ศธ. เตรียมปรับครู 5 ปี ไม่ต้องสอบใบอนุญาตฯ เริ่มสอบหลักสูตร 4 ปี (ปีการศึกษา 2566)

เตรียมปรับหลักสูตรครู 5 ปี ไม่ต้องสอบขอรับอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยจะมาเริ่มสอบในหลักสูตร 4 ปีแทน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกีรยติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่…) พ.ศ. 2561

ศธ. เตรียมปรับครู 5 ปี ไม่ต้องสอบใบอนุญาตฯ เริ่มสอบหลักสูตร 4 ปี

โดยได้มีการปรับด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ และการปฏิบัติตนให้ชัดเจนและสอดคล้องกับ พ.ร.บ. สภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

1. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์ อาทิ ติดตามการเปลี่ยนบริบทโลก รู้เท่าทันสังคมและความสามารถนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เรียน บูรณาการความรู้ เนื้อหาวิชา หลักสูตร ศาสตร์การสอยในการจัดการเรียนรู้ ขณะที่ในด้านประสบการณ์วิชาชีพจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ฯลฯ

2. มาตรฐานการปฏิบัติงาน แบ่งออกเป็น ด้านการปฏิบัติหน้าที่ครู ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน

3. มาตรฐานการปฏิบัติตน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ

กรณีการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือ กรณีการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเดิมคณะกรรมคุรุสภาเคยมีมติให้นักศึกษาที่เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ หรือ คณะศึกษาศาสตร์ (หลักสูตร 5 ปี) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ โดยจะมีการสอบครั้งแรกในปีการศึกษา 2562

แต่ขณะนี้จะมีการปรับมาใช้หลักสูตร 4 ปี ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่า ควรจะเริ่มสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ กับผู้ที่เรียนหลักสูตร 4 ปี เป็นต้นไป เท่ากับว่า จะเริ่มสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ครั้งแรกในปีการศึกษา 2566 ส่วนผู้ที่เรียนในหลักสูตร 5 ปี ก็ให้รับใบอนุญาตฯ อัตโนมัติเช่นเดิม

ทางด้าน นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการสอบ เพราะเห็นว่า หลักสูตรผลิตครู 5 ปี มีกระบวนการจัดการสอน การประเมินผู้เรียนอย่างเข้มข้น สามารถนำข้อมูลมาพิจารณาเพื่อรับใบอนุญาตฯ ได้เช่นเดิม และเห็นว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านมาใช้หลักสูตร 4 ปี

จึงควรเริ่มสอบกับผู้ที่เรียนในหลักสูตร 4 ปีเลย ซึ่งหากจะดำเนินการเช่นนั้น ทางคุรุคสภาจะต้องไปประกาศหลักเกณฑ์ให้ผู้เรียนในหลักสูตร 5 ปี ใช้ผลการประเมินจากสถาบันผู้ผลิตขอรับใบอนุญาตฯ ได้ จากนั้นทางคุรุสภาจะมาจัดทำระบบการสอบเพื่อให้มีความพร้อมในขั้นตอนต่อไป

ด้าน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จำนวน 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ ได้ปรับมาใช้หลักสูตร 4 ปีทุกแห่งแล้ว (อยู่ระหว่างการปรับหลักสูตร)

ซึ่งได้มีการยกร่างปรับหลักสูตรมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) 1 ระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษา สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์

ทั้งนี้ได้เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในช่วงเดือนมกราคม 2562 เมื่อ กกอ. ได้เห็นชอบแล้ว จะเหลือเวลาให้มหาวิทยาลัยไปปรับหลักสูตรให้สอดคล้อง สามารถรับสมัครในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ตั้งแต่รอบ 2 เป็นต้นไป ทันแน่นอน

ที่มา : www.matichon.co.th

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง