ตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้มีการกำหนดจำหน้าแฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio ของน้อง ๆ ให้มีจำนวนหน้าได้ไมเกิน 10 หน้าด้วยกัน (แบบที่ไม่รวมหน้าปก) แต่น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่ามีส่วนไหนที่น้อง ๆ จะต้องโฟกัสเป็นพิเศษกันบ้าง
แนะนำ 5 ส่วนสำคัญในการทำ Portfolio
ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ได้สรุป 5 ส่วนสำคัญในการทำPortfolio มาให้กันแล้ว อย่ารอช้า! ไปดูกันเลย… รับรองกรรมการเห็นแล้วจะต้องชอบ ติดแน่นอนค่ะ
มาเริ่มกันที่ หน้าปก (หน้าที่ 0)
สำหรับ หน้าปก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกนับให้อยู่ใน 10 หน้าของ Portfolio แต่ก็มีสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่น ๆ เลย เพราะน้อง ๆ จะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้กรรมการเห็นหน้าปกแล้ว รู้สึกชอบ สนใจที่จะเปิดอ่านหน้าต่อไปมากที่สุด
ดังนั้นน้อง ๆ ควรออกแบบหน้าปกให้มีความสะดุดตามากที่สุด อาจจะใส่เป็นรูปของตนเองลงไปด้วย นำเสนอความเป็นตัวเองออกมาให้เต็มที่ มีรายละเอียดสั้น ๆ เกี่ยวกับ Portfolio ใส่ลงไปด้วย เช่น บอกว่าตนเองชื่ออะไร เป็นใคร เรียนอยู่ชั้นอะไร เรียนที่ไหน เป็นต้น
- เทคนิคการทำ แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ในการสมัครเรียนและทำงาน
- กำหนดการ TCAS63 ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ – เริ่มเปิดรับรอบแรก ธ.ค. 62 นี้
หน้าที่ 1 ประวัติส่วนตัว
ประวัติส่วนตัว หรือ Resume เป็นส่วนที่น้อง ๆ จะต้องเขียนข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับตัวเองให้ครบถ้วน โดยเน้นไปที่ทักษะความพิเศษที่น้อง ๆ มี บอกความเป็นตัวเองว่าทำไมถึงอยากที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะนี้ รวมถึงงานอดิเรกที่น้อง ๆ ชอบทำด้วยก็เขียนลงไปให้ครบนะจ๊ะ (หน้าที่ 1 อย่าลืมใส่รูปตัวเองลงไปด้วยนะ)
หน้าที่ 2 ประวัติการศึกษา
มาถึงหน้าที่ 2 ประวัติการศึกษา ในหน้านี้ให้น้อง ๆ ใส่ชื่อโรงเรียนที่จบมาในแต่ละดับชั้นการศึกษา ซึ่งน้อง ๆ อาจจะแยกออกเป็น ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ฯลฯ พร้อมทั้งใส่ผลการเรียนลงไปด้วย ใส่เป็นเกรดเฉลี่ย (GPAX) ว่าในแต่ละปีการศึกษาน้อง ๆ ได้เท่าไหร่บ้าง โดยในส่วนนี้ให้น้อง ๆ ทำเป็นตารางเพราะจะช่วยทำให้กรรมการอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าการเขียนออกเป็นข้อ ๆ
หน้าที่ 3 เหตุผลที่เลือกเรียนต่อที่นี่
สำหรับ หน้าที่ 3 จะเป็นการบอกถึงเหตุผลที่น้อง ๆ เลือกเรียนต่อในคณะ/สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในส่วนของหน้านี้ให้น้อง ๆ เขียนออกมาเป็นเรียงความที่มีความยาวไม่เกิน 1 หน้า A4 โดยให้เน้นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น และทัศนคติที่มีต่อคณะ/สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่าน้อง ๆ มีความรู้สึกอย่างไร
ปิดท้ายด้วย หน้าของผลงาน และกิจกรรม
ในส่วนสุดท้ายของเล่ม Portfolio จะเป็นส่วนของผลงาน รางวัล เกียรติบัตรที่เคยได้รับ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น้องเคยเข้าร่วม ซึ่งจะอยู่ตั้งแต่หน้าที่ 4 เป็นต้นไป ให้น้อง ๆ ดึงเอาผลงานเด่น ๆ ของตัวเองมาใส่ลงไป ทั้งนี้น้อง ๆ อาจจะคัดเอาเฉพาะรางวัล ผลงาน ฯลฯ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะ/สาขาวิชาที่ต้องการเข้าศึกษามา แทนที่จะเอารวม ๆ ทั้งหมด
เพราะส่วนนี้เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำ Portfolio เลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นส่วนที่เราจะต้องเสนอให้กรรมการเห็นว่าเรามีความสามารถด้านไหนบ้าง มีความเก่งมากขนาดไหน ดังนั้นตอนที่น้อง ๆ ทำในส่วนนี้ควรแยกออกเป็นหมวดหมู่ ใส่ภาพของรางวัล กิจกรรม ผลงาน และเกียรติบัตรที่เคยได้รับให้ชัดเจน พร้อมทั้งอธิบายใต้ภาพด้วยว่าภาพดังกล่าวคืออะไร
ข้อควรรู้ส่งท้าย ก่อนลงมือทำจริง
1. ถูกต้องตามที่ ทปอ. กำหนด
แน่นอนว่าก่อนที่น้อง ๆ จะลงมือทำ Portfolio นั้น น้อง ๆ จะต้องเข้าไปดูรายละเอียดระเบียบการและข้อกำหนดในการทำเสียก่อน ซึ่งน้อง ๆ สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์/เฟซบุ๊กของ ทปอ. และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยตามคณะ/สาขาวิชาต่าง ๆ โดยในปีการศึกษา 2562 นี้ ก็ได้มีการกำหนดจำนวนหน้าของ Portfolio ออกมาอย่างชัดเจนว่าห้ามเกิน 10 หน้า!
2. มีรายละเอียเกี่ยวกับตนเองครบถ้วน
น้อง ๆ จะต้องใส่ข้อมูล ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา รางวัล ผลงาน เกียรติบัตร และกิจกรรมต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และอธิบายให้ชัดเจนว่าแต่ละอันคืออะไร เกิดขึ้นที่ไหน และเกิดขึ้นเมื่อตอนไหน
3. มีความสร้างสรรค์ น่าสนใจ
สำหรับเนื้อหาภายใน Portfolio น้อง ๆ จะต้องทำให้มีความกระชับ น่าสนใจ เข้าใจง่าย มีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงความเป็นตัวตนออกมาให้กรรมการได้เห็น อีกด้วย