เรียกได้ว่าตอนนี้ ประเด็นทางด้านการเมืองกำลังได้รับความสนใจจากทุกคนทั่วทั้งประเทศเลยทีเดียว และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนไปรู้จักกับ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อดีตรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อีกหนึ่งบุคคลที่มีความสำคัญทางการเมือง
กรณ์ จาติกวณิช ดีกรีไม่ธรรมดา จบเกียรตินิยมอันดับ 2
ที่นอกจากเขาจะได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า “หล่อโย่ง” แล้วนั้น เขายังเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีโปรไฟล์ทางด้านการศึกษาที่ดีเยี่ยมเลยทีเดียว โดยเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
ประวัติส่วนตัว
กรณ์ จาติกวณิช เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ที่ Princess Beatrice Hospital ถนน Brompton ประเทศอังกฤษ โดยมีชื่อเล่นว่า “ดอน” เป็นบุตรคนกลางของ นายไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับ นางรัมภา จาติกวณิช (สกุลเดิม : พรหโมบล บุตรีของพระยาบุเรศผดุงกิจ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ)
ด้านครอบครัว กรณ์ จาติกวณิช สมรสกับวรกร จาติกวณิช (สกุลเดิม : สูตะบุตร) มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน ได้แก่ กานต์ จาติกวณิช (แจม) และไกรสิริ จาติกวณิช (จอม) นอกจากนี้เขายังมีลูกจากการสมรสครั้งก่อนอีก 2 คน คือ พงศกร มหาเปารยะ (แต๊งค์) และพันธมิตร มหาเปารยะ (ติ๊งค์)
ครอบครัวจาติกวณิช
ประวัติด้านการศึกษา
– พ.ศ. 2511 ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ
– พ.ศ. 2517 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
– พ.ศ. 2518 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 เขาเดินทางไปศึกษาต่อที่ วินเชสเตอร์ คอลเลจ (Winchester College) ประเทศอังกฤษ
– พ.ศ. 2528 สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) เกียรตินิยมอันดับ 2 ประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้ระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่ แ เขาได้ใช้เวลาในการเล่นกีฬาต่าง ๆ เกือบทุกชนิด และกีฬาที่เขาโปรดปรานเป็นพิเศษก็คือ กีฬาพายเรือ เพราะเป็นกีฬาเอกของมหาวิทยาลัย โดยเขาได้บอกว่า “เป็นกีฬาที่ฝึกความอดทน ความสามัคคี และความมีวินัย จนได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ จากกีฬาชนิดนี้”
ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ฯ
หลังจากจบการศึกษาเขาได้มีโอกาสร่วมทำงานกับบริษัทจัดการกองทุนแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปี จนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้จัดการกองทุน จนอายุได้ 23 ปี จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทย เพื่อก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด ในปี พ.ศ. 2531
โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท และนำพาบริษัทฯ ขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจหลักทรัพย์ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด 1 ใน 3 ของบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย พร้อมทั้งยังฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 มาได้สำเร็จอีกด้วย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 เขาได้ขายหุ้นบริษัทฯ ให้กับ บริษัท เจพีมอร์แกนเชส และได้รับการร้องขอให้ดำรงตำแหน่งประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) จำกัด โดยดูแลธุรกิจทางด้านธนาคารและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงธุรกิจหลักทรัพย์ที่ยังดำเนินอยู่ในขณะนั้น
คุณกรณ์ จาติกวณิช และ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เส้นทางด้านการเมือง
หลังจากที่ กรณ์ จาติกวณิช ประสบความสำเร็จ ทั้งด้ารการเรียนและการทำธุรกิจแล้วนั้น ในปี พ.ศ. 2547 เขาได้ตัดสินใจลาออกจากธุรกิจทิ้งเงินเดือน 6 ล้านบาท เพื่อมาทำงานด้านการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งจากการที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส. เขาก็ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 จากนั้นก็ได้มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานกรรมาธิการการเงินการคลังของสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้เขายังได้รับมอบหมายจากพรรคและจากสภาฯ ให้เข้ามาดูแลพัฒนาพื้นที่ในเขตยานนาวาและสาทร ซึ่งหลังจากได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 ในปี พ.ศ. 2550 ก็มีพื้นที่ ๆ ต้องดูแลเพิ่มเติมอีก 3 เขต ได้แก่ บางคอแหลม คลองเตย และวัฒนา
รัฐมนตรีคลังโลก
ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กรณ์ จาติกวณิช ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤติการเงินอย่างรุนแรงทั่วโลก แต่เขาก็สามารถนำพาเศรษฐกิจของไทยเดินหน้าฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก กลับมาฟื้นตัวได้เร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก
จนนิตยสาร เดอะ แบงค์เกอร์ ของอังกฤษ (ที่อยู่ในเครือของ ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ส) ได้ยกย่องให้ กรณ์ จาติกวณิช เป็น รัฐมนตรีคลังโลก ปี 2010 รวมไปถึงรัฐมนตรีคลังของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2010 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐมนตรีคนแรกของไทย และคนเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
– พ.ศ. 2553 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
– พ.ศ. 2554 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
รวมภาพ กรณ์ จาติกวณิช
ข้อมูลจาก : www.thansettakij.com, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพจาก IG : @korndemocrat, FB : Korn Chatikavanij