮาส์ ควรอ่านให้ดีก่อนยืนยันสิทธิ์
และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับระบบเคลียริงเฮาส์มาให้น้องๆ ได้รู้กันก่อนด้วย จะมีเรื่องอะไรบ้าง… ตามมาเรามาดูกันเลย
การรับสมัคร
1. การรับสมัครและการคัดเลือกในรอบที่ 1/1, 1/2, 2 และ 5 จะดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามคุณสมบัติและประกาศของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษานั้นๆ
2. ในการรับสมัครรอบที่ 3 จะดำเนินการโดยสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ส่วนการคัดเลือกจะดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดรับสมัคร โดยจะต้องเป็นไปตามคุณสมบัติและประกาศของทางมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดรับสมัคร
3. การรับสมัครและการคัดเลือกในรอบที่ 4 จะดำเนินการโดยสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และเป็นไปตามคุณสมบัติและประกาศของสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
การคัดเลือกในรอบที่ 4 โดย ทปอ.
1. สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะทำการพิจารณาอันดับการคัดเลือกจากใบสมัครที่ทำการสมัครใสครั้งล่าสุดและมีการชำระเงินเท่านั้น
2. ผู้สมัครจะต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน เป็นความจริงทุกประการ พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องก่อนทำการยืนยันการสมัคร โดยหากพบว่าข้อมูลที่แจ้งมาในใบสมัครเป็นเท็จ จะถือว่าเป็นการสมัครที่ไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะ และยังถูกตัดสิทธิ์ออกจากการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อเป็นระยะเวลา 3 ปีด้วยกัน
3. สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะทำการคัดเลือกผู้สมัครที่มีคะแนน O-NET ในปีที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
4. ผู้สมัครเข้าคัดเลือกต้องสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2560 (ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560)
5. ในกรณีที่ผู้สมัครจบการศึกษาจากต่างประเทศต้องส่งใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) พร้อมทั้งลงนามรับรองสำเนา ส่งมายังสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วย
6. ผู้สมัครเข้าคัดเลือกจะต้องมีคะแนนรายวิชาครบตามองค์ประกอบที่ในแต่ละคณะ/สาขาวิชากำหนดเอาไว้ หากมีคะแนนวิชาไม่ครบ จะถือว่าขาดคุณสมบัติในการเข้าศึกษาต่อในคณะ/สาขาวิชานั้นๆ
การสอบสัมภาษณ์
1. หลักฐานที่ใช้ในการประกอบการสัมภาษณ์ ให้น้องๆ นำมาแสดงพร้อมเขียนสำเนาถูกต้องในวันที่มาสอบสัมภาษณ์ด้วย ได้แก่
- ใบสมัครที่พิมพ์ออกจากระบบการรับสมัคร
- วุฒิบัตรการศึกษา (ระเบียนแสดงผลการเรียน)
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือใบต่างด้าว หรือหลักฐานตามที่ทางราชการออกให้มาแสดงว่าได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย
- หลักฐานอื่น (ถ้ามี) ซึ่งสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจะประกาศให้ทราบในวันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายทาง : http://tcas.cupt.net
2. ถ้าในวันนั้นน้องๆ เตรียมหลักฐานประกอบการสัมภาษณ์มาไม่ครบ จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบสัมภาษณ์
การยืนยันสิทธิ์
1. สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละรอบ (ยกเว้นรอบที่ 4) ต้องทำการยืนยันสิทธิ์ที่ : http://tcas.cupt.net แต่ถ้าหากไม่ทำการยืนยันสิทธ์จะถือว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกสละสิทธิ์ทั้งหมด
2. ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมีสิทธิ์ในการยืนยันสิทธิ์ในคณะ/สาขาที่ต้องการได้เพียง 1 คณะ/สาขาเท่านั้น
3. ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถทำการเปลี่ยนแปลงการยืนยันสิทธิ์ในคณะ/สาขาที่ต้องการได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น และจะต้องอยู่ในเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ด้วย หากครบ 3 ครั้งแล้วจะไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้อีก ยกเว้นการสละสิทธิ์ทั้งหมด
4. ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เมื่อได้ทำการยืนยันสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์ในการสมัครรอบถัดไป หากต้องการสมัครใหม่ในรอบถัดไปน้องๆ จะต้องทำการสละสิทธิ์ที่มีอยู่เสียก่อน ซึ่งการยืนยันสิทธิ์และการสละสิทธิ์จะต้องทำในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น
ข้อน่ารู้เพิ่มเติม
1. รหัสโรงเรียนเป็นไปตามข้อมูลที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเอาไว้ โดยน้องๆ สามารถตรวจสอบได้ที่ : http://tcas.cupt.net
2. น้องๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ที่ :
- ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อาคารสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ชั้น 3 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
- โทรศัพท์ : 02-354-5150, โทรสาร : 02-354-5155-6
- E-mail : admissions@cupt.net
- เว็บไซต์ : http://tcas.cupt.net