ชิลกว่ามาก – 8 ข้อแตกต่าง พิธีรับปริญญา ญี่ปุ่น อเมริกา แตกต่างจากไทย

วันนี้เรามีพิธีรับปริญญาของต่างประเทศมาฝากทุกคนกัน เผื่อใครที่สงสัยว่ามหาวิทยาลัยของเมืองนอกนั้นมีรูปแบบการรับปริญญาอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากของไทยหรือไม่ มาลองดูกัน – ความแตกต่างของงานรับปริญญา ในไทย ญี่ปุ่น และอเมริกา

ความแตกต่างของงานรับปริญญา ในไทย ญี่ปุ่น และอเมริกา

ซึ่งประเทศที่เราคัดเลือกมาวันนี้จะมีทั้งหมด 2 ประเทศด้วยกันนั้นคือ ญี่ปุ่น และอเมริกา ว่าแต่ทั้ง 2 ประเทศนี้จะมีความเหมือนหรือแตกต่างกับไทยในเรื่องของการรับปริญญายังไงกันนะ

การแต่งตัว

ไทย : ต้องใส่ชุดครุยตามรูปแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะต้องแต่งตัวให้เนี้ยบตามกฎระเบียบที่วางเอาไว้ทั้งสีกระโปรง ความยาวกระโปรง รองเท้าที่ใส่

ญี่ปุ่น : จะแต่งตัวแบบใดก็ได้ ไม่มีรูปแบบกำหนดเอาไว้ตายตัว แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ชายจะใส่สูทโทนสีเข้มๆ เพราะที่ญี่ปุ่นสีดำ และสีโทนเข้มถือว่าเป็นสีที่สุภาพ และผู้หญิงจะแต่งตัวด้วยชุดฮากามะ (卒業袴 -sotsugyou hakama)

อเมริกา : แต่งตัวอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้ดูสุภาพ และจะใส่เสื้อคลุมสีดำทับเข้าไปอีกที่

รับเมื่อไหร่

ไทย : แล้วแต่กำหนดการของมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป หรืออาจะได้ได้รับในปีถัดไปหลังจากปีที่เรียนจบก็เป็นได้

ญี่ปุ่น : เดือนมีนาคมของทุกปี

อเมริกา : บางมหาวิทยาลัยสอบไฟนอลวันนี้ วันมะรืนก็รับเลย โดยผู้ที่อยากจะเข้ารับปริญญาต้องแจ้งกับอาจารย์ เพื่อที่อาจารย์จะเร่งตรวจข้อสอบให้ และถ้าสอบถ้าผ่านหมดไม่ติดอะไร ก็เตรียมรับปริญญาได้เลย

ต้องซ้อมรับไหม

ไทย : ถ้าใครที่อยากจะเข้าพิธีรับปริญญาบัตรจะต้องซ้อมรับปริญญาทุกคน ซึ่งการซ้อมมีตั้งแต่ 2 -3 รอบกว่าจะได้รับจริง

ญุี่ปุ่น : ไม่มีการซ้อม รับจริงเลย

อเมริกา : ไม่มีการซ้อม แต่จะมีการเปิด  PowerPoint และแนะนำนิดหน่อยว่าวันซ้อมจะต้องรับแบบไหน

จำเป็นต้องเข้ารับไหม

ไทย : จะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่ส่วนมากกว่า 90% ก็จะเข้ารับ

ญี่ปุ่น : เลือกได้ว่าจะเข้ารับหรือไม่ แต่คนส่วนมากก็เลือกที่จะเข้ารับ

อเมริกา : เลือกได้ว่าจะเข้ารับหรือไม่ แต่ส่วนมากก็ไม่ค่อยมากัน

บรรยากาศงานรับปริญญา

ไทย : บริเวณรอบๆ และภายในมหาวิทยาลัยจะมีร้านขายของ ขายตุ๊กตา ดอกไม้ ฯลฯ มีการจัดซุ้มถ่ายรูป และมีรุ่นน้องมาบูมให้รุ่นพี่บัณฑิต

ญี่ปุ่น : มีการจัดซุ้มขายของที่ระลึกจากสหกรณ์มหาวิทยาลัย ของนักศึกษารุ่นน้อง ตัวอย่างของที่ระลึกก็เช่น เสื้อ สมุดจด ฯลฯ และมีการบูมของรุ่นน้องในชมรมต่างๆ 

อเมริกา : บรรยากาศงานเรียบๆ ไม่ได้มีการขายของ ไม่ได้มีบรรยากาศที่ครึกครื้นเหมือนของไทย ถ้าจะมีร้านขายของก็จะเป็นร้านขายดอกไม้ช่อเล็กๆ ของที่ระลึก หน้าทางเข้าหอประชุมเท่านั้นเอง แถมราคาก็แพงกว่าราคาที่ขายทั่วไปตามท้องตลาดด้วย

ถ่ายรูปเยอะไหม

ไทย : ถ่ายตั้งแต่เช้ายันเย็น ถ่ายไม่รู้กี่รอบ มีทั้งถ่ายรูปนอกรอบ ถ่ายรูปวันซ้อมใหญ่ ถ่ายรูปวันรับจริง และบางคนก็จ้างช่างภาพมืออาชีพมาถ่ายรูปรับปริญญาโดยเฉพาะก็มี

ญี่ปุ่น : ถ่ายรูปกับมุมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ถ่ายทุกมุมขนาดของไทย และจะถ่ายรูปกันวันเดียวก็คือวันรับปริญญา เพราะชุดฮากามะที่เช่ามา เป็ุดเช่ารายวัน ส่วนจะถ่ายเยอะ หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ชุดฮากามะมีราคาเช่าที่ค่อนข้างสูงมาก ไหนจะค่าแต่งหน้าทำผมอีก บางคนก็อาจจะถ่ายรูปเยอะหน่อยให้คุ้มกับค่าชุดที่เสียไป แต่จะเป็นลักษณะของการถ่ายรูปกันเอง ให้เพื่อน พ่อ แม่ ช่วยกันถ่ายให้

อเมริกา : มีการถ่ายรูปก่อน และหลังเข้าหอประชุมบ้างพอเป็นพิธี ไม่ได้ถ่ายอะไรจริงจังมากมาย

พิธีการรับปริญญาบัตร

ไทย : มหาวิทยาลัยเอกชนรับกับอธิการบดี มหาวิทยาลัยที่อยู่ในการกับกำของภาครัฐรับกับพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นพิธีจริงจัง เคร่งครัด สำรวม เวลาที่ใช้ในการทำพิธีอาจจะกินเวลานาน 4-5 ชั่วโมง

ญี่ปุ่น : เข้าร่วมพิธีจบการศึกษาฟังโอวาทอธิการบดีประมาณ 1 ชั่วโมง – 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นถึงจะไปรับปริญญาบัตรจริงๆ จากอาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ประจำคณะที่ห้องแยกต่างหาก

อเมริกา : ในพิธีจะเชิญบุคคลสำคัญมาพูดเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จบ้าง หรือเด็กนักศึกษาที่โดดเด่น เชิญมา 4-5 คน จากนั้นก็จะเข้าสู่ส่วนของการรับปริญญาบัตรจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัย และก่อนลงจากเวทีจะมีอาจารย์จากคณะต่างๆ มายืนแสดงความยินดีกับเรา แถมช่วงที่รับปริญญา ญาติพี่น้อง ครอบครัวและเพื่อนๆ สามารถส่งเสียงแสดงความยินดีได้เต็มที่ แต่ปริญญาบัตรที่ได้บนเวทีไม่ใช่ตัวจริง ต้องนำลงไปแลกตัวจริงอีกที ซึ่งพิธีทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ชม. เท่านั้น

มีใครเข้าหอประชุมได้บ้าง

ไทย : จะมีแค่บัณฑิตที่เข้าหอประชุมได้

ญี่ปุ่น : ผู้ปกครองสามารถเข้าหอประชุมได้ โดยจะมีพื้นที่จัดแยกไว้ให้

อเมริกา : ผู้ปกครองสามารถเข้าหอประชุมได้ แต่จะเว้นที่แถวด้านหน้าไว้ให้บัณฑิตมานั่ง

ที่มา : gogoamerica.com , ilovejapanpantip.com

ภาพ : Kenneth Hynekjpninfo

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง