นิเทศศาสตร์คณะในฝัน หรือจะเป็น หลักสูตรตกงาน ? เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็จะเห็นสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกวัน และในการทำงานก็เช่นกันเราจำเป็นที่จะต้องนำสื่อดิจิทัล เข้ามาช่วยในการกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้มีความน่าสนใจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนสมัยนี้ ที่มีทางเลือกในเรียนรู้หลากหลายมากขึ้น และเลือกที่จะติดตามข่าวสารต่าง ๆ ในแบบออนไลน์มากกว่าการอ่านหนังสือ

นิเทศศาสตร์คณะในฝัน หรือ หลักสูตรตกงาน

ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็ทำให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า นิเทศศาสตร์คณะในฝัน? หรือหลักสูตรตกงาน? ถือได้ว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะในปัจจุบันคณะนิเทศศาสตร์กำลังเผชิญกับปัญหาจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การผลิตบัณฑิตให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ของเทคโนโลยีถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แล้วแบบนี้สถาบันการศึกษาจะต้องทำอย่างไร หรือต้องมีการปรับตัวอย่าไงบ้าง

ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยเหล่านี้กับ อาจารย์ไอซ์ หรือ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กับคำถามที่ว่า นิเทศศาสตร์คณะในฝัน หรือหลักสูตรตกงาน?

The Morning – ทางรอดนิเทศศาสตร์ หลักสูตรตกงาน?

Link : seeme.me/ch/goodmorningthailand/93G8WL

เรียนนิเทศฯ เหมือน กระเพราไก่ไข่ดาว จริงหรือไม่?

อาจารย์ไอซ์ หรือ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม ได้กล่าวว่าจากที่มีคนเปรียบเทียบการเรียนนิเทศศาสตร์ก็เหมือนกับอาหารตามสั่งอย่าง กระเพราไก่ไข่ดาว คิดอะไรไม่ออกหรือไม่รู้จะเรียนอะไรก็เลือกเรียนนิเทศศาสตร์เอาไว้ก่อน จริง ๆ แล้วนิเทศศาสตร์เป็นเรื่องของการสื่อสาร ใครก็ตามที่รักในการสื่อสาร เล่าเรื่อง ก็มีโอกาสที่จะเรียนต่อในคณะนี้ได้ ทั้งนี้เขาอาจจะไม่แน่ใจก็ได้ว่าจริง ๆ แล้วเขาทำอะไรได้ดี เพราะนิเทศฯ มีหลายอย่างให้ได้เข้ามาเรียนรู้ ให้เข้ามาเพิ่มพูนทักษะความสามารถ

ซึ่งเราก็ต้องมองกลับไปว่า เราเป็นกระเพราแบบไหน ชอบการเล่าเรื่องหรือเปล่า ถ้าเราไม่ชอบการสื่อสารกับใคร สื่อสารไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องอะไร และเล่าไปทำไม อันนี้ถือได้ว่าเราไม่เหมาะกับการเรียนนิเทศศาสตร์แล้ว แต่ถ้าเรารู้สึกว่าตนเองชอบการเล่าเรื่อง มีเรื่องมากมายอยากจะเล่าให้ผู้อื่นได้ฟัง คณะนิเทศฯ ก็เป็นคณะที่เหมาะกับเราแน่นอน เพราะในที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะเรียนจบออกไป สุดท้ายอาจารย์ไอซ์ก็ได้กล่าวว่า จะมีคำเรียกพวกเขาว่า Content Creator หรือ ผู้สร้างเนื้อหา

Content Creator (ผู้สร้างเนื้อหา) สำคัญอย่างไร

ซึ่งถือได้ว่าในยุคปัจจุบัน Content Creator เป็นที่ต้องการอย่างมากไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม ต่อให้เรียนจบออกมาแล้วและไม่ได้ทำงานด้านนิเทศฯ สื่อสาร ทำงานด้านอื่น ๆ ก็ตาม แต่ถ้าเราต้องการทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องใช้การสื่อสารเข้ามาช่วยทำให้ธุริกิจของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ต้องรู้จักวิธีการสร้าง Content ที่แตกต่างและน่าสนใจ

หรือใครที่จบออกมาแล้วได้ทำงานด้านการสื่อสาร เราจะรู้แค่งานถ่ายภาพ ตัดต่อ ไม่ได้ เราจะต้องรู้วิธีการหรือมีเทคนิคทำยังไงให้คนในแต่ละกลุ่มหันมาสนใจผลงานของเราให้ได้

การเรียนนิเทศฯ มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่เราคิด?

