เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แถลงลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ผลการเลือกตั้ง 62 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้
เปิดประวัติ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวว่า ขอโทษผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน ที่ไม่สามารถผลักดันให้แนวคิดของพรรคประสบความสำเร็จได้ ขออภัยผู้สมัครและคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจมาสืบสานปนิธานของพรรค ที่ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าสภาได้ตามเป้าหมาย หลังพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิส 0 คะแนน ยอดรวม 35 ที่นั่ง จึงขอรับผิดชอบโดยการลาออกตามที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้
ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่สนามการเลือกตั้งท่ามกลางการเดิมพันครั้งสำคัญที่สุดของนักการเมืองผู้ที่อดีตเคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย เพราะเขาเคยประกาศไว้หลายครั้งแล้วว่าพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบหากทำให้พรรคถอย หรือกลายเป็นพรรคต่ำร้อย
และล่าสุด! เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวอีกด้วยว่า “ผมไม่สามารถโหวตสนับสนุบพรรคพลังประชารัฐเพื่อเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมติพรรคได้ ผมขอโทษจากเสียงพี่น้องประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญ สัจจังเวอมตาวาจา ที่จะต้องรักษาคำพูดและรับผิดชอบคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน
มหาตมา คานธี เคยส่งจดหมายให้กับหลานพูดถึงบาป 7 ประกาศในสังคม หนึ่งในนั้น คือ การเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ครับ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจ ลาออก จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมาย้อนเส้นทางการเมืองของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่จะประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กันค่ะ
ประวัติส่วนตัว
ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า มาร์ค เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ด้านครอบครัวคุณพ่อของเขาคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณแม่ก็คือ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ
เมื่อเขามีอายุได้ไม่ถึงหนึ่งปี ครอบครัวก็ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และเขาก็ได้เข้าเรียนระดับชั้นอนุบาลที่ โรงเรียนอนุบาลยุคลธร, ระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เขาก็ได้ย้ายกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และโรงเรียนมัธยมอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเอกชนระดับเตรียมอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (philosophy, politics and economics, PPE) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาวิชานี้ ต่อจากพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล)
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาก็กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก ระหว่างปี พ.ศ. 2530–2531 ได้รับการแต่งตั้งยศร้อยตรี ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทั้งนี้ปริญญานิพนธ์ของเขาได้รับการยอมรับในระดับดีมาก (โดยเทียบได้กับเกียรตินิยมอันดับ 1)
และเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ก็ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งนี้ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกด้วย และในปี พ.ศ. 2548 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 เขาได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากการใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และต้นปี พ.ศ. 2554 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
เส้นทางด้านการเมือง
สำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือหาเสียงให้กับ นายพิชัย รัตตกุล เขตคลองเตย ช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมายังเมืองไทย ต่อมาได้เข้ามาช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ในขณะนั้น)
ก่อนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปีเท่านั้น (ซึ่งนับได้ว่าเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น) และยังเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง ท่ามกลางกระแส “มหาจำลองฟีเวอร์” กับการเป็นนักการเมือง “หน้าใหม่” ที่เพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก
ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมปราศรัยและคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก สุจินดา คราประยูร ที่สนามหลวงและลานพระบรมรูปทรงม้า ในฐานะนักวิชาการและตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในครั้งนั้นประกาศไม่เข้าร่วมรัฐบาลของ สุจินดา คราประยูร
ผลงานทางการเมืองที่สำคัญ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลงานทางการเมืองที่สำคัญคือ การจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่ดำเนินการจัดทำจนสำเร็จในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อมอบสิทธิแก่เยาวชนไทยในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 43
โดยเขาได้เข้ามาดูแลทั้งด้านนโยบาย หลักการและรายละเอียด รวมทั้งผลักดันให้ผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา และได้ดูแลจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษาประกาศใช้
นอกจากนี้ เขายังมีผลงานผลักดันกฎหมายและแนวคิดต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสาร กฎหมายกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชน การผลักดันให้มีวิทยุชุมชนในท้องถิ่น การผลักดันให้มีองค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบ เช่น ปปช. ศาลปกครอง และ กกต.
การเสนอมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลการทุจริตของ หน่วยงานรัฐ หรือนักการเมือง การเสนอกฎหมายให้การฮั้วประมูลเป็นความผิดทางอาญา การเสนอกฎหมายองค์การมหาชน เพื่อให้การให้บริการของรัฐมีความสะดวกคล่องตัว และการผลักดันแนวคิดเรื่องการสรรหาผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐ ด้วยระบบสัญญาจ้าง เพื่อให้สามารถสรรหาผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณภาพ ทำงานอย่างอิสระ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
การเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2548 และอภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 แต่ก็ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน
เขาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเวลานาน มากกว่า 10 ปี ติดอันดับ 5 จาก อันดับ 7 ของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนานที่สุด และล่าสุด!! เขาก็ได้ประกาศออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 หลังจากผลการเลือกตั้ง 62 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้
ขอบคุณภาพจาก FB : Abhisit Vejjajiva
บทความที่น่าสนใจ
- กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ส.ส.ข้ามเพศคนแรกของไทย | ศิษย์เก่า ม.ขอนแก่น
- พรรคใจไว้ที่หมอ เอ้ก-คณวัฒน์ นายแพทย์หนุ่มหล่อไฟแรง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
- พรหม-พรพรหม อดีตผู้ช่วย ส.ส. สหรัฐฯ สู่การลงสมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์
- ไอเดียร์ สุชาดา อดีตนักแสดงสาวสวย สู่ผู้สมัคร ส.ส. เลือดใหม่ พรรคประชาธิปัตย์
- งานเยอะแค่ไหนก็มาใช้สิทธิ์ รวมสาว ๆ BNK48 ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 62