ดังนั้นการเรียนนิเทศฯ มีองค์ประกอบเยอะมากในการเรียน ถึงแม้ว่าเราจะเรียนนิเทศฯ และเลือกเรียนได้ในสาขาเดียว เช่น วารสารศาสตร์ อย่างที่ทุกคนรู้ว่าจะเรียนเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราจะเรียนรู้แค่สิ่งพิมพ์ไม่ได้ จะต้องหาวิชาเรียน ที่จะช่วยทำให้เรามีความรู้รอบด้านมากขึ้นด้วย เช่น เราอาจจะเลือกเรียนวิชาเลือกฟิล์ม เรียน PR เพิ่ม เป็นต้น เพื่อความรู้เหล่านั้นมาผสมผสานกันทำให้เกิดเป็นการเล่าเรื่องที่น่าสนใจและแตกต่างจากคนอื่น

ใครบอกเด็กนิเทศฯ ยุคนี้เรียนง่าย

ใครบอกว่าเด็กนิเทศฯ ยุคนี้เรียนง่าย บอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะปัจจุบันคณะนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ ไม่ได้สอนแค่แพลตฟอร์มเดียว สมมติว่าเราเรียนอยู่เอกวิทยุและโทรทัศน์ ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการปรับหลักสูตรใหม่มีการเรียนผสมผสานการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ลงไปด้วย เช่น เอกวิทยุและโทรทัศน์ จะต้องเรียนรู้ด้านดิจิทัล การเขียนคอนเทนต์ การแปลงคอนเทนต์ และยังรวมถึงจะต้องทำงานด้านกราฟิก ได้อีกด้วย ฯลฯ

ทิศทางคณะนิเทศฯ ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในอดีตการเรียนนิเทศฯ เริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ และได้มีการเพิ่มจำนวนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่เรียนกัน ทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอน แยกออกเป็นหลากหลายสาขาวิชา จนมาถึงในยุคปัจจุบัน อาจารย์ไอซ์ กล่าวว่า คณะนิเทศฯ ก็ยังคงเป็นที่มีคนต้องการเรียน แต่ถ้าถามว่าจำนวนลดลงไหม ก็ลดลงจากเดิมเหมือนกัน เนื่องจากในแต่ละมหาวิทยาลัยได้มีการลดสัดส่วนการรับสมัครลง พร้อมทั้งมีทางเลือกในการเรียนเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้คณะนิเทศฯ ที่มีคนสนใจเข้าเรียน ไม่ใช่เพราะคณะอยู่ในมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือใหญ่ แต่ต้องมีความเฉพาะเจาะจงมาขึ้นตามมาด้วย เพื่อให้คณะของเรามีความโดดเด่นไม่เหมือนกับที่อื่น (ต้องรู้ว่าคณะของเราเด่นหรือขายอะไร) เช่น คณะนิเทศฯ ในกรุงเทพ อาจจะมีความโดดเด่นในเรื่องฟิล์ม หรือเรื่องดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนในต่างจังหวัด (ภาคอีสาน) อาจจะมีความโดดเด่นในเรื่องวัฒนธรรมของภาคอีสาน วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องอาเซียน ฯลฯ ถ้าเราอยากจะเรียนรู้เรื่องฟิล์ม ก็ต้องมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ แต่ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมก็ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน

การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน

ซึ่งการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ไม่ใช่ปรับแค่เอาเรื่องดิจิทัลมาใส่ในการสอนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำความรู้เฉพาะด้านในแต่ละสาขาเข้าไปด้วย ทั้งนี้อาจารย์ก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกันเพื่อให้ทันกับยุคดิจิทัล เหมือนกับการทำหลักสูตรในตอนนี้ ที่เราจะต้องไม่คิดว่าทำเพื่อให้เด็กจบวันนี้ ทำงานวันนี้ แต่เด็กเรียน 4 ปี ต้องคิดว่าใน 4 ปีข้างหน้าที่เด็กจบออกมาแล้วสามารถทำงานได้ไหม ตามทันเทคโนโลยีหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนช้า แต่ในยุคดิจิทัลนั้นเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สอนเด็กนิเทศฯ เหมือนเป็ด

อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า เราสอนเด็กนิเทศฯ เหมือนเป็ด คือเรียนรู้ทุกอย่าง ในปัจจุบันเราก็ยังคงสอนแบบนั้น แต่เราจะสอนให้เด็กเป็นเป็ด 4.0 หมายถึงว่าเราต้องมีความรู้รอบด้าน แต่ก็ต้องมีความรู้เฉพาะด้านด้วย ซึ่งตรงนี้เราจะต้องเพิ่มเข้าไป เช่น ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เราอาจจะสู้กับเด็กที่จบเศรษฐศาสตร์มาเลยไม่ได้ แต่เราก็ต้องมีเทคนิคในการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ มีวิธีการนำเสนอเรื่องด้านเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่าย ทำให้คนอ่านไม่รู้สึกเบื่อ ฯลฯ

ดิจิทัล จะเข้ามาอยู่ในทุกหลักสูตรมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น สาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องใช้เสียงเป็น อยู่หน้ากล้องได้ ตัดต่อเป็น ทำงานฟิล์มเป็น การสอนเด็กนิเทศฯ ต้องสอนให้เขาค้นหาตัวตนให้เจอว่าเขาอยากเป็นนักเล่าเรื่องแบบไหน เราไม่ได้สอนให้พวกเขาต้องเป็นนักเล่าเรื่องในแบบเดียวกัน ถ้าทำอย่างนั้นเท่ากับว่าเราไม่ได้สร้างหรือป้อนอะไรให้กับอุตสาหกรรมด้านสื่อเลย

ในขณะที่อุตสาหกรรมด้านสื่อต้องการอะไรใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ต้องการคนที่ทำอะไรใหม่ ๆ นิเทศศาสตร์ทุกที่ต้องคิดเหมือนกัน เช่น การเขียนข่าว ถ้าเราสอนเด็กว่าการเขียนข่าวเป็นแบบพีระมิดหัวกลับ แต่ในการเขียนข่าวออนไลน์ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวกลับอย่างเดียว สามารถเขียนออกมาได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่เทคนิคของแต่ละบุคคลเลย เป็นต้น เราต้องหาเทคนิคการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง ที่น่าสนใจ และมีความกล้าที่จะสื่อสารออกมา

เรียนนิเทศฯ มีโอกาสตกงานหรือไม่?

อาจารย์ไอซ์ กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะในทุก ๆ คณะมีการแข่งขันสูง สำหรับคณะนิเทศฯ เองก็มีนักศึกษาเรียนเยอะ ก็เป็นไปได้ที่จะมีเด็กนิเทศฯ ตกงาน แต่ทั้งนี้การตกงานก็มีหลายแบบด้วยกัน เช่น เรียนจบแต่ทำงานไม่ตรงสาขาที่จบ  เรียนจบแต่ทำงานไม่ตรงสาขาที่จบ, เด็กนิเทศฯ จบแล้วแต่ไปทำงานสายอื่น แต่เขาก็ยังนำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ในการทำงานได้นั้นหมายความ องค์ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ไม่ได้หายไปไหน ไม่มีวันตาย มันจะตายได้อย่างไรในเมื่อคนเรายังจะต้องมีการสื่อสารกันอยู่ ฯลฯ

เมื่อเทรนด์โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไป การเรียนนิเทศฯ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่นั้น อาจารย์ไอซ์ ได้กล่าวต่อว่า ยังคงมีควาจำเป็นเพราะการสื่อสารบางอย่างยังจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ ดังนั้นคนที่ไม่ได้เรียนจบด้านนิเทศฯ ก็จะไม่รู้ เช่น เรื่องจรรยาบรรณ ฯลฯ 

สุดท้าย อาจารย์ไอซ์ ได้ฝากเอาไว้สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนนิเทศฯ ดีหรือไม่ และน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะนิเทศฯ แล้วว่า อย่างแรดเราต้องมีทักษะที่หลากหลาย ทำงานได้อย่างหลากหลาย มีความรู้รอบด้านเหมือนเป็ด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความถนัดหรือมีความสามารถเฉพาะด้านที่ไม่เหมือนกับคนอื่นด้วย แล้วนำมาทำคอนเทนต์ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนกับคนอื่น และนอกจากนี้เราจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันก็คือ ทำสื่อที่ทำให้สังคมดีขึ้น

โดย Campus-Star.com

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง